พงษ์สันติ์ วงษ์เสริมหิรัญ, ลานทิพย์ ทวาทศิน, บรรพต อมราภิบาล จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม วรเทพ อัศวเกษม ร่วมกันชวนเชิญให้บริจาคชุดชั้นในเก่า.

ฉลอง “วันบราเดย์” 12 กุมภาพันธ์ ผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในวาโก้ บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล เดินหน้าสร้างประโยชน์จากชุดชั้นในใช้แล้ว โดยร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สานต่อโครงการ “วาโก้ บราเดย์ บรามีค่า สร้างอาชีพ รักสิ่งแวดล้อม ปี 5” เปิดตัวโครงการฯ เพื่อรับบริจาคชุดชั้นในเก่า ที่โชว์รูม ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล พระราม 3

วรเทพ อัศวเกษม ผู้บริหารผลิตภัณฑ์วาโก้ ไอ.ซี.ซี. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งโครงการสร้างสรรค์ สังคมของวาโก้ ที่ร่วมมือกับ 2 องค์กร คือ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ในการส่งเสริมอาชีพให้ผู้หญิงที่อยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน ได้มีรายได้และกำลังใจ รวมทั้งจับมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการนำบราเสื่อมสภาพที่ไม่ใช้แล้ว เข้าสู่กระบวนการย่อยสลายอย่างมีคุณค่า เผาในระบบปิดร่วมกับการผลิตปูนซีเมนต์ ลดมลภาวะ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการเกิดก๊าซเรือนกระจก โครงการนี้จึงขอรับบริจาคบราเสื่อมสภาพ โดยบริจาคได้ที่เคาน์เตอร์วาโก้ทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 31 พ.ค. ทุกๆการบริจาค 1 ตัว จะได้รับบัตรแทนเงินสดจากวาโก้ มูลค่า 200 บาท เพื่อแทนคำขอบคุณ โดยปีนี้เราตั้งเป้ายอดบริจาค 50,000 ตัว เพื่อจะได้ยอดบริจาคสะสมทั้งหมด 150,000 ตัว

...

ลานทิพย์ ทวาทศิน นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวถึงความร่วมมือว่า วาโก้ได้มอบวัตถุดิบ, ผ้าลูกไม้ มาให้เราผลิต พร้อมกันนี้ทางสถาบันบุนกะแฟชั่น ยังมาสอนการออกแบบและการทำสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น รวมทั้งยังรับซื้อสินค้าของเราอีก ปีนี้เราสามารถนำส่งให้โครงการฯ 37,000 ชิ้น ซึ่งโครงการนี้ ทำให้ผู้หญิงที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ทั้งที่อยู่ในบ้านพักฉุกเฉินและรอบนอก ได้มีอาชีพมีรายได้ จึงอยากชวนเชิญให้ร่วมกันบริจาคและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ เพราะเพียงเท่านี้ก็สามารถมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ให้ ผู้มอบโอกาสที่ดี และสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้เช่นกัน และ พงษ์สันติ์ วงษ์เสริมหิรัญ ผู้บริหารฝ่ายศูนย์วิจัยพัฒนาและนวัตกรรม บริษัท ไทยวาโก้ (มหาชน) จำกัด กล่าวว่า ชุดชั้นในทำมาจากโพลิเมอร์ ไนลอนยางยืด 80-90% ถ้าใช้วิธีฝังกลบ ชุดชั้นใน 1 ตัว จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.2 กก.คาร์บอนไดออกไซด์ และใช้เวลาการย่อยสลายนาน ในกระบวนการของเราจะแยกย่อยเป็น 2 ส่วนคือ โลหะ, ตะขอ, ห่วงปรับ สามารถมารีไซเคิลได้ ส่วนสิ่งทอ เราจะส่งให้ทางบริษัทปูนเอาไปเผาในระบบปิดเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจำนวน 100,000 ตัวที่ผ่านมา สามารถทดแทนถ่านหินได้ 3.6 ตัน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหมือนได้ปลูกต้นไม้ 254 ต้น โครงการนี้จึงช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและลดขยะชุมชนได้อย่างยั่งยืน.