ช่วงนี้กระแสเรื่องดวงมาแรงมากๆ โดยเฉพาะมีข้อมูลจากหมอช้าง ทศพร ศรีตุลา หมอดูชื่อดังเมืองไทย ระบุว่า 'ดาวราหู' หรือ 'พระราหู' จะมีการโยกย้าย ในวันที่ 16 มกราคม 2559 นี้ และหลังจากนั้น 4 ราศี ได้แก่ ราศีมีน ราศีกันย์ ราศีสิงห์ และราศีกุมภ์ จะได้รับผลกระทบหลังจากนี้ทันที
สำหรับใครที่มีความกังวลเรื่องนี้ หมอช้างก็แนะนำให้ไปไหว้รับ-ส่ง 'พระราหู' โดยไปสักการะ 'พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู' (พระพุทธรูปปางปราบราหู) เพื่อให้ชีวิตผ่านเคราะห์ร้าย (อ่านเพิ่มได้ที่ ฮือฮา 4 ราศีมีหนาว! 16 ม.ค. ราหูย้ายใหญ่) และเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสให้ดวงดีตลอดระยะ 1 ปีครึ่ง ที่ดาวราหูจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งนี้ด้วย วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จึงมีวัดแนะนำสำหรับการไหว้พระราหูมาฝากกัน
ส่วนจะมีที่ไหนบ้าง ตามมาเช็กกันเลย
1. วัดท่าไม้
วัดท่าไม้ ตั้งอยู่ที่ถนนเศรษฐกิจ 1 ซอย 8 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ในวัดมีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2532 ภายในวัดมีพระอุโบสถสวยงาม ซึ่งด้านในมีพระพุทธรูปปางชินราช ขนาดหน้าตัก 69 นิ้ว ประดิษฐานอยู่รอบๆ วัด บรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ปลูกล้อมรอบ มีสระน้ำยาวประมาณ 40 เมตร
...
ส่วนใหญ่ผู้คนจะนิยมไปวัดแห่งนี้เพื่อทำบุญไหว้พระ และไฮไลต์สำคัญที่โด่งดังสุดๆ ก็คือ การไหว้สักการะพระราหู เพื่อขอพรให้โชคดี พ้นภัย และเป็นการสะเดาะเคราะห์ ช่วยให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ขับรถมาทางถนนเพชรเกษม ผ่านพุทธมณฑลสายต่างๆ จากนั้นจะมีทางแยก มีป้ายบอกทางไปวัดท่าไม้ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางหลวง 3091 ขับตรงไปเรื่อยๆ จะเห็นซอยเข้าวัดท่าไม้จะอยู่ขวามือ
2. วัดสามพระยา
วัดสามพระยา เดิมมีชื่อว่า วัดบางขุนพรหม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ มีอายุเก่าแก่ สร้างตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และสร้างกุศลผลบุญอุทิศให้แก่ ขุนพรหม จุดสำคัญภายในวัดที่ผู้คนให้ความสนใจ คือ การมากราบไหว้สักการะ พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหูยักษ์ เป็นพระประจำวันของคนที่เกิดวันอังคาร เป็นตัวแทนของการขจัดความมัวเมาลุ่มหลง เห็นผิดเป็นชอบที่เป็นลักษณะของราหู
การเดินทาง : วัดสามพระยา ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 8 แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ สามารถขึ้นรถเมล์สาย 23 ปรับอากาศ ไปลงป้ายเทเวศร์ จากนั้นเดินไปยังถนนสามเสน ข้ามคลองกรุงเกษม ตรงไปจนถึงแยกบางขุนพรหม (แบงก์ชาติ) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิสุทธิกษัตริย์ หรือจะนั่งแท็กซี่ก็ได้
3. วัดศรีษะทอง
วัดศีรษะทอง เดิมชื่อ วัดหัวทอง สร้างขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์ มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ และได้อพยพชาวเวียงจันทน์มาตั้งหลักแหล่งอยู่หลายที่ด้วยกัน เช่น ริมแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) ฝั่งตะวันตก มีเจ้าอาวาสคือ หลวงพ่อน้อย
หลวงพ่อน้อย ได้สร้างพระเครื่องและเครื่องรางของขลังไว้หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ พระราหูอมจันทร์ และ พระโคสุลาภหรือวัวธนู โดยเฉพาะ สำหรับพระราหูอมจันทร์ ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจเครื่องรางที่ได้รับการยอมรับมาช้านาน ผู้คนจึงศรัทธา และนิยมเดินทางมากราบไหว้กันมาก
การเดินทาง : วัดนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเพชรเกษม ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จากกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี ให้ขับรถไปถนนบรมราชชนนี (หมายเลข 338) ตรงไปจนผ่านแยกถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) จากนั้นตรงไปอีกสักพัก ผ่านพุทธมณฑลแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรเกษม จากนั้นตรงไปเรื่อยๆ จะมีป้ายบอกทาง และเลี้ยวขวาอีกครั้งเข้าวัดศรีษะทอง สามารถมาไหว้พระราหูได้ทุกวัน (ยกเว้นวันพระ)
...
4. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
วัดไตรมิตรวิทยาราม หรือ วัดสามจีน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของสถานีรถไฟหัวลำโพง บนถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ สำหรับที่นี่ก็เป็นวัดอีกแห่งที่ผู้คนให้ความสนใจ นิยมไปไหว้พระนารายณ์ทรงครุฑประทับยืนบนพระราหู ซึ่งตั้งอยู่ในบนวิหารหลังเก่าของวัดไตรมิตรวิทยาราม เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิต โดย วัดไตรมิตรฯ เปิดให้ไหว้บูชาพระราหูที่พระวิหารหลังเก่า ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. เปิดทำการทุกวัน
การเดินทาง : โดยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ไปยังสถานีหัวลำโพง จากนั้นสามารถเดิน หรือต่อรถแท็กซี่ไปยังวัดได้ง่ายๆ ใกล้นิดเดียว
...
5. วัดขุนจันทร์
วัดวรามาตยภัณฑสาราราม หรือ วัดขุนจันทร์ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2370 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวที่เกิดขบถเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2369 พระองค์ได้ส่งแม่ทัพยกทัพไปปราบ แล้วนำตัวเชลยเวียงจันทน์มามากมาย แล้วได้สร้างวัดขึ้นเป็นการสร้างกุศล ชื่อว่า วัดขุนจันทร์
จุดเด่นของวัด ก็คือ พิธีการสวดมนต์นพเคราะห์-ราหู มีประชาชนเดินทางมาร่วมงานกันอย่างหนาแน่น โดยสามารถเข้าร่วมพิธีสวดนพเคราะห์-พระราหู ณ บริเวณลานหลวงพ่อใหญ่วัดขุนจันทร์ ทางวัดมีเครื่องบูชาราหูให้ซื้อได้สะดวกสบาย หรือจะนำไปเองก็ได้เช่นกัน
การเดินทาง : วัดนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเทอดไท แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร สามารถขับรถเข้ามาทางเทอดไท 26 จะเจอแยกซ้ายมือ เลี้ยวเข้าวัดขุนจันทร์ได้เลย