ใครที่ชอบท่องเที่ยวชมธรรมชาติป่าเขา ตามอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็คงรู้กันดีว่า วันที่ 1 กันยายนของทุกปี เป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยที่สูญเสียบุคลากรคนสำคัญ สืบ นาคะเสถียร ผู้พิทักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างไม่มีวันกลับ

ไทยรัฐออนไลน์ ขอไว้อาลัยและรำลึกถึงการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร มา ณ โอกาสนี้ และจะขอพาไปทำความรู้จัก 10 ข้อ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมถึงชีวิตและการทำงานของหัวหน้าเขตฯ ผู้เสียสละคนนี้ ที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

พร้อมแล้ว...ตามมาชมกันเลย

1. VIRGIN FOREST

ผืนป่าของ 'เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง' เป็นป่าต้นน้ำมีลำน้ำแยกจากแควใหญ่ชื่อว่า 'ลำน้ำข้าง' พาดผ่านผืนป่าใหญ่ ขึ้นสู่ป่าแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และเนื่องจากป่าแห่งนี้เป็นป่ารกทึบ ยังไม่มีผู้บุกรุกทำลายป่า จึงเรียกกันว่าเป็นป่าบริสุทธิ์ (VIRGIN FOREST) คือป่าที่ยังไม่เคยมีการจัดการทางด้านป่าไม้มาก่อน

ในปี 2506 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีได้เสนอกรมป่าไม้ ขอให้ดำเนินการสงวนป่าผืนนี้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่า เป็นป่ารกทึบยังไม่มีผู้บุกรุกทำลาย และมีอาณาเขตกว้างขวางมาก (ราว 1,600  ตารางกิโลเมตร) จึงสมควรดำเนินการคุ้มครองไว้ก่อน

...

2. ป่าใหญ่อันดับ 2 ของไทย

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 210 ได้ประกาศให้ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอลานสัก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เนื้อที่ 1,019,375  ไร่ หรือ 1,631 ตารางกิโลเมตร เป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” (มีอาณาเขตติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร)

ต่อมาในปี 2529 ได้มีการผนวกพื้นที่เพิ่มเติมทางด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด 1,737,587 ไร่ (2,780.14 ตารางกิโลเมตร) นับว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย

3. ยอดเขาสูง 1,687 เมตร

ผืนป่าแห่งนี้ มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ 'ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง' อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดตาก  มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,687 เมตร

ทางซีกตะวันตกเป็นป่าทึบ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร เป็นเทือกเขากั้นตลอดแนวเหนือลงใต้ มีความยาวกว่า 100 กิโลเมตร เป็นต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ที่สำคัญที่สุดคือ 'ห้วยขาแข้ง' ซึ่งไหลผ่านกลางพื้นที่และมีน้ำตลอดปี มีความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร

จัดได้ว่ามีแหล่งน้ำเพื่อสัตว์ป่าอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดฤดูกาล เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำตลอดปี  ซึ่งมีหลายสายด้วยกันและแผ่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่

4. แหล่งอาหารของสัตว์ป่า

มีแหล่งโป่งต่างๆ มากมายในพื้นที่ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์กีบ โป่งสำคัญที่มีโอกาสพบสัตว์ลงมากินมาก ได้แก่ โป่งซับเก้าและโป่งนายสอ มีสัตว์กีบขนาดใหญ่ เช่น กระทิง วัวแดง กวางป่า อีเก้ง ช้างป่า และหมูป่าลงกิน และยังพบสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ และหมาใน ในฤดูแล้งมีนกนานาชนิดลงมากินน้ำและกรวดทราย

นอกจากนี้ ยังมีบ่อโคลนและปลักอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งที่อยู่ของควายป่า ส่วนแหล่งดินทรายริมลำน้ำ เป็นแหล่งคลุกฝุ่นที่สำคัญของสัตว์จำพวกนก โดยเฉพาะนกในวงศ์ไก่ฟ้าและไก่ป่า

5. ป่าไม้หลายประเภท

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประกอบด้วยภูมิประเทศที่หลากหลาย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  200 เมตร จนถึงยอดเขาที่มีความสูงมากกว่า 1,500 เมตร ทำให้พบสังคมพืชที่ปกคลุมแตกต่างกัน เช่น

...

- ป่าดงดิบเขา กระจายตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000-1,554 เมตร
- ป่าดงดิบชื้น พบในบริเวณลุ่มลำห้วยต่างๆ ที่มีความชื้นสูง ในระดับทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร
- ป่าดงดิบแล้ง พบกระจายในพื้นที่ใกล้เคียงกับป่าดงดิบชื้น บริเวณเทือกเขาทางทิศตะวันออก ทางเหนือ และทางทิศตะวันตก
- ป่าเบญจพรรณ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 450-900 เมตร
- ป่าเต็งรัง พบในพื้นที่แห้งแล้งและมีหินผสมอยู่มาก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-600 เมตร

6. สัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์

เนื่องจากป่าผืนนี้ตั้งอยู่ในเขตที่เป็นรอยต่อของภูมิภาคไซโน-หิมาลายัน อินโด-เบอร์มีส อินโด-จีน และซุนดาอิค เขตฯ ห้วยขาแข้งจึงถือเป็นแหล่งรวมพันธุ์สัตว์ในเขตร้อนของเอเชียไม่ต่ำกว่า 712 ชนิด จากการรายงานของศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ (2540) พบสัตว์ประเภทต่างๆ ดังนี้
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบกว่า 130 ชนิด เช่น ควายป่า เลียงผา สมเสร็จ เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน
- นก พบทั้งหมด 360 ชนิด ซึ่งมีมากกว่า 1 ใน 3 ของนกที่พบทั้งหมดในประเทศไทย
- สัตว์เลื้อยคลาน พบ 81 ชนิด ในจำนวนนี้มีทั้งสัตว์เลื้อยคลานที่หายากและใกล้สูญพันธุ์
- สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 37 ชนิด
- ปลา พบ 105 ชนิด มีชนิดที่หายากในแหล่งน้ำจืดได้แก่ ปลาสลาด ปลาเค้า เป็นต้น

...

7. แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม

มีพื้นที่จัดการเพื่อแหล่งศึกษาธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาธรรมชาติ สังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่า ศึกษาป่าไม้และพันธุ์พืชของเขตร้อน ชมน้ำตกและทิวทัศน์อื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยา นิเวศวิทยา แต่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สัตว์ป่าก่อนทุกครั้ง

พื้นที่ที่กำหนดให้ท่องเที่ยวได้ จะอยู่บริเวณตอนบนสุดของเขตฯ ห้วยขาแข้ง เช่น อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินแดง และศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาห้วยแม่ดี

...

8. รักษ์ป่าเท่าชีวิต สืบ นาคะเสถียร

ทุกครั้งที่ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้มีโอกาสพูดเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าในเวทีต่างๆ เขามักจะเริ่มต้นด้วยคำว่า "วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้"

สะท้อนให้เห็นถึงความุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน ความเห็นใจต่อสัตว์ป่า และการเสียสละของเขา เพราะไม่มีการเสียสละใด ยิ่งใหญ่ไปกว่าการเสียสละเพื่อผู้อื่น

9. จบวนศาสตร์ รุ่นที่ 35

สืบ นาคะเสถียร จบจากคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 35 และศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ ต่อมาได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทยา

หลังจากจบมา ก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ได้ทำวิจัยเรื่องกวางผา กับ ดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจอง และเคยเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน ก่อนจะรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในเวลาต่อมา

10. ห้วยขาแข้งสู่มรดกโลก

สืบ นาคะเสถียร พบปัญหามากมายในห้วยขาแข้ง เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า ที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย

สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก (UNESCO) เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่มรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

วันที่ 1 กันยายน 2533 สืบสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง


*ล้อมกรอบ*
ในวาระงานรำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร 1 กันยายน 2558 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย โดยได้นำเสนอเรื่องราวผ่านเนื้อหาต่างๆ ทั้งรายงานสรุปตัวเลขป่าไม้ประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 - 2557, จำนวนปริมาณการเพิ่มขึ้นและลดลงของป่าไม้, แผนที่แสดงสถานกาณณ์คดีบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นต้น

เนื้อหาทั้งหมด จะถูกผลิตออกมาในรูปแบบแผ่นพับขนาดใหญ่ สามารถขอรับได้ที่ จุดลงทะเบียนงานรำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร ระหว่างวันที่ 4 - 6 กันยายน พ.ศ. 2558 ณ จุดลงทะเบียน โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หน้าทางเข้าห้องอเนกประสงค์ (แผ่นพับผลิตจำนวนจำกัด)

นอกจากนี้ ในวันที่ 6 กันยายน 2558 ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะทำการบรรยายสรุป สถานการณ์ป่าไม้ไทย 2558 เวลา 15.00-16.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมงานฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย

ที่มาภาพ(บางส่วน)และข้อมูล : SeubNakhasathienFDseub youcanhelpseub.or.th