ศุภกรณ์ เวชชาชีวะ (กลาง) ผู้บริหารโพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย, ฐิตินันท์ วัธนเวคิน ผู้บริหารเกียรตินาคิน ร่วมต้อนรับ สุริยน-พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล และ มร.ฮาราลด์-แคโรไลน์ ลิงค์.

ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างเจ้าของธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆของเมืองไทย สำหรับครอบครัวลิงค์ เจ้าของอาณาจักรบีกริม กรุ๊ป และครอบครัวศรีอรทัยกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทบิวตี้ เจมส์ กรุ๊ป โดยเบื้องหลังการส่งไม้ต่อจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกอย่างมืออาชีพได้ถูกนำมาถ่ายทอดอย่างแหลมคมในงาน “Forbes Thailand Forum 2015 : The next tycoons” จัดโดยนิตยสารฟอร์บส์ ไทยแลนด์ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ดีๆและให้แง่คิดการทำธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน


นำขบวนโดยนักธุรกิจคู่พ่อลูกอย่าง มร.ฮาราลด์—แคโรไลน์ ลิงค์ ผู้บริหารกลุ่มบริษัท บีกริม ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนาน 137 ปี โดย “มร.ฮาราลด์” เปิดประเด็นว่า ตอนที่เข้ามารับช่วงงาน บริษัททำธุรกิจหลายอย่าง ต้องบอกว่ายังไม่พร้อม แต่พ่อและลุงไว้วางใจให้เข้ามาช่วยงาน จึงเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ทั้งการทำงานและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตนพยายามทำดีที่สุด โชคดีที่มีผู้บริหารที่ดีทำงานด้วย เลยทำงานได้ดี พอมาถึงรุ่นลูก เลยไม่ได้บังคับเขา อยากให้ลูกๆ ได้สัมผัสโลก ให้เขาเป็นพลเมืองโลกที่ดี ซึ่งลูกชายชอบด้านธรรมะ ไม่อยากทำงานบริษัท พอรู้ว่าลูกสาวจะมาช่วยก็ดีใจมาก ในการทำธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน การเป็นเจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่ต้องมีวิสัยทัศน์ และมีทีมบริหารที่ดี บีกริมโชคดีที่มีผู้บริหารที่ดี และอยู่กับเราทุกครั้งที่เจอวิกฤติหนัก ทุกคนร่วมมือเอาชนะปัญหา ความท้าทายของ family bussiness คือ ครอบครัว เราต้องมีความรัก ส่วนธุรกิจ เราดูกันที่ผลงาน จึงต้องนำทั้ง 2 อย่างมาประสานกัน ซึ่งการสื่อสารกันในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่สื่อสารก็ตายทันที หรืออย่างการทำพินัยกรรมโดยไม่บอกใคร อาจทำให้ลูกๆ ต่อว่ากันเอง ตนมองว่า มีอะไรในใจพูดกันให้หมด พินัยกรรมก็ตกลงกันไว้ก่อน ให้ทุกคนรู้ ตายก็ตายตาหลับ

...

ด้าน “แคโรไลน์ ลิงค์” กล่าวว่า ตนคลุกคลีกับงานที่บริษัทตั้งแต่เล็ก แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าต้องเข้ามาดูแล เพราะคุณพ่อไม่ได้กดดันและให้อิสระในการใช้ชีวิต จนเมื่อเรียนจบและทำงานสักพัก เลยรู้สึกว่า อยากกลับบ้าน โชคดีที่ธุรกิจมีหลากหลาย ตนชอบการทำงานทั้งด้านธุรกิจและสังคม เลยได้กลับมาดูว่า เราสามารถสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง ตอนนี้ก็รู้สึกดีได้มาทำงานร่วมกับคุณพ่อ ได้เรียนรู้จากผู้บริหารต่างๆ สนุกกว่าการทำงานคนเดียว เพราะการทำธุรกิจครอบครัวเป็นความรู้สึกที่มีความสุขที่ได้เห็นครอบครัว พนักงานและองค์กรเราเติบโตไปด้วยกัน

ส่วนคู่พ่อลูกวงการจิวเวลรี่เมืองไทย พรสิทธิ์—สุริยน ศรีอรทัยกุล ผู้บริหารกลุ่มบริษัทบิวตี้เจมส์ ที่ทำธุรกิจมานานกว่า 50 ปี ได้รับการบอกเล่าเคล็ดลับจาก “พรสิทธิ์” ว่า สืบทอดธุรกิจค้าเพชรและอัญมณีจากครอบครัวและได้มาร่วมกับพี่ชายก่อตั้ง บิวตี้ เจมส์ กรุ๊ป ตอนแรกตนไม่รู้หรอกว่าที่บ้านทำธุรกิจอะไร เพราะเป็นเด็กนักเรียนประจำ จนพี่ชายต้องมารับช่วงงานที่บ้าน เพราะคุณพ่อผมเสียเร็ว และพี่ชายบอกตน ให้ไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศแล้วรีบกลับมาช่วยเขา เรียกว่า พ่อทิ้งชื่อเสียงที่ดีเอาไว้ ให้เราได้สานงานต่อ พอเรียนจบมาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจงานอัญมณีเท่าไหร่ เรียนรู้อยู่นานจึงเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยอุปสรรค เมื่อถึงรุ่นลูก เลยพยายามปลูกฝังให้เขาได้เห็นว่า ธุรกิจอัญมณีของครอบครัวดำเนินอย่างไร แต่ก็จะปล่อยให้เขาเป็นอิสระที่จะคิด และให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำด้วย ขอเพียงให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่าเอาเปรียบใคร มีความรับผิดชอบ อยู่ในสังคมได้

ปิดท้ายที่ สุริยน ศรีอรทัยกุล แสดงทัศนะว่า ในส่วนตัวหลงรักอัญมณีมาตั้งแต่เด็กๆ การมาทำงานตรงนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ได้ฝันเอาไว้ แต่เส้นทางการทำงานของตนก็ไม่ได้โรยด้วยกุหลาบ ถึงแม้จะเป็นลูกเถ้าแก่ แต่ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะงานทุกอย่างต้องเรียนรู้เองไปเรื่อยๆ ตนใช้เวลาถึง 2 ปีเต็มกว่าจะพอทำได้ ทุกวันนี้ตนกับพี่ชายก็แบ่งหน้าที่กันดูแลตามความถนัด พี่ชายจะดูแลที่โรงงาน ตนดูแลเรื่องการตลาด ต้องบอกว่า เราผ่านวิกฤติกันมาเยอะมาก ในอนาคตเราก็อยากให้บิวตี้เจมส์เติบโตไปเรื่อย ซึ่งตนและพี่ชายก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด และคงส่งต่อให้ลูกหลาน ให้เขาสบายบ้าง ลำบากบ้าง เขาต้องเรียนรู้ไปกับงานทุกอย่าง.