มานิจ สุขสมจิตร ร่วม อ่านหนังสือเสียง.
“หนังสือเสียง” เป็นสื่อที่ใช้สื่อสารได้ดีที่สุดชนิดหนึ่งสำหรับผู้พิการทางสายตา เพราะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวจากตัวหนังสือที่เคยอยู่แต่บนหน้ากระดาษออกมาในรูปของ “เสียง” ได้อย่างมีอรรถรส ทำให้ผู้พิการทางสายตาได้ใช้จินตนาการส่วนตัวสร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ และซึมซับคุณค่าของบทประพันธ์อันทรงคุณค่าได้ไม่ต่างจากผู้มีสายตาปกติ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยจึงร่วมมือกับมูลนิธิราชสุดา จัดโครงการ “One by One : หนังสือเสียงเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ผลิตหนังสือเสียงถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยผลิตหนังสือเสียงคุณภาพสูงรูปแบบซีดีระบบเดซี่ จากหนังสือพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จำนวน 74 เล่ม และมีคนดังจากหลายวงการร่วมอาสาถ่ายทอดเสียงสู่ผู้พิการทางสายตา รวมมากกว่า 270 คน อาทิ เกรซ มหาดำรงค์กุล, ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์, สุนทร สุจริตฉันท์, ภูวนาท คุนผลิน, อภิวัฒน์ พงษ์วาท (หนึ่ง อีทีซี), ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์, ปิยณี เทียมอัมพร และครูเคท-ดร.เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย เป็นต้น
...
มานิจ สุขสมจิตร กรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐ ซึ่งร่วมอ่านพระราชนิพนธ์เรื่อง “ฝากฝันกลอนกานท์” และ “แดร๊กคูล่าผู้น่ารัก” บอกว่า จากการที่ได้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ สะท้อนให้เห็นพระปรีชาสามารถในการรจนาบทกวี ซึ่งสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ ทรงฝากความคิดความเห็นและจินตนาการออกมาเป็นบทร้อยกรองที่ไพเราะ งดงาม ก่อให้เกิดอารมณ์อันสุนทรีย์และมีมโนภาพ ส่วน ประภัสสร และ ชุติมา เสวิกุล ซึ่งอ่านพระราชนิพนธ์เรื่อง “ใต้เมฆที่เมฆใต้” และ “ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์” กล่าวว่า อยากให้โครง การหนังสือเสียงปีนี้แพร่หลายไปมากๆ เพื่อที่คนจะได้ฟังเยอะๆ เป็นการถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตน์ และคนจะได้รับความรู้และความบันเทิงจากสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงพบเห็นและทรงประสบมา
พร้อมกันนี้เหล่าคนดังใจกุศลยังร่วมกันเชิญชวนให้ผู้สนใจหันมาฝึกและพัฒนาทักษะการอ่าน เพื่อร่วมเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงกับโครงการ One by One : หนังสือเสียง ในปีถัดๆไปด้วย.