จูเลีย แมนซานาเรส และ เดเร็ก เคนต์ 2 นักแปลชาวต่างชาติ ผู้เขียนหนังสือ “แค่ 13” มาร่วมยินดีที่หนังสือได้แปลเป็นภาษาไทย.

สะท้อนเรื่องราวชีวิตจริงสุดสะเทือนใจให้โลกได้เห็นถึงการตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณีของเด็กสาวไทย ผ่านตัวหนังสือ โดย 2 นักแปลภาษาชาวต่างชาติ ซึ่งพำนักในประเทศ ไทย จูเลีย แมนซานาเรส และ เดเร็ก เคนต์ ที่ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ “ONLY 13” และหนังสือเล่มนี้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทย ในชื่อหนังสือว่า “แค่ 13” โดยตีแผ่ชีวิตจริงของ “ลอน” หญิงไทยที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว จนต้องตัดสินใจเข้าสู่อาชีพค้าประเวณีด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผ่านชีวิต sex-tourism ระบำเปลื้องผ้า, เซ็กซ์วิตถาร, การทำแท้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนอายุ 18 ปี นับเป็นหนังสือที่ขายดีในหลายประเทศและถูกแปลไปแล้วกว่า 8 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย โดย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด พร้อมกับได้เปิดตัวหนังสือดังกล่าว โดยร่วมกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสตรีทาลิธาคุม ไทยแลนด์ และมูลนิธิผู้หญิง โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นประธาน ที่อาคารนานมีบุ๊คส์เฮาส์ เมื่อวันก่อน

เดเร็ก เคนต์ หนึ่งในผู้เขียนและเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ “ลอน” เล่าว่า ชีวิตของ “ลอน” ดิ่งลงเหวด้วยวัยเพียง 13 ปี ตนได้รับรู้เรื่องราว ที่น่าสนใจของ “ลอน” และได้ขอนำมาทำเป็นหนังสือ ซึ่งเธอยินดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่หญิงสาวทั่วไป รวมทั้งเธออยากให้โลกได้รับรู้ว่า มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง ซึ่งบางคนเลือกที่จะไม่รับรู้ หนังสือเล่มนี้เขียนครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ และได้ถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, สวีเดน, รัสเซีย เป็นต้น ด้าน สุนันทา เคนต์ ภรรยาเดเร็ก เล่าว่า ปัจจุบัน “ลอน” มีอายุ 34 ปี ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ หรืออารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศอังกฤษ “ลอน” เคยถามตนว่า เธอเลวมากไหม เป็นผู้หญิงไม่ดีใช่ไหม ซึ่งตนได้บอกเธอไปว่า เธอเป็นคนกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ ดูแลพี่น้อง มีจิตใจที่เข้มแข็ง ต้องสู้ชีวิตตั้งแต่อายุ 13 ปี เจออะไรมาเยอะแยะตั้งแต่เด็ก เก่งมากที่สามารถรอดชีวิตมาได้

...

ส่วน จูเลีย แมนซานาเรส เล่าว่า ชีวิตของ “ลอน” สะเทือนใจตนมาก จึงอยากรู้ว่า อะไรเป็นต้นเหตุให้เด็กสาวอายุน้อยต้องมาค้าประเวณี ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ จึงเดินทางมาเมืองไทยที่จังหวัดหนองคาย ทำการศึกษาค้นคว้าอยู่ 6 เดือน ก่อนทำหนังสือ และพบว่า ความยากแค้น ความจน และค่านิยมที่ลูกผู้หญิงถูกปลูกฝังว่าต้องดูแลครอบครัว พ่อแม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนชาติตะวันตกไม่รู้ สุดท้าย ศิริพร สะโครบาเน็ต ประธานมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า ในการป้องกันปัญหาค้าประเวณีนี้ต้องมาช่วยกันคิด ครอบครัวเองก็ต้องมีความรักเข้าใจกัน รวมทั้งโรงเรียน และภาครัฐ ถึงชีวิตของเด็กๆในสังคมเรา ถึงแผนที่ลงลึกในส่วนของครอบครัวก็ต้องมีการศึกษาว่า ทำไมลูกสาวต้องแบกรับภาระและเรียกร้องขนาดนี้ บางครอบครัวควรเรียนรู้ถึงการมีชีวิตที่พอเพียงเป็นอย่างไร ทำไมเราคิดถึงเรื่องเงินเป็นใหญ่ และขอให้มีบ้านหลังใหญ่ เราควรกลับมาคิดทบทวนกัน.