พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ผ้าไทยจากภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง สำหรับประจำเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นปฏิบัติการ “ภูมิปัญญาผ้าหม้อห้อม” โดยเชิญ วุฒิไกร ผาทอง ผู้เชี่ยวชาญการทำผ้าหม้อห้อม จากร้านแก้ววรรณา จังหวัดแพร่ มาให้ความรู้และสาธิตวิธีการทำผ้าหม้อห้อมแบบธรรมชาติ ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาร่วมเรียนรู้วิธีการทำอย่างคับคั่ง ที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ


ผู้เชี่ยวชาญการทำผ้าหม้อห้อม ให้ความรู้ว่า หม้อห้อม เป็นภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ ห้อม หรือบางครั้งเขียนเป็น ฮ่อม เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งในตระกูลเดียวกันกับคราม ชาวบ้านจะนำเอาลำต้นและใบมาหมักในน้ำตามกรรมวิธี จนได้น้ำสีกรมท่า หรือสีน้ำเงินเข้ม และเอาสีที่ได้มาย้อมผ้าขาวให้เป็นสีครามหรือกรมท่า ในโลกนี้มีพืชพรรณที่ให้สีหม้อห้อมประมาณ 30 ชนิด และมนุษย์เราใช้กรรมวิธีนี้ย้อมผ้ามานาน ส่วน ที่เผยแพร่เข้ามาที่จังหวัดแพร่ จนสร้างชื่อเสียงให้จังหวัด น่าจะเริ่มจากเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชนชาติลื้อ ลาว ได้อพยพเข้ามาอยู่ในหลายหมู่บ้านของจังหวัดแพร่ ทั้งทุ่งโฮ้ง พระหลวง และเวียงทอง จึงได้นำกรรมวิธีการย้อมสีแบบดั้งเดิมด้วยต้นหอมและครามมาด้วย ระยะหลังการย้อมสีหม้อห้อมแบบธรรมชาติได้หายไปจากเมืองแพร่ มีการใช้สีหม้อห้อมแบบสีกระป๋องสังเคราะห์แทน จึงเกิดการรวมตัวกันของชาวแพร่ ที่จะฟื้นฟูการย้อมสีหม้อห้อมแบบธรรมชาติดั้งเดิมขึ้นมา ซึ่งจะไม่มีการปล่อยน้ำเสียส่วนเกิน ไม่มีฝุ่น ไม่มีสารเคมี อีกทั้งยังได้ในเรื่องการอนุรักษ์ป่า เพราะต้นห้อมเป็นพืชที่ชอบอยู่กับป่าชุ่มชื้น จึงได้ทั้งรักษามรดกทางวัฒนธรรมและอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย

...


สำหรับการทำสีหม้อห้อมแบบธรรมชาติ วุฒิไกร อธิบายว่า นอกจากจะเอาลำต้นและใบของห้อมมาหมักแล้ว ยังต้องเพิ่มน้ำตาลเพื่อสร้างเอนไซม์ และเพิ่มความเป็นกรดด่าง ด้วยการใส่ผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเข้าไปด้วย อาทิ สับปะรด, มะเฟือง ที่ให้ความเป็นกรดด่าง อ้อย, กล้วย ให้น้ำตาล เป็นต้น จากนั้นก็จะหมัก 7-15 วัน การหมักมีเคล็ดลับอยู่ที่เราต้องอยู่กับเขาทุกวัน คือ ต้องมีการกวนหม้อให้ออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับครามกับด่างนั่นเอง และเมื่อลองมาย้อมแล้วซักด้วยน้ำด่าง ซึ่งผ้าหม้อห้อมที่ดี สีจะไม่ตก.