ในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อิมพิเรียล สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงถือเป็นสตรีสามัญชนคนแรกที่อภิเษกสมรสกับพระบรมวงศานุวงศ์ญี่ปุ่น ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.1959 โดยขณะนั้น องค์จักรพรรดิของญี่ปุ่นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร และเมื่อเจ้าฟ้าชายอากิฮิโตะ เข้าพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.1990 “เจ้าหญิงมิชิโกะ” จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ”
สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.1934 ณ กรุงโตเกียว มีพระนามเดิมว่า “มิชิโกะ โชดะ” เป็นธิดาของ “ฮิเดะซะบุโร และฟุมิโกะ โชดะ” (สกุลเดิมคือ โซะเอะจิมะ) บิดาเป็นประธานบริษัทนิชชิน ทรงเติบโตมาในครอบครัวมั่งคั่งร่ำรวย ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก
หลังอภิเษกสมรสได้เพียงปีเดียว “เจ้าหญิงมิชิโกะ” ก็ทรงสร้างความเบิกบานใจและนำพาความสุขความสมหวังมาสู่ประชาชนชาวญี่ปุ่น ด้วยการให้กำเนิดพระราชโอรสองค์แรกคือ “เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ” มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น จากนั้นอีก 5 ปี “เจ้าฟ้าชายอากิชิโน” จึงลืมตาดูโลก และตามมาด้วย “เจ้าหญิงโนริ” พระราชธิดาองค์เล็ก ซึ่งสละฐานันดรศักดิ์ เมื่อปี 2005 หลังแต่งงานกับชายสามัญชน ตามกฎมณเฑียรบาลของราชวงศ์เบญจมาศ ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “ซายาโกะ คูโรดะ”
...
แม้สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ จะทรงเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจที่มีฐานะมั่งคั่ง และทรงมีการศึกษาสูง ร่ำเรียนจบปริญญาตรี ด้านวรรณคดีอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยคาทอลิกชื่อดังในกรุงโตเกียว “ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เดอะ เซเคร็ด ฮาร์ท” และศึกษาต่อคอร์สสั้นๆที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด กับออกซ์ฟอร์ด แต่ด้วยความที่เป็นหญิงสามัญชนไม่มีเชื้อสายเจ้า ในช่วงแรกๆ จึงมีกระแสต่อต้านจากข้าราชสำนักหัวเก่าที่ทรงอิทธิพลในวังหลวง และมีข่าวลืออย่างกว้างขวางว่า พระราชมารดาของเจ้าฟ้าชายอากิฮิโตะ คือ สมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง ไม่โปรดพระสุณิสาองค์นี้แม้แต่น้อย และทรงเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านการหมั้นหมายของพระราชโอรสมาตลอด เพราะคาดหวังอยากได้พระสุณิสาที่มาจากเชื้อพระวงศ์ด้วยกัน เหมือนที่พระองค์ทรงมีพื้นฐานเป็นเจ้าหญิงแห่งคุนิ สร้างแรงกดดันมหาศาลให้ “มิชิโกะ” ต่อเนื่องหลายสิบปี กระทั่งสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุงเสด็จสวรรคต ในปี 2000 ทุกอย่างจึงเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี
อย่างไรก็ดี ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป คู่หมั้นหมายใหม่ของราชวงศ์เบญจมาศ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างท่วมท้น ในฐานะผู้สร้างตำนานรักโรแมนติกดุจเทพนิยาย โดยทั้งคู่พบรักกันในคอร์ตเทนนิส เมื่อกลางปี 1957 และหมั้นหมายอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 1958 ยุคนั้น “มิชิโกะ” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปรับปรุงภาพลักษณ์ราชวงศ์ญี่ปุ่นให้ทันสมัยขึ้น และมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จนมีการขนานนามให้เป็นยุคของ “มิชิโกะ บูม” ยุคนี้ยังเป็นยุคแรกที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระราชวงศ์ญี่ปุ่นสู่สายตาประชาชนทั้งประเทศ ขณะที่ประชาชนหลายแสนคนมายืนโบกธงรอแสดงความยินดีแน่นขนัดทั้ง 2 ฟากถนนของกรุงโตเกียว ยาวเหยียดเป็นระยะทางมากกว่า 8.8 กิโลเมตร
ตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์ญี่ปุ่นแล้ว พระราชวงศ์ฝ่ายหญิงจะต้องทรงเก็บเนื้อเก็บตัวสงบเสงี่ยมต่อหน้าสาธารณชน กระนั้น สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะได้ทรงแสดงบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ ในฐานะผู้ทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจจากพระราชสวามี จนเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั้งประเทศ ทรงตามเสด็จฯสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเสด็จฯออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่อยู่เสมอ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ละทิ้งงานอดิเรกที่โปรดปราน ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเด็ก และบทกลอนต่างๆไว้มากมายหลายเล่ม ยามว่างก็มักทรงดนตรีร่วมกับสมาชิกในครอบครัว โดยพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเปียโนระดับมืออาชีพ ขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะโปรดการทรงเชลโล และมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะทรงชื่นชอบไวโอลิน
...
ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ทรงเคียงข้างสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงอุทิศพระองค์อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ในขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงเน้นพระราชภารกิจด้านการเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งประเทศ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะก็ทรงใช้พรสวรรค์ด้านการสื่อสาร ถ่ายทอดความตั้งพระทัยอันมุ่งมั่นขององค์จักรพรรดิให้ประชาชนได้ตระหนักรู้และเข้าใจ ขณะเดียวกัน ก็ทรงทำหน้าที่ไม่ต่างจากมารดาที่คอยปลอบประโลมแผ่นดินให้ร่มเย็น ทุกครั้งที่ญี่ปุ่นประสบกับโศกนาฏกรรม และวิบัติภัยทางธรรมชาติ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะจะเสด็จฯไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจผู้ประสบภัยด้วยพระองค์เองเสมอ
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2014 สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นเข้าเฝ้าฯ พร้อมพระราชทานสัมภาษณ์อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก ล้วนแต่สะท้อนถึงความเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์อิมพิเรียลยุคใหม่
หากมองย้อนกลับไปในช่วงเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ความทรงจำใดที่ยังคงฝังแน่นตราตรึงอยู่ในจิตใจ...“ความทรงจำแรกในวัยเด็กของข้าพเจ้าเริ่มต้นขึ้นตอนวัย 10 ขวบ ในช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามโลก ข้าพเจ้ามักจะชอบวิ่งเล่นในที่โล่งแจ้งกลางแดด และทุกปิดเทอมซัมเมอร์ จะตามลูกพี่ลูกน้องไปเที่ยวทะเล ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายเลยกับการนั่งดูพี่ๆวิ่งไล่จับแมลงตามต้นไม้ ความทรงจำในวัยเด็กของข้าพเจ้ามักจะผูกพันกับธรรมชาติซะเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังสงครามโลก แม้ข้าพเจ้าจะเป็นเพียงเด็กประถม แต่ก็สัมผัสได้ถึงห้วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก ข้าพเจ้าต้องย้ายโรงเรียนถึง 5 ครั้ง ภายในเวลาเกือบ 3 ปี และทุกครั้งที่เข้าโรงเรียนใหม่ จะรู้สึกอึดอัดกับการปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนใหม่ ความรู้สึกนี้ทำให้ข้าพเจ้าขาดความมั่นใจอยู่หลายปี รู้สึกว่าตัวเองไม่มีทักษะความรู้พื้นฐานที่ดีพอ กระทั่งข้าพเจ้าได้แต่งงานเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของราชวงศ์อิมพิเรียล ข้าพเจ้าใช้ชีวิตอยู่ภายใต้คำชี้แนะอย่างใกล้ชิดของสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน...”
...
“...เมื่อเป็นพ่อแม่คน เรามักจะคิดเสมอว่าลูกๆจะอยู่กับเราตลอดไป แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกๆทั้ง 3ของข้าพเจ้าต่างก็แยกย้ายออกไปสร้างครอบครัวใหม่เป็นของตนเอง ลูกๆแต่ละคนมีนิสัยใจคอแตกต่างกันไป แต่ข้าพเจ้าก็รักลูกทุกคนเสมอกัน และพยายามเลี้ยงดูพวกเขาด้วยความรักความทะนุถนอมอย่างดีที่สุด ในช่วงเวลาหลายปี ที่ข้าพเจ้าต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านดูแลครอบครัว ข้าพเจ้าได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือจากข้าราชบริพารจำนวนมาก ข้าพเจ้ายังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากประชาชน เหตุการณ์ที่ประทับใจจนถึงทุกวันนี้คือ เช้าวันหนึ่ง หลังการผ่าตัดของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินอยู่ในเมืองฮายามา มีชายคนหนึ่งหยุดรถริมถนน แล้ววิ่งข้ามถนน เดินตรงเข้ามาหาข้าพเจ้า พร้อมกับพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า พวกเราดีใจมากที่ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี จากนั้นเขาก็วิ่งข้ามถนนกลับไปที่รถ คำพูดสั้นๆของเขาสร้างกำลังใจได้อย่างมหาศาล และทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขล้นอย่างไม่น่าเชื่อ ที่มีคนห่วงใยองค์จักรพรรดิ ตลอดเวลากว่า 50 ปี ที่ข้าพเจ้ายืนหยัดเคียงข้างองค์จักรพรรดิ ข้าพเจ้าสัมผัสได้เสมอถึงน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทรงให้การสนับสนุนและชี้แนะข้าพเจ้าทุกอย่าง ทำให้ข้าพเจ้าสามารถยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้...”
...
เป็นที่ทราบดีว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะโปรดดนตรี, กวี และศิลปวัฒนธรรมหลากหลายแขนง ศิลปะและวัฒนธรรมมีความหมายต่อชีวิตของพระองค์อย่างไร...“ข้าพเจ้าไม่เคยครุ่นคิดว่า ศิลปะ, ดนตรี, ภาพเขียนและบทกวี จะมีความหมายอย่างไรต่อชีวิต แต่ข้าพเจ้ารู้เพียงว่า สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความสุขและความสุนทรีย์ให้แก่ข้าพเจ้า อีกทั้งมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของข้าพเจ้าในการมองโลก ข้าพเจ้าเติบโตมาในครอบครัวที่รักศิลปะทำให้ได้ซึมซับความรักศิลปะทีละเล็กละน้อย กระนั้น ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้เปิดโลกกว้าง เดินทางไปเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เช่น อาสุกะ และนารา ก็เมื่อหลังแต่งงานแล้ว ซึ่งเป็นความปรารถนาช้านานของข้าพเจ้า ยิ่งเมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางตามเสด็จฯองค์จักรพรรดิไปเยือนประเทศต่างๆทั่วโลก ข้าพเจ้ายิ่งรู้สึกทึ่งกับความหลากหลายของวัฒนธรรมอันโดดเด่นมีเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งล้วนสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากมายแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเหตุการณ์ตอนไปเยือนประเทศแทนซาเนีย รู้สึกประทับใจมากกับคำพูดของประธานาธิบดีคนแรกของแทนซาเนีย “จูเลียส นเยเรเร” ที่ว่า พวกเรายังคงยากจน แต่ก็หวังว่าพวกเราจะร่ำรวยขึ้นไปพร้อมกันทั้งประเทศ แทนที่จะทนอยู่กับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม...”
ทีมข่าวหน้าสตรี