เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการเรื่อง “ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์” โดย พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ประธานพระครูพราหมณ์และหัวหน้าพราหมณ์ สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง กล่าวถึงคติความเชื่อและประเพณีเกี่ยวกับเด็กเกิดใหม่ของไทยว่า มีมากมายหลากหลายธรรมเนียม ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค ความเชื่อ ศาสนา ตลอดจนสภาพสังคมนั้นๆ ตามประเพณีราชสำนัก เมื่อพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ หรือบุตรธิดาของขุนนางผู้ใหญ่เรื่อยมาจนถึงบุตรธิดาของคนธรรมดาสามัญทั่วไปสมัยก่อน มักนิยมไว้ผมจุกเป็นส่วนมาก ดังปรากฏในหนังสือเรื่อง ‘ประเพณี เนื่องในการเกิด’ ของพระยาอนุมานราชธน ระบุว่า คติเกี่ยวกับการไว้จุกนั้นเริ่มหลังจากที่มีพิธีโกนผมไฟ โดยจะเว้นผมไว้ตรงส่วนกระหม่อม เพราะถือเป็นส่วนที่บอบบางที่สุดบนศีรษะ และเชื่อกันว่า ประเทศไทยนั้นน่าจะได้รับคติการไว้ผมจุกนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับคติการบูชาเทพเจ้า ด้วยมีความเชื่อว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้า

...


สมัยโบราณจะนิยมให้บุตรธิดาไว้ผมจุกจนโตอายุประมาณ 11-13 ปี ก็จะทำพิธีโกนจุก เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงออกกับทั้งตัวเด็กและคนรอบข้างว่า บัดนี้ตนหาใช่เด็กเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว หากแต่กำลังก้าวข้ามสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ พิธีโกนจุกนี้หากเป็นของพระบรม วงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปจะเรียกว่า “พระราชพิธีโสกันต์” ส่วนพระอนุวงศ์ระดับหม่อมเจ้า เรียกว่า “พิธีเกศากันต์” โหรหลวงจะดูฤกษ์ยามเพื่อกำหนดวันเวลาที่จะเริ่มพระราชพิธีโสกันต์ ส่วนใหญ่มักจะประกอบ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในสมัยกรุง–รัตนโกสินทร์ตอนต้นมักจะประกอบพิธีนี้ ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย พระราชพิธีเดือน 4) ซึ่งต่อมาจะประกอบร่วมกับพระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า) ส่วนเครื่องพิธีที่ใช้ในพิธีโกนจุกที่โบสถ์พราหมณ์ ประกอบด้วย บัณเฑาะว์ เป็นกลองสองหน้าที่ใช้เป็นเครื่องให้จังหวะ เพื่อขับไล่ความอัปมงคลทั้งหลายให้ออกจากสถานที่ที่ประกอบพิธีนั้น นอกจากนี้ยังมี สังข์ สำหรับรดน้ำประสาทพร ถาด 3 ขา สำหรับเป็นที่รองสังข์ กรรไกรและมีดสำหรับโกนผม ทำจาก เงิน ทอง นาก และแว่นเวียนเทียน


โอกาสนี้ อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ประธานกลุ่มจันทร์โสมา จ.สุรินทร์ ได้มาเล่าถึงการสืบสานประเพณีโกนจุกว่า นอกจากเป็นเรื่องคติความเชื่อแล้ว ยังเป็นการผสานเรื่องของสรีรศาสตร์ไปในตัว ทั้งนี้เด็กแรกเกิดจะมีชิ้นส่วนกะโหลกมากมายที่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆประสานให้เป็นชิ้นเดียว ดังนั้นเมื่อเป็นทารกกะโหลกจะมีช่องว่างอยู่บริเวณค่อนมาทางด้านหน้าของศีรษะ เรียกว่า กระหม่อม เป็นจุดที่เปราะบางที่สุดในชีวิต และจะปิดสนิทตั้งแต่อายุ 2 ถึง 2 ขวบครึ่ง ถึงจะพ้นขีดอันตรายของชีวิต การไว้จุกตั้งแต่แรกเกิด โดยเส้นผมในบริเวณที่ไว้จุกจะช่วยทำให้บริเวณกระหม่อมมีความอบอุ่น และป้องกันให้ปลอดภัยจากการกระทบกระเทือน ส่วน “การเกล้าพระโมลี (เกล้าจุก) ของพระบรมวงศานุวงศ์ในแบบราชสำนักโบราณ จะเกล้าอย่างสวยงามประดับประดาด้วยดอกไม้และเครื่องประดับผมที่สวยงามมาก ซึ่ง อ.วีรธรรม ได้สาธิตการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งนับเป็นพระราชพิธีโบราณที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยของวัฒนธรรม และประเพณีอันงดงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และถือเป็นมรดกของชาติที่ควรสืบสานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป

...


ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมหลากหลายที่ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย ผ่านวัฒนธรรมประเพณีอันทรงคุณค่า สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.qsmtthailand.org หรือ ติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊กของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ www.facebook. com/qsmtthailand.