“กรวย” สีส้มสะท้อนแสง ที่ตั้งอยู่บนท้องถนน จริงๆ แล้วถือว่าเป็นเครื่องหมายจราจรอเนกประสงค์ มีประโยชน์หลากหลายทั้งบอกทาง แนะนำทาง หรือเตือนอุบัติเหตุ...
 
ปกติจะพบเห็นกรวยบ่อยๆ ตามถนนหนทางทั่วไป ตำรวจจราจรใช้เป็นอุปกรณ์บังคับใช้ผิวทางตามวัตถุประสงค์ในแต่ละภารกิจ บางครั้งใช้กำหนดจุดชะลอความเร็ว ใช้ในภารกิจด่านตรวจ หรือเตือนภัยจุดเสี่ยงบนผิวถนนด้านหน้า หากผู้ใช้รถใช้ถนนสังเกตเห็นกรวยจราจร ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองและผู้ปฏิบัติภารกิจบนผิวทางอย่างตำรวจ และต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ที่สำคัญต้องชะลอความเร็วด้วย


“การใช้กรวยเพื่อเป็นเครื่องหมายบนพื้นทาง มีภารกิจหลายอย่าง เช่น อาจจะห้ามไม่ให้เข้า หรือบังคับให้ไปในทิศทางนั้น หรือเพื่อความปลอดภัยก็ได้ อยู่ที่ภารกิจว่าจะใช้ไปเพื่ออะไร แต่ถามว่ามีประโยชน์สำหรับประชาชนไหม มีประโยชน์อย่างเดียวครับไม่มีโทษเลย” พ.ต.ท.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี รอง ผกก.จร.สน.บางซื่อ บอกกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
 
สรุปว่า กรวยจราจร เป็นอุปกรณ์จราจรใช้เพื่อ...?

...

1.แบ่งเขตแดนถนน เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน

2.บ่งบอกพื้นที่เขตก่อสร้าง

3.ป้องกันเขตพื้นที่ห้ามเข้า


กรวยจะกลายเป็นสัญลักษณ์ทางจราจรก็ต่อเมื่อมีเจ้าหน้าที่หรือตำรวจ ทำหน้าที่วาง
 
ทำไมกรวยต้องสีส้ม...?

หลายคนอาจมีคำถามว่า กรวยจราจรทำไมต้องมีสีส้มสีเดียว จริงๆ แล้ว กรวยออกแบบมาเพื่อให้มองเห็นได้ง่าย เคลื่อนย้ายได้ง่าย ตามหลักสากล มีหลายสี เช่น ส้ม เหลือง ชมพู และแดง สีแดงและสีส้มเป็นสีที่ถูกใช้มากที่สุดเนื่องจากมองเห็นได้ง่าย และจะมีคาดแถบสะท้อนแสง ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืน เพิ่มความปลอดภัยให้กับ ผู้ขับขี่ ยานพาหนะ และพนักงานก่อสร้าง ซ่อมบำรุง


การจัดวางกรวยไม่ใช่เรื่องง่าย บุคคลทั่วไปใช่ว่าจะไปจัดวางกรวยโดยพลการ หากไม่มีความเชี่ยวชาญ เพราะจะทำให้ผู้ใช้รถเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และยังผิดตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก มีโทษปรับตามกฎหมาย


“ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วเอากรวยหรือวัตถุสิ่งของวางบนพื้นทาง ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกอยู่แล้ว ซึ่งมีอัตราโทษเปรียบเทียบปรับ ความผิดอาจจะไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่สิ่งที่ร้ายแรงกว่าก็คือ อาจจะทำให้ผู้ที่สัญจรไปมาไม่ได้รับความปลอดภัย และอาจเป็นการกีดขวางการจราจร ซึ่งก็ขอวิงวอนว่าถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่บนผิวทาง ก็อย่าเอากรวยมาวางบนผิวถนน” ผกก.จร.สน.บางซื่อ ย้ำ

...


บนถนนหลวง กรวยเป็นทรัพย์สินของราชการ คนทั่วไปไม่ควรหยิบจับ หรือเคลื่อนย้าย การเข้าไปหยิบจับมาเล่นแบบไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ตักเตือน แถมยังเปรียบเทียบปรับเราได้ด้วย
  
ส่วนพื้นที่ส่วนบุคคล สามารถใช้กรวยแนะนำการจราจรได้ตามความเหมาะ มีไว้ในครอบครอง ไม่ผิดกฎหมาย ใช้ได้ตามสะดวก
 
กรวยมีที่มา !
 
กรวยจราจร (traffic cone) เกิดขึ้นในปี 1940 หรือประมาณ 74 ปีก่อน โดยพนักงานทาสีถนนชาวอเมริกัน ต้องการสร้างเครื่องหมายบอกที่ใช้ถนนว่าสีบริเวณดังกล่าวยังไม่แห้ง จึงยื่นขอสิทธิบัตรกรวยจราจรนี้ในชื่อ "Safety marker" ในปี 1943 วัตถุประสงค์นี้เริ่มหายไปในยุคหลัง เพราะหลายคนใช้กรวยกั้นถนนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการทาสีถนน
 
กรวยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในปี 1958 บริษัท Pacific Gas and Electric ออกนโยบายให้รถบรรทุกของบริษัทต้องมีกรวยและวางไว้ด้านท้ายของตัวรถเมื่อจอดเพื่อความปลอดภัย นโยบายเช่นนี้ยังมีใช้อยู่ในทุกวันนี้ และเป็นกฎหมายของหลายประเทศที่ระบุให้การจอดรถกีดขวางเส้นทางจราจรต้องวางเครื่องหมายให้รถที่ผ่านไปมามองเห็นได้ก่อนถึงตัวรถ 

...

แนวทางการพัฒนากรวยยังมีการพัฒนาเรื่อยมา โดยสิทธิบัตรฉบับล่าสุดในปี 2010 แนวคิดและความพยายามทั้งหมดยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม คือสัญลักษณ์บอกแนวจราจรนี้ต้องสร้างได้ง่าย สามารถขนย้ายสะดวกประหยัดพื้นที่เก็บ ทนทานต่อการชน แนวทางเช่นนี้ทำให้ผู้รับผิดชอบต่อการก่อสร้าง การทาสีถนน หรือการกีดขวางทางจราจรอื่นๆ สามารถวางจุดสังเกตให้กับผู้กับขี่ได้หลบเลี่ยงอย่างทันท่วงที เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน
--