ครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” นำโดย “วาปี-ท่านผู้หญิงเหมือน-จิต” และลูกชาย “สรวิช-พลิศร์-ปวิณ”.
เพื่อให้สายสัมพันธ์ที่โยงใยกันมาแต่บรรพบุรุษยังคงสืบสานต่อไปอย่างแน่นแฟ้น เหล่าลูกหลานเหลนที่สืบเชื้อสายจากสกุล “เศรษฐบุตร” นำโดย ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร,ท่าน ผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ (ประนิช), วาปี ภิรมย์ภักดี, พัชรพิมพ์ เสถบุตร, พิไลพรรณ สมบัติศิริ และสัณหพิศ โพธิรัตนังกูร จึงร่วมกันจัดงาน “100 ปี เศรษฐบุตร” รวมญาติสังสรรค์ สานสายใยความรักความผูกพันของคนร่วมตระกูล ในบรรยากาศสวนสวยริมสระ โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ค

ที่มาที่ไปของต้นตระกูล “เศรษฐบุตร” นั้น อ.นรนิติ ซึ่งถือเป็นผู้รู้และได้สืบค้นเรื่องราวของตระกูลมากที่สุด เล่าให้ฟังว่า “เศรษฐบุตร” เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2456 โดยพระยานรเนติบัญชากิจ และนายภักดีนารถ (เลิศ) เป็นผู้ขอพระราชทาน ซึ่งสมัยนั้นมีการพระราชทานนามสกุลกว่า 3,000 ตระกูลและตระกูล “เศรษฐบุตร” เป็นลำดับที่ 58 ต้นตระกูลคนสำคัญคือพระประเสริฐวานิช (นายเทียนบี้ หรือเจ้าสัวโป้) ซึ่งต่อมามีการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้ยกเลิกการใช้บรรดาศักดิ์ ลูกหลานหลายคนต้องการเก็บ รักษาบรรดาศักดิ์ไว้ จึงเอาบรรดาศักดิ์นั้นมาเป็นนามสกุล ทำให้เกิดนามสกุลต่างๆ เช่น ภิรมย์ภักดี ประนิช โปษยะจินดา รวมถึง เสถบุตร อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้อักขระภาษาไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
...

ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งสำคัญที่คนในตระกูล “เศรษฐบุตร” ไม่ว่าจะนามสกุลใด ได้มาพบปะสังสรรค์ เพื่อร่วมกันรำลึกถึงคุณงามความดีที่บรรพบุรุษได้ทำไว้เพื่อประเทศชาติ จะร่วมกันสานต่อคุณค่าความดีงามทั้งหลายที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ และร่วมกันภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาในตระกูลนี้ ซึ่งหากลูกหลานคนใดอยากรู้เรื่องราวความเป็นมาของชาติตระกูลตนเอง สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ “ล่อง... สำเภา เข้าสยาม” ที่ อ.นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นผู้สืบค้นประวัติต้นตระกูล เริ่มตั้งแต่ การล่องเรือจากทะเล จีนใต้เข้าสู่ประเทศไทย จากคนจีนที่ขยันทำมาหากิน จนได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ ลายพระหัตถ์รัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานนามสกุล “เศรษฐบุตร” ตลอดจนผลงานแห่งบรรพชนอันเป็นที่ปรากฏในกรุงสยาม รวมถึงบทสัมภาษณ์ คำบอกเล่าจากความทรงจำ และมุมมองของทายาทรุ่นปัจจุบัน ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องราวดีๆที่ควรค่าแก่ความทรงจำ.