จากร้านไอศกรีมเล็กๆ คูหาเดียวในซอยประสานมิตร S&P ได้ถูกปลุกปั้นด้วยฝีมือของ “ป้าใหญ่-ภัทรา ศิลาอ่อน” ประธานกรรมการบริษัทเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จนพัฒนาขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่แถวหน้าของเมืองไทย โดยมีสโลแกนติดหูเป็นที่จดจำของนักชิมรุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า “ชื่อนี้มีแต่ของอร่อย” และแม้กาลเวลาจะผ่านไปถึง 4 ทศวรรษ แต่เสน่ห์ความอร่อยคลาสสิกเหนือกาลเวลาในแบบ S&P ก็ไม่เคยเสื่อมคลายจากใจคนไทย

ในฐานะโต้โผนำ อยากให้ “ป้าใหญ่” เล่าย้อนจุดเริ่มต้นของ S&P กว่าจะมาถึงวันนี้

S&P เปิดร้านแรกในซอยประสานมิตร สุขุมวิท 23 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 สมัยนั้นย่านนี้เป็นที่อยู่อาศัย มีร้านตัดเสื้อ ร้านทำผมและร้านอาหารนิดหน่อย แต่ยังไม่คึกคักเหมือนปัจจุบัน ด้วยความที่คุณแม่เป็นเจ้าของโรงแรมแกรนด์ ทำให้ “ป้าใหญ่” คุ้นเคยกับเรื่องอาหารการกินและการบริการพอสมควร หลังจากโรงแรมของคุณแม่ปิดตัวลง จึงมีอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเหลือเยอะ พอจะเปิดร้านก็แทบไม่ต้องลงทุนซื้ออะไรใหม่ จำได้ว่าสมัยนั้น “ป้าใหญ่” ลงทุนร่วมกับน้องๆรวม 5 คน คนละเพียง 25,000 บาท รวมเป็นเงินทุน 125,000 บาท เราจ่ายค่าเช่าร้าน 3,000 บาท เป็นตึก 4 ชั้น ขนาดจ่ายมัดจำล่วงหน้าแค่ 3 เดือน ยังคิดแล้วคิดอีก ตอนนั้น “ป้าใหญ่” แต่งงานและมีลูกแล้ว 3 คน จำได้ว่าคุณพ่อไม่พอใจเลย เพราะท่านเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โต แต่เรากับน้องๆอยากทำ เริ่มแรกเปิดเป็นร้านไอศกรีมเล็กๆขายไอศกรีมของโฟร์โมสต์ ซึ่งดังมากในยุคนั้น มีพนักงานแค่ 7 คน แต่ทำไปสักพักคิดว่าขายไอศกรีมอย่างเดียวไม่น่าจะไหว ด้วยความที่ “ป้าใหญ่” เป็นคนชอบทานอาหารจานเดียว และอาหารว่างต่างๆ จึงตัดสินใจนำเมนูอร่อยทานง่ายๆของครอบครัวมาทำขายในร้าน รวมถึงเมนูอาหารที่เคยไปทานตามร้านต่างๆแล้วติดใจ สมัยนั้นถือเป็นของใหม่ที่นำอาหารจานเดียวมาขายในร้านติดแอร์ เป็นสไตล์แบบคอฟฟีช็อปโรงแรม แต่ราคาย่อมเยากว่ามาก ทำร้านไปได้ประมาณ 4 ปี จึงขยายร้านเป็น 2 คูหา แล้วหาช่างอบขนมเค้กมาประจำ ปรับปรุงชั้น 3 ให้เป็นโรงงานเบเกอรี่เล็กๆ ส่วนพื้นที่ชั้น 2 ก็ทำเป็นครัวอาหารญี่ปุ่น ซึ่งทานง่ายๆเป็นจานนิยม ราคาไม่สูงเหมือนโรงแรม


จานไหนเป็นเมนูเก่งที่สร้างชื่อให้ S&Pในยุคแรก

อาหารเลื่องชื่อของเราก็ต้อง ข้าวไก่อบและข้าวผัดอเมริกัน เป็นจานอร่อยที่คุณแม่ชอบทำให้ทาน ตัวเราเองก็ชอบทาน พอทำให้ลูกๆทานก็ติดใจกันหมดและทำเป็นทุกคน ส่วนเมนูดังขายดีในปัจจุบันก็เห็นจะเป็นข้าวผัดกุ้งพริกขี้หนู, ข้าวผัดน้ำพริกกุ้งสดและวุ้นเส้นผัดไทย

จากร้านอาหาร เล็กๆคูหาเดียว พัฒนาสู่ผู้บุกเบิกร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ได้อย่างไร

เนื่องจากเรามีโรงงานเบเกอรี่ทำขนมเค้กของตัวเอง ทำให้มีผลผลิตเยอะ ขายเฉพาะที่ร้านแห่งเดียวก็ไม่ทัน ต้องหาทางขยับขยายร้านเพื่อระบายสินค้า น้องชายไปได้โลเกชั่นที่สยามสแควร์ จึงเปิดร้าน S&P สาขาสอง เมื่อปี 2523 โดยร้านนี้กลายเป็นต้นแบบของร้าน S&P ในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งสัดส่วนชัดเจนระหว่างโซนอาหารกับเบเกอรี่ จากนั้นเราก็ไปบุกเบิกธุรกิจที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ตอนนั้นเพิ่งสร้างใหม่ๆ เงียบมาก จำได้ว่าร้านเราอยู่ชั้น 3 กับร้านอาหารฟูจิและซากุระ มองออกไปมีแต่ รปภ.เดินไปเดินมา ไม่มีลูกค้าเลย เปิดขายได้สักพักถึงจะโอเค แล้วค่อยขยายสาขามาเปิดที่สีลมกับทองหล่อ กระทั่งเรากลายเป็นคนบุกเบิกร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ และผู้นำธุรกิจอาหารของเมืองไทย ที่มีเครือข่ายร้านอาหารใหญ่ที่สุด ปัจจุบันมีร้านอาหาร 110 สาขา และเบเกอรี่กว่า 300 สาขา มีพนักงานมากกว่า 5,000 คน เรามีบริการครอบคลุมครบวงจร ตั้งแต่โรงงานผลิต ร้านสาขาต่างๆทั่วประเทศ มีการกระจายสินค้าไปตามโมเดิร์นเทรดด้วย เราทำทั้งอาหารและเบเกอรี่ แถมยังมีธุรกิจอาหารพร้อมอุ่นแบบควิ้กมีล ซึ่งขายดีมาก เพราะเข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ การจะลงมือทำอาหารเองต้องใช้วัตถุดิบเยอะ เปลืองเงินมาก ทิ้งซะก็เยอะกว่าจะได้อาหารแต่ละจาน สู้ซื้ออาหารพร้อมอุ่นแช่ตู้เย็นติดบ้านไว้ไม่ได้ นอกจากนี้ เรายังขยายธุรกิจร้านอาหารออกไปอีกหลายกลุ่มเป้าหมาย เช่น BlueCup Coffee สำหรับคอกาแฟ, Vanilla Group ร้านอาหารมีดีไซน์ถูกใจวัยรุ่นและวัยทำงาน, Grand Seaside ร้านอาหารทะเลและอาหารไทยร่วมสมัยในบรรยากาศชายทะเล, Patio ร้านอาหารนานาชาติสไตล์เรียบง่าย  เรายังนำร้านอาหารไทยสไตล์โก้หรู เช่น Patara และ SUDA รวมถึงร้านอาหารไทยสไตล์ร่วมสมัย เช่น Siam Kitchen, Bangkok Jam และ Bangkok Beat Bistro ไปบุกตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มลองอาหารไทยคลาสสิก โดยปัจจุบันมีสาขาอยู่ใน 7 ประเทศทั่วโลก ทั้งอังกฤษ, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, ไต้หวัน, สิงคโปร์, จีนและมาเลเซีย

หลังนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2532 “ป้าใหญ่” ยังดูแล  S&P ใกล้ชิด เหมือนลูกไหมคะ

“ป้าใหญ่” ไม่รู้เรื่องการเงินเลย เรื่องออฟฟิศก็แทบไม่ได้ยุ่งมาตั้งแต่ต้น ปล่อยให้น้องชายและน้องสะใภ้ทำกันไป “ป้าใหญ่” จะมุ่งที่หน้าร้านเป็นหลักและยังคงดูแล S&P เหมือนที่เคยดูแลมาทั้งชีวิต เพราะเป็นคนวางมาตรฐานทุกอย่างไว้หมด “ป้าใหญ่” ชอบแอบไปเยี่ยมตามร้านสาขาต่างๆ โดยจะมีผู้จัดการเขตและผู้จัดการร้านคอยรายงานความเคลื่อนไหว ทุกวันนี้ “ป้าใหญ่” ยังดูแลเมนูเองทุกเมนู และคิดเมนูใหม่ๆออกมาตลอด สนุกดีออก!! หน้าที่หลักของ “ป้าใหญ่” คือการจัดเก้าอี้ในร้าน ทุกสาขาที่เปิดใหม่ “ป้าใหญ่” ต้องไปจัดร้านให้หมด สาขาไหนขายไม่ดี ก็จะโทร.มาขอให้ “ป้าใหญ่” ไปดูหน่อย พอเราไปจัดโต๊ะเก้าอี้ให้ใหม่ ปรากฏว่าขายดีขึ้นจริงๆนะ (หัวเราะ) เวลาเราไปเยี่ยมสาขาไหน พนักงานต้องระวังตัวแล้ว เพราะรู้ว่าเดี๋ยว “ป้าใหญ่” ต้องไปจัดโน่นเปลี่ยนนี่ เวลาทำร้านใหม่เราเป็นคนดูแบบเลย์เอาต์เอง แต่พอเอาเข้าจริงๆมันไม่เหมือนที่คิดไว้ เราก็ต้องไปจัดใหม่ เพื่อให้ลูกค้านั่งสบายขึ้น พนักงานทำงานสะดวกขึ้น หรือบางร้านจัดแบบเดิมๆ มานาน ก็ต้องไปหมุนเปลี่ยนหน่อย เดี๋ยวลูกค้าเบื่อ

ผ่านไป 4 ทศวรรษแล้ว ทำไม S&P ยังครองใจคนไทย

วัดจากตัวเองก็ได้ “ป้าใหญ่” สามารถทานอาหารของ S&P ได้ทุกวัน โดยไม่รู้สึกเบื่อ เรามีเมนูหลากหลาย ขณะเดียวกันเป็นอาหารง่ายๆ มองก็รู้ว่าคืออะไร ไม่ทำให้สับสน อาหารของเรารสชาติดีแต่ไม่จัดจ้าน  เป็นรสชาติกลางๆ ถ้าลูกค้าอยากทานเผ็ดหน่อยค่อยเติมพริก อีกเรื่องที่เราเน้นมากคือ การฝึกอบรมพนักงานเพื่อสร้างมาตรฐานด้านการบริการและการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยเราได้เปิดศูนย์การเรียน S&P ขึ้นเฉพาะ มีให้เลือก 2 หลักสูตรคือ พาณิชยกรรมและคหกรรม เมื่อเรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมได้รับโอกาสฝึกงานและทำงานจริงกับ S&P ปัจจุบันผ่านการเรียนการสอนไป 19 รุ่นแล้ว เรายังให้ทุนนักศึกษาปริญญาตรี เรียนจบแล้วต้องมาทำงานให้ S&P 2 ปี และให้โอกาสนักเรียนอาชีวะทั่วประเทศเข้ารับการฝึกฝนอาชีพเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง

แล้ว “คุณเอ็ม-มณีสุดา” เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระอะไร ใน S&P

(เอ็ม) เข้ามาทำงานที่ S&P ได้ 9 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่แวดวงการเงินการธนาคาร 10 ปี แต่พอแต่งงานเป็นสะใภ้บ้านศิลาอ่อน และเริ่มท้องลูกคนที่สอง “คุณแม่” (ภัทรา ศิลาอ่อน) จึงชักชวนให้มาทำงานกับ S&P ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว เพราะอยากให้มีเวลาดูแลลูกๆเต็มที่ ช่วง 2 ปีแรกที่ทำงานกับ S&P เน้นทำเรื่องการเปิดร้าน ขยายสาขา ดูเรื่องการเงินและการลงทุนว่าจะคุ้มทุนไหมเป็นหลัก จากนั้น ท่านก็ไว้วางใจให้มาช่วยดูเรื่องการประชาสัม-พันธ์และลูกค้าสัมพันธ์ ตอนนี้หลักๆคือเป็นผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรมีหน้าที่ดูแลภาพ-ลักษณ์ทุกอย่างขององค์กร และดูแลกิจกรรมลูกค้า พอได้มาทำเต็มตัวก็เป็นการเปิดโลก-ทัศน์ใหม่เลย จากที่เคยทำงานเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร แล้วต้องผันตัวมาทำเรื่องธุรกิจอาหาร เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด แต่ยอมรับว่าสนุกมาก เพราะได้เจอโจทย์ใหม่ๆทุกวันและเป็นอะไรที่ท้าทายมาก

อะไรที่ “คุณแม่” ทนไม่ได้ที่สุด เวลาตรวจสาขา


(เอ็ม) ความสกปรกและความไม่เรียบร้อย ถ้าเจอนี่โมโหเลยค่ะ!! “คุณแม่” จะสั่งพนักงานทุกคนให้ผูกผมเก็บผมให้เรียบร้อย บางทีลงทุนซื้อกิ๊บให้ด้วย ถ้าไปเยี่ยมสาขาไหนเห็นพนักงานไม่เรียบร้อย “คุณแม่” จะแต่งหน้าให้ใหม่เลย ท่านพกดินสอเขียนคิ้วติดกระเป๋าเสมอ พอเห็นพนักงานคนไหนหน้าซีดหน้าเซียว ก็จะเรียกมาเขียนคิ้วทาปากให้

“คุณแม่” เป็นแบบ อย่างที่ดีในด้านไหน

(เอ็ม) “คุณแม่” ทำงาน 7 วัน เสาร์อาทิตย์ก็ชวนลูกๆหลานๆไปตรวจสาขาไม่เคยเว้น ท่านแฮปปี้กับการทำงานมาก พลังเยอะมาก ทั้งๆที่พวกเรากลับบ้านสลบหมด ท่านบอกเสมอว่าเวลาเราไปเยี่ยมสาขาต่างๆก็เหมือนเป็นการให้กำลังใจพนักงาน ท่านจำชื่อพนักงานเก่าๆได้หมด ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดความประทับใจ

ถาม “ป้าใหญ่” บ้างนะคะ ปีนี้อายุ 71 แล้ว ทำยังไงให้พลังเหลือเฟือขนาดนี้

เราชอบทำงาน หัวเรามีแต่เรื่องงาน คิดโน่นคิดนี่ตลอดว่าจะปรับปรุงร้าน S&P ยังไงให้ดีขึ้น ปัจจุบันสั่งงานผ่านทางไลน์นะ (หัวเราะ) ถ้าหยุดคิดเมื่อไหร่ คงสมองฝ่อ!! ปกติ “ป้าใหญ่” เป็นคนใจดี แต่ใจร้อน คิดอะไรออกต้องรีบสั่งเลย เพราะกลัวลืม

ชีวิตนี้จะมีวันเกษียณไหมคะ

ไม่มีทาง (เสียงเข้ม) วันไหนลุกไม่ขึ้นถึงจะหยุดทำงาน!! เป็นคนคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลา ทำให้ความจำดีมาก สมัยก่อนชอบเต้นรำ แต่ชักจะไม่ค่อยไหว  เลยหันมาเล่นโยคะนิดหน่อย “ป้าใหญ่” เป็นคนชอบเสียงเพลงมากและชอบดูละคร เลยทำให้ไม่แก่!!

...


ทีมข่าวหน้าสตรี