ถ้าไม่มีนักประดิษฐ์ ที่กล้าฉีกกฎเกณฑ์คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเพื่อปฏิวัติโลกให้สวยงามขึ้น ป่านนี้โลกของเราก็คงหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่พัฒนาไปไกลอย่างที่เห็น!! สหภาพโซเวียตประดิษฐ์ “ดาวเทียมสปุตนิก” และส่งออกไปนอกโลกครั้งแรกเมื่อปี 1957 ขณะที่ “เอทีเอ็ม” ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยธนาคารบาร์คเลย์เมื่อปี 1967 เปิดโลกการทำธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ส่วน “โทรศัพท์มือถือ” พัฒนาคิดค้นขึ้นด้วยฝีมือ “มาร์ติน คูเปอร์” เมื่อปี 1973 จนกลายเป็นพื้นฐานสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สาย

และไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเล็กขนาดไหน ก็ส่งผลกระทบอย่างสะเทือนเลื่อนลั่นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติได้อย่างน่าทึ่ง!! โดยหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เติบโตมาพร้อมกับพวกเรา และครองความนิยมจวบจนถึงปัจจุบัน ต้องยกให้ นาฬิกา G–SHOCK ของคาสิโอ ซึ่งคิดค้นขึ้นจากมันสมองและความช่างสังเกตของวิศวกรกลไกชื่อดังชาวญี่ปุ่น “มร.คิคุโอะ อิเบะ” เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว จนขึ้นหิ้งเป็นนวัตกรรมชิ้นเอกของวงการนาฬิกาโลก


“อิเบะซัง” เริ่มเข้ามาทำงานกับ “คาสิโอ” ได้อย่างไร

ผมเรียนจบวิศวกรรมกลไก จบปั๊บก็ทำงานที่ “คาสิโอ” เลย ตั้งแต่ปี 1978 เริ่มแรกที่เข้ามาทำงานในแผนกออกแบบนาฬิกา “คาสิโอ” เพิ่งเป็นบริษัทเล็กๆเท่านั้น เน้นผลิตนาฬิกาดิจิตอลเป็นหลัก ตอนนั้นผมอายุแค่ 23 ปี จึงคิดว่า ถ้าทำงานกับบริษัทเล็กๆก็มีโอกาสได้แสดงความสามารถ และสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆมากกว่า

ทำงานหลายปีไหมกว่าจะคิดค้นนวัต-กรรมเจ๋งๆอย่าง “จี–ช็อค”

ผมทำงานกับ “คาสิโอ” ได้ 5 ปี ถึงจะเริ่มคิดค้นโปรเจกต์สร้างสรรค์นาฬิกาจี-ช็อค โดยใช้เวลาค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมอยู่ถึง 3 ปีเต็ม จึงประสบความสำเร็จ

...


อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำนาฬิกาล้ำสมัยตกไม่แตก

เกิดจากประสบการณ์จริงของผมเองครับ ตั้งแต่สมัยเรียน ผมได้รับนาฬิกาเรือนหนึ่งเป็นของขวัญจากคุณพ่อ ซึ่งก็ใช้มานานมากกระทั่งทำงานกับ “คาสิโอ” แต่มีอยู่วันหนึ่งผมดันทำนาฬิกาเรือนนั้นตกลงพื้น และแตกกระจายหมด จึงเกิดความคิดว่า สักวันหนึ่งผมอยากทำนาฬิกาอะไรก็ได้ที่ตกแล้วไม่แตก แข็งแรงทนทาน ซึ่งก็คือที่มาของไอเดียการสร้างสรรค์ “จี-ช็อค”

ถือเป็นการปฏิวัติวงการวิศวกรรมนาฬิกาเลยใช่ไหม

ในยุคนั้นไม่มีนาฬิกายี่ห้อไหนทำนาฬิกาแบบนี้ ถือเป็นนาฬิกาที่มีนวัตกรรมล้ำสมัยที่สุด กระทั่งถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครสามารถทำนาฬิกาที่มีความแข็งแรงทนทานเทียบเท่ากับ “จี-ช็อค” แต่กว่าจะได้นาฬิกา “จี-ช็อค” ผมต้องโยนนาฬิกาลงจากอพาร์ตเมนต์ชั้น 3 ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อทดสอบความทนทาน กระทั่งปี 1981 ความฝันใกล้เป็นจริง เมื่อประสบความสำเร็จในการพัฒนานาฬิกา “Triple 10” ที่มีคุณสมบัติทนแรงกระแทกจากการตกบนพื้นได้ถึง 10 เมตร, กันน้ำได้ระดับ 10 บาร์ และมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ถึง 10 ปี จากนั้นการพัฒนานาฬิกา “จี-ช็อค” ก็ประสบความสำเร็จ และสามารถผลิตโมเดลแรกออกมาให้ตื่นตาตื่นใจในปี 1983 โดยทีมงานของผมได้คิดค้นนำพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสูงและทนแรงกระแทกได้ดีอย่าง “ยูรีเทน” มาผลิตเป็นตัวเรือนนาฬิกาครั้งแรกในโลก ด้วยแรงบันดาลใจจากคุณสมบัติเด่นของลูกบอลยาง พร้อมกันนี้ ก็ปรับตัวเครื่องด้านในให้ลอยไม่ยึดติดกับตัวเรือน ทำให้สามารถกระจายแรงกระแทกจากด้านนอกได้ ตัวเรือนจึงไม่ได้รับความเสียหายง่ายๆ


คำว่า “จี–ช็อค” มาจากอะไร

ตอนทดสอบความทนทานของนาฬิกา “จี-ช็อค” มันมีเรื่องของแรงโน้มถ่วง คือ Gravity เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงคุยกับทีมงานว่าจะดึงตัว G มาใช้เป็นชื่อนาฬิกา เพื่อสื่อถึงความทนทานต่อแรงกระแทก และความนำสมัย

อะไรคือความโดดเด่นของ “จี–ช็อค” ที่ทำให้ครองความนิยมถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านกาลเวลามาแล้ว 30 ปี

ความแข็งแรงทนทานของโครงสร้างนาฬิกา “จี-ช็อค” ตกไม่แตก แถมยังทนทานไฟด้วย เรื่องนี้ไม่มีการเทสต์อย่างเป็นทางการ แต่มีนักดับเพลิงยืนยันว่าเคยใส่ “จี-ช็อค” ผจญเพลิงมาแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยเด่นคือ เราไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการนำเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ และใส่บลูทูธเข้าไปเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งในนาฬิกา นอกจากนี้ ดีไซน์ยังโดดเด่นเข้ายุคสมัย

ยุคไหนคือยุคทองของ “จี–ช็อค” ที่เฟื่องฟูที่สุด

(ครุ่นคิดพักใหญ่) ตั้งแต่เริ่มวางขายในปี 1983 มาจนถึงปี 1990 “จี-ช็อค” ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไหร่ คือขายไม่ดี และสื่อก็ไม่สนใจเลย แต่พอเข้าสู่ยุคต้นทศวรรษ 1990 จู่ๆกลับเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยอดขายทะลุเพดาน และสื่อญี่ปุ่นต่างก็ให้ความสนใจนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ “จี-ช็อค” จุดเปลี่ยนสำคัญมี 2 ช่วงคือ ช่วงก่อนปี 1990 เราผลิต “จี-ช็อค” แค่ 2 สี คือ ดำและเหลือง ทำให้ไม่โดนใจวัยรุ่นเท่าไหร่ เป็นเพียงนาฬิกาของช่างและผู้ใช้แรงงาน แต่หลังจากต้นทศวรรษ 1990 มีการปรับเปลี่ยนนาฬิกาให้มีสีสันหลากหลายขึ้น ประกอบกับสื่อในญี่ปุ่นให้ความสนใจนำเสนอข่าวอย่างคึกคัก จึงทำให้ “จี-ช็อค” ขายดีระเบิด

...


กว่าจะประสบความสำเร็จต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ทำยังไงไม่ให้สิ้นหวังไปก่อน

ยอมรับว่า ตอนแรกๆกลุ้มใจมาก!! เกรงใจบริษัท เกรงใจฝ่ายการตลาด และดีลเลอร์ เพราะขายไม่ออก!! แต่ผมก็แอบหวังลึกๆว่าคงมีสักวันที่เทรนด์โลกจะเปลี่ยนแปลงไป แล้วหันมายอมรับนาฬิกา “จี-ช็อค” ซึ่งหน้าตาประหลาดสำหรับคนยุคนั้น เป้าหมายของการคิดค้นนาฬิกา “จี-ช็อค” คือ ผมตั้งใจทำนาฬิกาแข็งแรงทนทานที่สุด กลุ่มลูกค้าหลักในยุคแรกจึงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มช่าง และผู้ใช้แรงงาน ที่ทำงานสมบุกสมบัน ทำให้ยอดขายในช่วง 10 ปีแรกลุ่มๆดอนๆ แต่ทาร์เก็ตเปลี่ยนไปในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อเราเน้นเรื่องการพัฒนาสีสันและดีไซน์ให้โดดเด่นทันสมัยยิ่งขึ้น “จี-ช็อค” จึงขยายความนิยมสู่วัยรุ่น, คนทำงาน และยิ่งฮิตฮอตเมื่อนักกีฬาสเกตบอร์ดหันมานิยมใส่ “จี-ช็อค”

ก้าวไหนเป็นก้าวสำคัญในการแจ้งเกิดของ “จี–ช็อค”

“จี-ช็อค” ไปวางขายในอเมริกาเป็นตลาดแรก แต่ช่วงแรกๆ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยังจำกัดกลุ่มลูกค้าอยู่แค่ผู้ใช้แรงงานเหมือนในญี่ปุ่น กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อมีรายการทอล์กโชว์ดังของอเมริกา นำนาฬิกา “จี-ช็อค” ไปพิสูจน์ความทนทานออกอากาศตามเสียงเรียกร้องของผู้ชม โดยใช้ไม้ฮอกกี้น้ำแข็งฟาดนาฬิกาแทนลูกฮอกกี้ ปรากฏว่า นาฬิกาไม่เป็นอะไรเลย ทำให้ผู้บริโภคอเมริกันทึ่งมาก และหันมาอุดหนุน “จี-ช็อค” กันอย่างถล่มทลาย เมื่อตลาดอเมริกาบูม คราวนี้ก็ปลุกกระแสนิยมในญี่ปุ่นให้บูมขึ้นมาด้วย พ่อค้าหัวใสจำนวนมากนำเข้า “จี-ช็อค” จากอเมริกา เพื่อมาวางขายในญี่ปุ่น ยุคนี้เองที่ “จี-ช็อค” ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ไปสู่ความเป็นผู้นำเทรนด์

หลังประสบความสำเร็จจริงๆได้เป็นเจ้าพ่อ จี–ช็อค ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะไหม

จุดต่างคือ ช่วง 10 ปีแรก ไม่มีใครสนใจผมเลย ก็ก้มหน้าก้มตาคิดค้นโน่นคิดค้นนี่ไปเรื่อยๆ แต่พอหลังจากต้นทศวรรษ 1990 กลายเป็นว่ามีสื่อทุกแขนงมาขอสัมภาษณ์ไม่เว้นแต่ละวัน ก็ชื่นใจมากครับ แต่ไม่ถึงกลับมีคนปูพรมแดงให้เดินในบริษัทคาสิโอ (หัวเราะ)

...


ในฐานะผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการนาฬิกา เทรนด์ไหนจะมาแรงในอนาคต

ผมคิดว่า เราทุ่มเทความสนใจกับเรื่องนวัตกรรมและความไฮเทคมาเยอะ ต่อไปน่าจะเข้าสู่เทรนด์ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” หันกลับมาหาอะไรที่เรียบง่ายและใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ความท้าทายของผมคือ ทำอย่างไรจะคิดค้นนาฬิกาที่ราคาย่อมเยาแต่คุณภาพสูง ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมกลไก จากนี้ไปต้องเน้นการพัฒนาสินค้าที่มีเอกลักษณ์ และ “ใช่” สำหรับผู้บริโภคทุกระดับ

ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยๆ ยังมีฝันอะไรที่อยากไปให้ถึงอีกไหม

ผมชอบปลูกผักครับ การปลูกต้นไม้และปลูกผัก เราต้องให้ความรักความเอาใจใส่ ถ้าเราไม่เอาใจใส่ ปลูกยังไงผักก็ไม่งอกงามดี ผมอยากจะพัฒนาตัวเองให้มีความเชี่ยวชาญในการปลูกผักอย่างลึกซึ้งจริงๆ

ปีนี้อายุ 60 แล้ว เติมเชื้อไฟยังไงไม่ให้มอด และมีแรงสร้างสรรค์ไม่หยุดยั้ง

การเดินทางไปพบปะคนใหม่ๆ พบเห็นสถานที่ใหม่ๆ คือแรงบันดาลใจสำคัญที่จุดประกายให้มีพลังสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง  อย่างการเดินทางมาเมืองไทยครั้งนี้ ได้เห็นรอยยิ้มของคนไทย ก็ทำให้เกิดไอเดียเจ๋งๆ

ในฐานะเจ้าพ่อจี–ช็อค  อะไรทำให้คุณ “ช็อค” ที่สุดในชีวิต


ความรุนแรงและสงครามที่เกิดขึ้นตามมุมต่างๆของโลก!! แต่ถ้าเป็นความช็อคส่วนตัวคือ ผมเคยโดนยิงคำถามว่าคุณเดินทางเยอะ แล้วจะรักษาความสงบในบ้านได้อย่างไร ผมถามเขากลับว่า ถ้าสามีคุณเป็นแบบผมต้องเดินทางเยอะ คุณจะทำยังไง เธอคนนั้นตอบว่า ฉันขอหย่าแน่นอน...อันนี้ก็ช็อคผมไปเลย!!

...


ทีมข่าวหน้าสตรี