ชาวนา ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ทำนาของไทย ต้องประสบปัญหาความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบ อันเนื่องมาจากกลไกตลาดที่มีความซับซ้อนและขาดความเป็นธรรมมาโดยตลอด...
นายภาคภูมิ วงศ์ศักดิ์วานิช อายุ 25 ปี เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ เขาเคยทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากบริษัทต่างชาติชื่อดัง ก่อนกลับมาช่วยสานต่อธุรกิจนำเข้าอะไหล่จักรยาน Shimano ของครอบครัว ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฮะฮงพาณิชย์ จำกัด ภาคภูมิติดตามข่าวสาร และสนใจการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ที่พยายามแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร แต่ดูเหมือนผลประโยชน์จะตกไม่ถึงมือชาวนาสักเท่าไร เขาจึงพยายามคิดหาวิธีว่าทำอย่างไร ชาวนาไทยจึงจะพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)
ทั้งนี้ ภาคภูมิ มีโอกาสได้รู้จักกับ อาจารย์รุ่งสว่าง บุญหนา อาจารย์จากวิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ ซึ่งประดิษฐ์จักรยานปั่นสีข้าวด้วยแรงคน ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาสามารถลดการพึ่งพาโรงสีและพ่อค้าคนกลางได้ เขารู้สึกสนใจ ประกอบกับตนเองมีพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ ภาคภูมิจึงร่วมกับอาจารย์รุ่งสว่าง นำอุปกรณ์ดังกล่าวมาทดสอบและปรับปรุง เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง
“และหลังจากนั้น ผมได้ขอจักรยานปั่นสีข้าวจาก อาจารย์รุ่งสว่าง บุญหนา ที่ได้ประดิษฐ์ไว้กลับมาที่กรุงเทพฯ นำมาทดลองและปรับปรุง ลองผิดลองถูกอยู่ 3-4 เดือน ได้ลองเปลี่ยนเฟรมให้เหมือนจักรยานแข่งและใส่อะไหล่ของ Shimano เข้าไป ทำสีเครื่องใหม่ ให้ดูใหม่และน่าใช้ขึ้น จนพัฒนาได้เครื่องใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า และสามารถช่วยให้ใช้น้ำหนักในการปั่นน้อยมาก ถ้าข้าวเปลือก 5 กิโลกรัม ปั่นแบบธรรมดาไม่ได้ใช้ความเร็วมาก เพียง 10 นาทีก็เสร็จแล้ว โดยไม่เหนื่อยเลยทีเดียว ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับชาวนา และลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการสีข้าวอีกด้วย”
...
ภาคภูมิ เล่าถึงความสำเร็จในการคิดค้นที่เกิดจากความร่วมมือกันในครั้งนี้ ว่า นวัตกรรมชิ้นใหม่ ที่เขาเรียกว่า “จักรยานปั่นสีข้าว” นี้ ทำงานโดยแบ่งกลไกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ส่วนที่ใช้สีข้าว ครอบด้วยพลาสติกใส สามารถมองเห็นข้าวเปลือกเมื่อนำใส่เข้าในตัวเครื่อง แล้วผ่านลูกกลิ้ง 2 ลูก ซึ่งจะหนีบเมล็ดข้าวจนเปลือกแตกออก โดยระยะห่างของลูกกลิ้งทั้งสองลูก สามารถปรับได้ตามขนาดของเมล็ดข้าวแต่ละชนิด ส่วนเมล็ดข้าวกล้องที่หลุดจากเปลือก จะไหลออกทางกระบอกด้านข้าง และแรงลมจากการปั่นจะเป่าเปลือกข้าวทิ้งออกทางด้านหน้าของตัวเครื่อง
ส่วนที่ 2 ได้แก่ บันไดปั่นที่ได้รับการออกแบบให้สามารถเปลี่ยนเกียร์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับน้ำหนักของการปั่นได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับจักรยานเสือภูเขา เมื่อทดสอบและปรับปรุงจนเครื่องปั่นสีข้าวสามารถใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ภาคภูมิติดต่อกับกลุ่มชาวนา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และมอบเครื่อง “จักรยานปั่นสีข้าว” ให้กลุ่มชาวนาทดลองใช้ โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นว่า ข้าวกล้องแดงหอมมะลิแดง ที่ได้จากการสีด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวให้เกษตรกรนำมาขายให้กับเขา เพื่อจะนำไปขายทดลองทำการตลาด
และเมื่อผลิต “จักรยานปั่นสีข้าว” ได้มากขึ้น ก็นำเครื่องไปแจกให้ฟรีในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งจะขยายไปในจังหวัดอื่นๆ อีกต่อไป โดยชาวนาที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้นๆ ก็สามารถมาขอนำเครื่องนี้ไปใช้สีข้าวของตนเองได้
ล่าสุด ข้าวกล้องหอมมะลิแดง จากกลุ่มชาวนาอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้จากการผลิต ได้นำมาจำหน่ายในชื่อแบรนด์ “Thai Red Rice” ผนึกถุงสุญญากาศ ผลผลิตจากการสีข้าวด้วยเทคโนโลยีที่ภาคภูมิและอาจารย์รุ่งสว่างร่วมกันประดิษฐ์ขึ้นสามารถนำออกวางจำหน่ายในตลาดระดับพรีเมี่ยม และที่ถุงจะมีฉลากการเล่าเรื่องราวของชาวนาไทยและข้าวที่สีโดย “จักรยานปั่นสีข้าว” นี้ด้วย
...
...
“ตอนนี้ผมอาศัยการฝากวางกับบูธจำหน่ายสินค้าตามอาคารสำนักงานใหญ่ๆ เพื่อทดลองทำตลาดและจะโปรโมทแบรนด์ โดยการร่วมงานอีเวนต์ต่างๆ เป็นครั้งคราว รวมทั้งจะติดต่อกับบริษัทขนาดใหญ่เพื่อเสนอให้ทำซีเอสอาร์ โดยการใช้ข้าวของเราในโรงอาหาร ซึ่งเป็นข้าวกล้องที่ผลิตจากชุมชน และต่อไปก็จะวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ”
พร้อมกันนี้ ภาคภูมิ ยังบอกด้วยว่า ถึงตอนนี้ ยังอยู่ระหว่างการทดสอบโมเดลธุรกิจของข้าวกล้องชุมชน ที่ผลิตจากจักรยานปั่นสีข้าว ว่าจะใช้ได้ผลและทำให้ชาวนาสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ หากผลตอบลัพธ์ดีตามที่คาดหวังไว้ เชื่อว่าการนำโมเดลนี้ไปปรับใช้เพื่อขยายสู่ประเทศอื่นๆ ที่มีการผลิตข้าว ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว หรือประเทศในแถบแอฟริกา ก็อาจมีความเป็นไปได้ในอนาคต.