สร้างความฮือฮาให้โลกอาหรับเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ “ชีค ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี” เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ทรงสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ ขณะพระชนมายุเพียง 61 พรรษา เพื่อเปิดทางให้พระราชโอรสองค์ที่สี่ “ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี” พระชนมายุ 33 พรรษา ซึ่งประสูติจากพระ ชายาองค์ที่สอง เสด็จขึ้นครองราชย์แทน กลายเป็นกษัตริย์หนุ่มอายุน้อยที่สุดในภูมิภาคอาหรับ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ “ชีค ฮาหมัด” ถือว่าผิดโบราณราชประเพณีของราชวงศ์อาหรับ ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประมุขทุกพระองค์จะทรงครองราชบัลลังก์ต่อเนื่องยาวนานกระทั่งเสด็จสวรรคต ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดของอาหรับที่ทรงสละราชสมบัติก่อนกาลอันควร

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการผลัดราชบัลลังก์ขึ้นในกาตาร์ หลัง “ชีค ฮาหมัด” ทรงปกครองประเทศมาร่วม 18 ปี กระนั้นนักวิเคราะห์ราชวงศ์อาหรับก็เชื่อมั่นว่า กษัตริย์หนุ่มองค์ใหม่จะยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบายของพระราชบิดา โดยเฉพาะการเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับมหาอำนาจตะวันตก และส่งเสริมการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ขณะเดียวกัน เป็นที่คาดการณ์ว่ากษัตริย์ผู้พ่อจะยังทรงรั้งตำแหน่งประธานกองทุนเพื่อการลงทุนแห่งชาติของกาตาร์ ซึ่งมีสินทรัพย์ในครอบครองทั่วโลกมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ภายใต้ราชวงศ์อัล ธานี ที่ปกครองรัฐกาตาร์มายาวนานเกือบ 150 ปี “ชีค ฮาหมัด” ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยการก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อจากพระราชบิดา “ชีค คาลิฟา” เมื่อ 18 ปีก่อน ขณะที่พระราชบิดาเสด็จฯแปรพระราชฐานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีพระราชวงศ์, กองทัพกาตาร์ และชาติเพื่อนบ้านหนุนหลัง

ตลอดรัชสมัยของ “ชีค ฮาหมัด” รัฐกาตาร์เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก โดยผงาดขึ้นเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคอาหรับ ทรงริเริ่มการเปิดเสรีทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งส่งเสริมให้กาตาร์แสดงบทบาทสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคอาหรับและบนเวทีโลก จนได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศอาหรับที่ทรงอิทธิพลที่สุดอันดับต้นๆของโลก นอกจากนี้ ยังทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในอาหรับ ที่ให้เงินสนับสนุนการก่อตั้งสถานีข่าวระหว่างประเทศแห่งแรกของภูมิภาคตะวันออกกลางชื่อว่า Al Jazeera ขณะเดียวกัน ก็ทรงตกเป็นเป้าโจมตีฐานให้การสนับสนุนกลุ่มอัล นัสรา ฟรอนต์ หนึ่งในเครือข่ายกลุ่มอัล กออิดะห์ในซีเรีย ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลในโลกอาหรับ โดยมีมหาอำนาจอย่างอเมริกา ชักใยอยู่เบื้องหลัง

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้จะเปิดเสรีขนาดไหน แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว “ชีค ฮาหมัด” ก็ยังคงกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือ โดยวางหมากให้พระบรม  วงศานุวงศ์ใกล้ชิด เข้าไปนั่งในคณะรัฐบาลคอยกำกับดูแลกระทรวงสำคัญๆทุกกระทรวงไม่ให้หลุดรอดสายตา แม้แต่พระชายาองค์ที่สองคือ “ชีคกา โมซาห์ บินต์ นัสเซอร์ อัล-มิสนัด” ซึ่งเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์องค์ใหม่ ก็ทรงเข้ามาช่วยงานด้านการศึกษาและเด็ก ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติของโลกอาหรับ ที่ผู้หญิงมักต้องเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่กับบ้าน

เมื่อปี 2012 นิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับให้ “กาตาร์” เป็นประเทศร่ำรวยที่สุดในโลกจาก 182 ประเทศ โดยวัดจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีต่อหัวต่อปี ที่ปรับตามความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ ทั้งนี้ ความร่ำรวยของกาตาร์มาจากการผลิตน้ำมัน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้น บวกกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่มีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอิหร่าน รัฐกาตาร์ยังโหมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ก๊าซเป็นของเหลวพร้อมส่งออก และทุ่มทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ตลอดจนเครือข่ายรถไฟทันสมัยที่สุด เพื่อปลุกปั้นกาตาร์ให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลกอาหรับ

สำหรับพระราชประวัติของกษัตริย์พระองค์ใหม่ “ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี” ประสูติเมื่อปี 1980 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ของ “ชีค ฮาหมัด” จากจำนวนพระราชโอรส 11 พระองค์ และพระราชธิดา 13 พระองค์ ซึ่งประสูติจากพระชายา 3 พระองค์ “ชีค ทามิม” ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาทอันดับหนึ่ง เมื่อปี 2003 หลังพระเชษฐา “ชีค จาซิม บิน ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี” ทรงสละพระอิสริยยศ

“ชีค ทามิม” ทรงถูกส่งไปร่ำเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ หลังจบไฮสคูลจากเชอร์บอร์น สคูล ในมณฑลดอร์เซ็ต ด้วยคะแนนสอบยอดเยี่ยมระดับ A-Levels เจ้าชายน้อยแห่งกาตาร์ทรงเดินตามรอยพระราชบิดา เข้าศึกษาหลักสูตรการทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ สถาบันวิชาการทหารชื่อดังของอังกฤษ เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 1998 เจ้าชายเสด็จกลับประเทศ และเข้าประจำการในกองทัพกาตาร์ โดยทรงติดพระยศร้อยตรี พระองค์อภิเษกสมรสกับพระประยูรญาติใกล้ชิด “ชีคกา จาวาเฮอร์ บินต์ ฮาหมัด บิน ซูฮาอิม อัล ธานี” เมื่อปี 2005 มีพระโอรสและพระธิดาด้วยกันอย่างละ 2 พระองค์ ส่วนพระชายาองค์ที่สอง อภิเษกสมรสเมื่อปี 2009 เป็นธิดาของเอกอัครราชทูตกาตาร์ประจำจอร์แดน ทั้งคู่มีพระโอรสและพระธิดาด้วยกันอย่างละ 1 พระองค์

รัชทายาทอันดับหนึ่งของกาตาร์ ทรงสั่งสมประสบการณ์เพื่อเตรียมขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ โดยแสดงฝีมือให้เห็นจากการกระชับความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียให้เข้มแข็งขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นประเทศเพื่อนบ้านคู่อริของกาตาร์ จนได้รับความไว้วางพระทัยจากพระราชบิดาให้รั้งตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในปี 2009 ท่ามกลางเสียงร่ำลือว่า “ชีค ทามิม” ทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกลุ่มกบฏในลิเบียที่เคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ผู้นำรัฐบาล

...

เช่นเดียวกับพระราชบิดาที่โปรดกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์วงการกีฬาของกาตาร์อย่างจริงจังต่อเนื่อง “ชีค ทามิม” ทรงริเริ่มก่อตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนด้านการกีฬาแห่งกาตาร์ เมื่อปี 2005 ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในปี 2006 องค์รัชทายาทอันดับหนึ่งยังเป็นองค์ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่กรุงโดฮา โดยได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก เพราะสามารถประสานสิบทิศจนชาติสมาชิกทุกชาติเดินทางมาร่วมมหกรรมกีฬาดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ผลจากความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้ทรงได้รับการโหวตจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอียิปต์ “Al Ahram” ยกย่องให้ “ชีค ทามิม” ทรงเป็นผู้นำด้านการกีฬาที่มีบทบาทยอดเยี่ยมที่สุดในโลกอาหรับ

ภายใต้การผลักดันของ “ชีค ทามิม” ยังเป็นครั้งแรกที่กาตาร์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสำคัญระดับโลกถึง 2 รายการ คือ การแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลก ปี 2014 และ มหกรรมฟุตบอลโลก ปี 2022 สำหรับภารกิจต่อไปที่จะพิสูจน์กึ๋นของกษัตริย์องค์ใหม่ได้แก่ การนำพาประเทศไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด นั่นคือการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 2020 ซึ่งเป็นสิ่งที่กษัตริย์หนุ่มรูปงามหมายมั่นปั้นมือมาก

แหล่งข่าวทางการทูตที่ใกล้ชิดราชวงศ์กาตาร์บอกเล่าว่า แม้ภาพลักษณ์ภายนอกของกษัตริย์องค์ใหม่จะแข็งกร้าวแบบชายชาติทหาร แต่ลึกๆแล้วสำหรับคนใกล้ชิดในครอบครัว กลับมองว่าพระองค์ทรงเปิดเผย, เป็นมิตร, มั่นใจในตัวเองสูง ทรงเป็นนักปฏิบัติตัวยง และอนุรักษนิยม อีกทั้งยังทรงรอบคอบ, ละเอียดถี่ถ้วน, ระมัดระวัง และฉลาดหลักแหลม ทรงมีสัมพันธภาพใกล้ชิดแนบสนิทกับมหาอำนาจชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส นักวิเคราะห์ราชวงศ์กาตาร์คาดการณ์ว่า ด้วยความที่เคร่งในศาสนาอิสลามมากกว่าพระราชบิดา เมื่อ “ชีค ทามิม” ขึ้นปกครองประเทศ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐกาตาร์จะได้รับการปลุกเร้าให้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนา และส่งเสริมเชิดชูจารีตประเพณีเก่าแก่ ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศอาหรับ.

...

ทีมข่าวหน้าสตรี