ธรรมรัตน์ โชควัฒนา (ที่ 3 จากขวา) ผู้บริหาร ไอ.ซี.ซี. นำทีมชักชวน บริจาคบราเก่าเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างรายได้ให้สตรี.

จุดประกายในการนำวัสดุบราเก่าไปต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างรายได้ จนประสบความสำเร็จ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) สานต่อโครงการ “บราเก่าของคุณ...อาชีพใหม่ของเขา ปี 2” เชิญชวนให้ร่วมกันบริจาคชุดชั้นในเก่า เพื่อนำวัสดุจากชุดชั้นในไปต่อยอดพัฒนาสร้างอาชีพต่อไป โดยจับมือกับสมาคมสตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย และบริษัท วีน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่จะมาร่วมแนะนำและฝึกสอนอาชีพในการทำผ่านสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์ เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พร้อมกันนี้ยังมีคนดังมาร่วมโชว์ไอเดียออกแบบและสร้างผลงานจากชุดชั้นในเก่าอีกด้วย ที่บริษัท ไอ.ซี. ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็วๆนี้


งานนี้ ธรรมรัตน์ โชควัฒนา ผู้บริหาร ไอ.ซี.ซี. กล่าวว่า โครงการนี้ต้องการกระตุ้นให้ผู้หญิงหันมาเช็กสุขภาพและเช็กสภาพชุดชั้นใน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดีไปพร้อมๆกัน ซึ่งชุดชั้นในเก่าที่ไม่ใช้แล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหน เราเลยคิดว่านำไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเอาวัสดุของชุดชั้นในเก่ามาพัฒนาเป็นสิ่งของต่างๆ โดยแนวคิดของโครงการไม่ต้องการเพียงแค่ให้บริจาค หรือหวังผลเพียงชั่วคราว แต่หวังที่จะให้เป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยสร้างจิตสำนึกและต่อยอดความยั่งยืนในระยะยาว จากที่ผ่านมา ผลจากความร่วมมือกับสมาคมสตรีอาสาสมัครฯ ประสบผลอย่างยิ่ง มียอดบริจาคถึง 10,000 ตัว ซึ่งเอาวัสดุมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย สำหรับในปีนี้ผู้สนใจที่จะร่วมโครงการสามารถนำชุดชั้นในเก่ามาร่วมบริจาคได้ที่เคาน์เตอร์วาโก้ทั่วประเทศ โดยทุกการบริจาคจะได้รับบัตรส่วนลดผลิตภัณฑ์วาโก้มูลค่า 200 บาท ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.56

โอกาสนี้ อรุณี ศิริวัฒน์ ผอ.สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวว่า สมาคม ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ โดยมีแผนที่จะนำบราที่ได้รับบริจาค ไปใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมฝึกอาชีพให้กับสตรีที่ประสบปัญหาด้านสังคมในบ้านพักฉุกเฉินของสมาคม ตลอดจนบุคคลภายนอกที่สนใจ ซึ่งทางสมาคมมีการจัดทำเวิร์กช็อปฝึกอาชีพที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับคนดังที่มาร่วมโชว์ไอเดียในการนำวัสดุจากบราเก่ามาพัฒนาเป็นสิ่งของใหม่ มีอาทิ แจน–นวณัฐ ศรียุกต์สิริ ซึ่งนำฟองน้ำในบราและสายขดลวดบรามาถักเป็นที่รองแก้ว ส่วน แพร–ลิสา จิรา ได้นำลูกไม้จากบรา มาเย็บกับปกเสื้อเก่าและตกแต่งด้วยกระดุมเสื้อลูกไม้ ขณะที่ นิว–มณชยา บุรกสิกร นำลูกไม้จากบรามาดัดแปลงเป็นที่คาดผม เป็นต้น.

...