อากาศแปรปรวนอาจทำให้เกิดอาการไอ เป็นๆ หายๆ หรือไอเรื้อรัง สร้างความรำคาญทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง ทั้งยังสร้างบุคลิกภาพที่ไม่ดี บริษัท ดีคอลเจน จำกัด จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ “กำจัดอาการไอ เริ่มชีวิตใหม่ที่สดใสซาบซ่าตั้งแต่ต้นปี” โดยเชิญ ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาให้ความรู้ โดยคุณหมอบอกว่า ทุกวันนี้คนไทยมีปัญหาเรื่องอาการไอกันมาก เพราะอากาศแปรปรวนและมลภาวะทางอากาศที่เลวร้ายลงทุกทีรวมถึงการใช้ชีวิตที่สมบุก สมบัน อาการไอนี้นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพอนามัยที่ดีแล้ว หากปล่อยให้เป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรัง ก็จะเสียบุคลิกและความมั่นใจ อีกทั้งเสียงไอและการมีเสมหะเป็นสิ่งรบกวน และเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง เราควรที่จะเรียนรู้เข้าใจสาเหตุและกลไกการไอ และทำการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี

คุณหมอมานพชัย กล่าวว่า อาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีลักษณะที่หลากหลาย จึงมีความจำเป็นต้องฉลาดเลือกใช้ยาที่เหมาะกับอาการ มิฉะนั้นก็จะไม่หายเสียที หรือกลายเป็นการไอที่เรื้อรัง ลักษณะของการไอบางครั้ง ก็ช่วยบอกสาเหตุได้ เช่น ไอแบบแห้งๆ ไม่มีเสมหะมักเกิดจากสารระคายเคืองมลภาวะต่างๆในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง แบบที่สอง คือ ไอและแน่นหน้าอกหายใจเร็วหอบเหนื่อย มักพบในผู้ป่วยโรคหอบหืดต้องใช้ยาขยายหลอดลม เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว และแบบที่พบบ่อยมากคือ ไอมีเสมหะ ลักษณะเสมหะจะช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ เช่น ถ้าเสมหะสีเหลืองเขียวข้น มักเกิดจากการติดเชื้อ ถ้าเป็นสีขาวใส มักเป็นอาการไอจากภูมิแพ้ หรือหอบหืด ส่วนการดูแลรักษานั้น คุณหมอมานพชัย กล่าวว่า สำหรับคนที่ไอและมีเสมหะร่วมด้วย ควรได้รับยากลุ่มละลายเสมหะ เช่น กลุ่มคาโบซิสเตอีน 500 มิลลิกรัม หรือกลุ่มบรอมเฮกซีน 8 มิลลิกรัม เพื่อลดความเหนียวข้นของ เสมหะ ทำให้เสมหะ ถูกละลายและขับออกมา และจะบรรเทาอาการไอดีขึ้น


“คนที่มีอาการ ไอแบบมีเสมหะนี้ ไม่ควรเลือกรับประทานยากลุ่มที่ระงับ หรือกดอาการไออย่างคนที่มีอาการไอแบบแห้งๆ เพราะยาเหล่านี้แม้จะทำให้อาการไอน้อยลง แต่ไม่ได้ช่วยให้เสมหะลดลง ในทางตรงข้ามจะยิ่งสะสมเสมหะในหลอดลมมากขึ้น อาจทำให้เกิดหลอดลมอุดตัน และเกิดการติดเชื้อ จนกลายเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงได้ตามปกติแล้ว หากรับประทานยาที่ถูกกับโรคและอาการ รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยแวดล้อมที่จะกระตุ้นอาการไอ โดยหมั่นดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำอย่างพอเพียง เสมหะจะลดลงภายใน 3-5 วัน อาการไอก็จะหายไปภายใน 5-7 วัน” คุณหมอมานพชัยกล่าวในที่สุด.

...