วินาทีนี้คงไม่มีปรากฏการณ์ใดจะเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เท่ากับการเปิดตัวโฉมใหม่ของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ที่ใช้เวลาแค่ 5 เดือนเท่านั้น ก็สามารถแปลงร่างจากสวรรค์ของนักช็อป ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมาหลายทศวรรษ ผงาดขึ้นเป็นเมืองแห่งไอเดียล้ำเทรนด์ที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ด้วยงบประมาณกว่า 1,800 ล้านบาท โดยการปฏิวัติวงการค้าปลีกขนาน ใหญ่ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงพิสูจน์ฝีมือของ “คุณแป๋ม–ชฎาทิพ จูตระกูล” ซีอีโอหญิงเหล็ก วัย 52 ปี แห่งค่ายสยามพิวรรธน์ กรุ๊ป ซึ่งได้รับการขนานนามเป็น “นารีขี่ม้าขาววงการศูนย์การค้าไทย” เพราะสร้างปาฏิหาริย์พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อะเมซิ่งครั้งแล้วครั้งเล่า

เข้ามาโลดแล่นในวงการค้าปลีกได้อย่างไร

“แป๋ม” ทำงานวงการนี้มา 25 ปีแล้ว เรียนจบบัญชี จุฬาฯ และไปเรียน ต่อปริญญาโท ด้านประกันภัย เจาะเฉพาะโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน เรียนจบกลับมาก็ไปทำงานที่ทิพยประกันภัย 3 ปี บอกตรงๆว่าในชีวิตนี้ไม่เคย คิดทำศูนย์การค้า ทั้งๆที่คุณพ่อเป็นคนก่อตั้งสยามพิวรรธน์ เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว และเป็นคนสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล กับศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ แต่ช่วงนั้น “แป๋ม” เกิดไม่สบายมาก เป็นฝีที่ไต เล่นเอาเกือบตาย หลังผ่าตัด หมอสั่งห้ามทำงานหนักปีหนึ่ง ก็เลยลาออกชั่วคราวมาพักฟื้น แต่คุณพ่อบอกว่าโดยธรรมเนียมบ้านเราไม่เคยมีใครอยู่บ้านเฉยๆ ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ทุกปิดเทอมคุณพ่อก็จะให้ลูกๆไปฝึกงาน ตอนนั้นมาบุญครองเพิ่งเปิด ส่วนสยามเซ็นเตอร์เปิดมาได้ 10 กว่าปีแล้ว เราคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรได้ แต่พ่อบอกว่าทุกอย่างในชีวิตคือการเรียนรู้ และวิธีที่จะเรียนรู้ได้ง่ายมาก คือมานั่งเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์สัก 3 เดือน รับรองว่าจะรู้ความเป็นไปในศูนย์หมดเลย ตอนนั้นมีผู้เช่าเดินมาดูหน้าว่า อ๋อนี่เหรอลูกสาวประธานบริษัท เข้ามาถามว่าคุณเรียนจบอะไรมา คุณไม่มีความรู้เรื่องค้าขายจะทำได้เหรอ

ซีอีโอหญิงเหล็กโตมาแบบคุณหนูไหมคะ

(ส่ายหน้า) ไม่จริงเลย!! คุณพ่อเป็นทหาร ท่านเลี้ยงลูกมาแบบทหาร พ่อจะสอนลูกเสมอว่า เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่าไปทำตามคนอื่นมาก ยังจำได้เลยว่า สมัยเด็กๆประมาณ 4 ขวบ คุณพ่อเป็นคนก่อตั้ง ททท.ต้องไปบุกเบิกทะเลบางแสน ครอบครัวเราก็ไปว่ายน้ำทุกอาทิตย์ มีอยู่วันหนึ่ง คุณพ่อเรียกเราขึ้นจากสระ มาถึงก็ถอดห่วงชูชีพเราออก แล้วจับเราโยนลงสระ ยังจำความรู้สึกของการจมน้ำได้อยู่เลย พอตะเกียกตะกายโผล่ขึ้นมา พ่อก็ตะโกนว่าให้ว่ายเข้าฝั่งเลย คุณแม่ยืนน้ำตาไหลอยู่ข้างสระ พอเราว่ายถึงฝั่ง พ่อก็จับทุ่มลงสระอีก 3 ครั้ง จนว่ายน้ำเป็นเลย!! และก็เป็นอย่างนั้นมาตลอดชีวิต พ่อบอกว่า ปัญหาและอุปสรรคคือของปกติในชีวิต เธอต้องเรียนรู้ว่าจะแก้มันยังไง

...

คุณพ่อถือเป็นแบบอย่างด้านใดบ้าง

คุณพ่อเป็นครูใหญ่ในชีวิต!! ท่านสอนอยู่แค่สองเรื่องคือ สอนให้เราคิด และสอนให้เป็นคนดี ไม่เคยสอนให้เป็นคนเก่ง จะพูดแต่ว่า หน้าที่และความรับผิดชอบต้องมาก่อนทุกอย่าง ที่สำคัญคือทุกอย่างอยู่ที่ใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานหรือใช้ชีวิต เราต้องทำงานกับคนหมู่มาก เมื่อมีอะไรเข้ามากระทบใจ ต้องดับที่ใจเรา ไม่ใช่ดับที่คนอื่น เราต้องแยกผิดชอบชั่วดีให้ได้ และทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ถ้าทำอย่างดีที่สุดไม่ได้ ก็อย่าทำซะดีกว่า ในที่ทำงานคุณพ่อทรีตเราเป็นพนักงานไม่ใช่ลูก และถ้าทำผิด ท่านจะดุเราเป็นสองเท่าของพนักงาน!! เวลาเราทำอะไรที่พลาด จะรู้สึกเสียใจคูณสองที่ต้องทำให้พ่อผิดหวัง หนักกว่าการเป็นหัวหน้ากับลูกน้อง

ฉายา “นารีขี่ม้าขาววงการศูนย์การค้าไทย” ได้มาอย่างไร

“แป๋ม” เป็นคนแปลกอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่เจอวิกฤตการณ์ จะเกิดปาฏิหาริย์เสมอ!! เราเป็นคนใจสู้ เป็นคนคิดอะไรดีๆออกเวลาเกิดแรงกดดัน ถ้าไม่มีเรื่องบีบคั้น สมองไม่แล่น!! “แป๋ม” เข้ามาทำงานสยามพิวรรธน์ ตอนปี 2528 ทำงานไป 5 ปี ผู้จัดการศูนย์การค้าลาออก ทางบอร์ดให้เราทำหน้าที่แทน สักพักบอร์ดคิดอยากสร้างศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ก็ส่งเราไปคุมโปรเจกต์ทั้งหมด เชื่อไหมเปิดแค่ 3 เดือน ก็เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ขาดทุนไปพันกว่าล้านบาท!! ตอนนั้นคุณพ่อบอกบอร์ดว่า ขอสเต็ปดาวน์เป็นประธานบอร์ดอย่างเดียว ส่วนตำแหน่งเอ็มดี คือ ซีอีโอปัจจุบัน ให้หาคนอื่นแทน ปรากฏว่าบอร์ดเลือก “แป๋ม”

เป็นเอ็มดีสู้วิกฤติ ซ้ำร้ายรถไฟฟ้าบีทีเอสก็กำลังตอกเสาเข็ม แทบไม่ต้องทำอะไรกันเลย ร้านค้าในดิสคัฟเวอรี่เป็นแบรนด์เนมทั้งนั้น ต้องปิดกันหมดเพราะปัญหาค่าเงิน ลูกค้าก็ไม่มาเดินในศูนย์ “แป๋ม” ประกาศกับร้านค้าว่าใครคิดว่าอยู่ไม่ไหว เรายอมให้คืนห้องเช่า และเอามัดจำคืนไป คุณพ่อพูดประโยคเดียวว่า วิกฤตินี้คือโอกาส เธอคิดออกไหมว่าจะทำยังไง เราไปนอนคิดอาทิตย์หนึ่ง ปรากฏว่าคิดออกเลย!! สมัยนั้นสยามเซ็นเตอร์เปิดมา 20 กว่าปีแล้ว ไม่เคยมีพื้นที่ว่าง อยากปรับเปลี่ยนศูนย์ยังไงก็ทำไม่ได้ เราบอกบอร์ดว่า ไหนๆตอนนี้ก็ไม่มีคนเดินแล้ว งั้นขอเพิ่ม 300 ล้านบาท เพื่อรีโนเวทสยามเซ็นเตอร์ เมื่อวันใดที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิด เราจะเปิดมาแบบพร้อมกว่าทุกคน ตอนนั้นตัดสินใจเจรจากับ “คุณคีรี กาญจนพาสน์” ขอเสียบต่อรถไฟฟ้าเข้าศูนย์การค้า พอบีทีเอส เปิดปุ๊ปเสียบปั๊ป ลูกค้าแทบจะเหยียบกันตาย

...

สไตล์การทำงานของ “คุณแป๋ม” เวลาทำอะไรต้องทุ่มเกินร้อย?!

พวกเราถูกสอนมาอย่างนั้น จะทำอะไรก็ตามในชีวิตนี้ต้องทำให้ถึงที่สุด ดีกว่ามานั่งเสียใจว่าควรทำให้ดีกว่านี้ แต่ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ถึงไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะไม่เสียใจ เพราะทุ่มเทเกินร้อยแล้ว คุณพ่อสอนตลอดว่า ศักดิ์ศรีมาก่อนเงิน ยอมเสียเงินดีกว่าเสียศักดิ์ศรี!! พ่อบอกว่า เวลาทำธุรกิจตอนวางแผนต้องคิดเบสต์เคสทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แต่พอลงมือบริหารจริงๆต้องคิดเผื่อเวิร์สเคส คือ กรณีที่เกิดเรื่องเลวร้ายที่สุด คุณพ่อเป็นคนแรกที่สอนเรื่อง “ไครซิส แมนเนจเมนต์” 20 ปีก่อนไม่เคยมีคำนี้!! พ่อบอกเลยว่า เธอทำศูนย์การค้าที่มีคนเดินวันละเป็นหมื่นเป็นแสน ต้องคิดเผื่อว่า ถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นในศูนย์การค้า จะทำยังไง เราต้องมีแผนที่เข้มข้นและรัดกุมรองรับหมด โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ในธุรกิจบริการ ถ้าเราทำดีไม่มีใครชมนะ เพราะถือเป็นหน้าที่ แต่ถ้าทำผิดนิดหนึ่ง โอ้โห!!

การจับมือกับเดอะมอลล์ฯทำสยามพารากอน พิสูจน์ว่าสิงห์สองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันได้?!

คนเราไม่ได้คิดเหมือนกันหมด แต่ถ้ามีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้สยามพารากอนชนะ และเป็นที่หนึ่งในประเทศ ทุกอย่างตกลงกันได้!! เราจับมือกับเดอะมอลล์ กรุ๊ป ทำสยามพารากอน ก็แฮปปี้ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน แม้จะมีวัฒนธรรมองค์กรคนละแบบ ก็อยู่รวมกันได้!! 10 ปีที่ทำธุรกิจกับ “พี่แอ๊ว” (ศุภลักษณ์ อัมพุช) ต้องยอมรับว่า “พี่แอ๊ว” เป็นคนเก่ง มีเซนส์ด้านการค้ามาก แต่สยามพิวรรธน์มีบอร์ด 15 คน ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศทั้งนั้น ทุกอย่างขึ้นกับนโยบาย และ “แป๋ม” มีหน้าที่ทำตามนโยบายของบอร์ดอย่างเคร่งครัด

...

ถ้าถูกปล้นศักดิ์ศรี ช่วงชิงสิ่งที่เป็นของเราจะยอมทนนิ่งเฉยไหม

ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของเรา หัวโขนทั้งนั้น!! “แป๋ม” มานั่งทำงานที่สยามพิวรรธน์ก็ไม่ได้เป็นของครอบครัวเรา แม้คุณพ่อจะเป็นคนก่อตั้งขึ้นมา และมีหุ้นอยู่บ้าง แต่กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหมด ที่เป็นส่วนหนึ่งของวังสระปทุม ให้เป็นโครงการที่เป็นศักดิ์ศรีแก่ประเทศ ชาติ เป็นสิ่งซึ่งนำเทรนด์ เป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์แก่สังคมและคนไทย วัตถุประสงค์หลักจึงไม่ใช่กำไร เพราะอยากสร้าง สยามพิวรรธน์ให้เป็น ต้นแบบบริษัทในอุดมคติของประเทศไทย พวกเรามาทำงานที่นี่เพื่อศักดิ์ศรีและเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล

เวลาเครียดๆ จากงาน มีวิธีปิดสวิตช์อย่างไร

จะบอกลูกน้องว่า เราทำงานบริการ ต้องเจอคนเยอะ ให้คิดเสมอว่ามีกระจกใสกั้นที่ใจเรา เวลามีคนด่าก็เหมือนเราถูกสาดน้ำ เราเห็นเรารับรู้ แต่ไม่เปียก!! แล้วเราจะไม่ทุกข์ใจ แรกๆก็ทำไม่ได้หรอก กลับบ้านไปร้องไห้ทุกวัน แต่ก็ค่อยๆฝึกตัวเองจนดีขึ้นเยอะ โชคดีที่คุณแม่สอนให้นั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก คุณพ่อยังสอนว่าสมองเราก็เหมือนลิ้นชัก ให้รู้จักเปิดปิดแต่ละเรื่องตามลำดับความสำคัญ เวลาคิดอะไรต้องไม่ใช้อารมณ์

...

อะไรคือคาถาความสำเร็จของเจ้าแม่ศูนย์การค้า

พ่อบอกเลยในชีวิตนี้ให้จำไว้ว่า มีเพียงสิ่งเดียวที่ช่วยชีวิตลูกได้คือ “สิบนิ้วยกมือไหว้!!” ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อะไร เราผิดเราถูกก็อย่าคิด ถ้าอยากให้ทุกอย่างจบด้วยดี สิบนิ้วนี้ถ้าเธอไหว้หมาได้ก็...!! พูดง่ายๆคือต้องไม่มีทิฐิมานะ ต้องไม่มีตัวตน สิบนิ้วนี้ถ้าทำให้เธอรอดมาได้ ทำไปเลย “แป๋ม” ยอมรับว่า สิบนิ้วนี้ช่วยมาตลอดชีวิต มันทำให้เราได้น้ำใจ ได้ความช่วยเหลือ ได้ความอุปการะมาตลอด

บ้างานขนาดนี้ ชีวิตนี้จะอยู่ได้ไหมโดยไม่ทำงาน

ตอนนี้ อายุ 52 ปีแล้ว ตั้งใจไว้ว่าจะเออลี่รีไทร์จากการเป็นซีอีโอของสยามพิวรรธน์ กรุ๊ป และสยามพารากอน ตอนอายุ 55 ปี เพราะเชื่อว่า การทำธุรกิจศูนย์การค้าต้องการคนที่ไฟแรงและไม่ตกยุค ชีวิตนี้ไม่เคยคิดเลยว่าจะชอบการทำศูนย์การค้า แต่วินาทีนี้รู้ตัวแล้วว่าเกิดมาเพื่อทำศูนย์การค้า เพราะชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทุกวัน เราเป็นเหมือนคอมโพสเซอร์ เล่นดนตรีไม่เก่งหรอก แต่เป็นคนรวมสิ่งดีที่สุด แล้วเอามาผสมผสานรวมกันสร้างสรรค์สิ่งดีที่สุด

ชีวิตหลังเกษียณ ฝันไว้อยากทำอะไร

ไม่อยากเป็นซีอีโอแล้ว เพราะเป็นงานที่หนักและต้องปกครองคนมาก ต้องวางแผนธุรกิจล่วงหน้า 5-10 ปี ถ้าเลือกได้อยากเป็นแค่คนทำศูนย์การค้า ขอแค่มีที่ดินหรือตึกสักแห่ง แล้วส่งเราไปเนรมิตขึ้นมาเป็นศูนย์การค้า แต่ชีวิตนี้ไม่เคยคิดเป็นเจ้าของศูนย์การค้า  เพราะการเป็นเจ้าของจะทำให้เป็นทุกข์ และหมดสนุก เราอยู่กับสยามพิวรรธน์มา 25 ปี จากหนึ่งบริษัทก็แตกเป็นบริษัทลูกถึง 13 บริษัท จากปีหนึ่งผลประกอบการ 300 ล้านบาท ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ล้านบาทต่อปี ก็คิดว่าได้ทำมาถึงจุดหนึ่งที่ภาคภูมิใจแล้ว

ถึงวันนี้ถ้าคะแนนเต็ม 10 ให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่

ให้คะแนนการทำงานตัวเองแค่ 5 เพราะถือว่าแค่สอบผ่าน แต่ถ้าเป็นเรื่องครอบครัว บทบาทความเป็นภรรยาและแม่ของลูก เชื่อว่าเราไม่เคยบกพร่อง ขอให้คะแนนตัวเอง 7 เต็ม 10 เราคงทำงานไม่ได้ ถ้าไม่มีครอบครัวที่อบอุ่น.

ทีมข่าวหน้าสตรี