เกิดมาในตระกูลมหาเศรษฐี ที่คนรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าตายาย ได้สร้างอาณาจักรธุรกิจไว้ให้จนยิ่งใหญ่ เป็นปึกแผ่น ด้วยความขยัน บากบั่น มุ่งมั่น มานะ อดทน เมื่อถึงคราวที่เหล่าทายาทเจ้าสัว “ซีอีโอเลือดใหม่” ต้องเข้ามารับช่วงสืบสานกิจการต่อ ภารกิจสำคัญจึงไม่หยุดอยู่แค่การรักษาความร่ำรวยมั่งคั่งที่หยั่งรากลึกมานาน แต่ยังต้องรุกคืบไปข้างหน้า เพื่อขยายอาณาจักรธุรกิจให้เติบโตงอกงามอย่างไม่หยุดยั้ง

ครองทำเนียบสุดยอดซีอีโอเลือดใหม่ระดับแนวหน้า ต้องยกให้ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ลูกชายคนโตของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าพ่ออาณาจักรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มูลค่าหลายแสนล้านบาท ผู้สร้างเนื้อสร้างตัวจากการเป็นพ่อค้าหอยทอด กระทั่งกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของเมืองไทย โดยจุดหักเหสำคัญที่ทำให้มีการถ่ายโอนอำนาจจากเจ้าสัวรุ่นพ่อสู่เจ้าสัวรุ่นลูก เกิดขึ้นในปี 2547 เนื่องจาก “เจ้าสัวเจริญ” ต้องการนำกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มทั้งหมด 47 บริษัท ผนึกรวมเป็นบริษัทโฮลดิ้งในชื่อ “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)” เพื่อแลกกับการนำธุรกิจน้ำเมาเข้าไประดมทุนในตลาด หลักทรัพย์ ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ ถ่ายโอนกิจการให้แก่ ทายาทรุ่นที่สอง เพื่อสานต่อโมเดลใหม่ของธุรกิจสุรา และผลจากการปรับใหญ่ในครั้งนั้น ทำให้ลูกชายคนโต คือ “ฐาปน” ได้รับมอบหมายภารกิจหนักอึ้งตามธรรมเนียมจีน โดยยกให้ดูแลการจำหน่าย โฆษณา และการตลาด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอาณาจักรไทยเบฟเวอเรจ

“ฐาปน” สร้างผลงานโดดเด่นให้ยุทธจักรน้ำเมาซูฮก ด้วยการเรียกส่วน แบ่งการตลาดคืนให้กับเบียร์ช้าง หลังเสียส่วนแบ่งให้คู่แข่งเบียร์ลีโอของค่ายบุญรอดไปมากโข จากเดิมที่เคยครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 70% ช่วงปี 2545-2546 เพราะใช้กลยุทธ์ทุ่มตลาดและขายเหล้าพ่วงเบียร์ กระนั้น สไตล์การบริหารของเจ้าสัวน้อย วัย 37 ปี แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุคก่อน เพราะเขาคิดแบบนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่อยากชนะแบบแฟร์เกม และไม่นิยมการใช้วิชามาร ยุคแรกของการกุมบังเหียนธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นยุคที่ “ฐาปน” ต้อง พยายามสร้างความสมดุลระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ พร้อมๆกับการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันโลกทุกสถานการณ์ โดยไม่ลังเลใจที่จะดึงนักบริหารมืออาชีพตัวจริงเข้ามาเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง ว่ากันว่า ทายาทคนที่สามของ “เจ้าสัวเจริญ” มีนิสัยใจคอถอดแบบมาจากพ่อเปี๊ยบ โดยเฉพาะเรื่องความใจกว้างดุจแม่น้ำ การทุ่มเทขยันทำงาน อดทน เสียสละ สุขุม และยึดหลักบุญคุณต้องทดแทน หนี้แค้นไม่ต้องชำระ สำหรับความท้าทายใหม่ที่จะวัดฝีมือความเป็นหนึ่งของซีอีโอดาวรุ่งผู้นี้ก็คือ การเตรียมสรรพกำลังให้พร้อมตะลุยออกไปลงทุนทั่วอาเซียน เพื่อคว้าโอกาสทองจากการเปิดประตูเสรีของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 งานนี้ใครยึดฐานที่มั่นได้ก่อนมีชัยไปกว่าครึ่ง!!

หนึ่งในข่าวใหญ่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือ การสูญเสีย “โกเหลียว-เฉลียว อยู่วิทยา” มหาเศรษฐีอันดับสามของเมืองไทย ด้วยวัย 89 ปี “โกเหลียว” คือผู้ปลุกปั้นสร้าง “กระทิงแดง” และ “เรดบูล” จนกลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลังอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งมีชื่อเสียงระบือไกลไปทั่วทุกมุมโลก การจากไปของ “โกเหลียว” เจ้าของฉายามังกรซ่อนเล็บ ผู้ใช้ชีวิตอย่างสมถะ ติดดิน และเก็บเนื้อเก็บตัวที่สุด ทำให้เกิดคำถามว่า อาณาจักรกระทิงแดงจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และใครคือซีอีโอยุคใหม่ที่จะก้าวขึ้นมากุมบังเหียนแทน ในขณะที่สื่อส่วนใหญ่คุ้นเคยกับชื่อเสียงของลูกชายคนโตคือ “เฉลิม อยู่วิทยา” ในฐานะ ผู้บุกเบิกตลาดเรดบูลในต่างประเทศ ความโดดเด่นของ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ลูกชายคนเล็กสุด ในจำนวนทายาท 11 คน ของ “โกเหลียว” ซึ่งเกิดจากภรรยาคนที่สอง เพิ่งฉายแววชัดเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ทั้งๆที่เข้ามารับช่วงสานต่องานของพ่อในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ร่วมกับพี่สาว “สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา” ได้เกือบ 20 ปีแล้ว โดยเขาพิสูจน์ฝีมือให้เห็นจากการปรับโครงสร้างบริษัท เพื่อรุกคืบขยายอาณาจักรธุรกิจให้กว้างไกลออกไปอีก จากเดิมที่บริหารงานแบบครอบครัว และอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่างอยู่ที่ “โกเหลียว” เพียงคนเดียว เมื่อถึงยุคของ “สราวุฒิ” ได้มีการดึงผู้บริหารอาชีพเข้ามาช่วยทำงานอีกแรง พร้อมกับมีการแบ่งฝ่ายแบ่งแผนกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ทิศทางการขยายธุรกิจยังคงเดินตามรอยที่ “เจ้าพ่อกระทิงแดง” ปูทางไว้ คือ การทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุดจะได้ไม่เจ็บตัว นอกจากการรักษาแชมป์เครื่องดื่มชูกำลังอันดับหนึ่งของเมืองไทยไว้ได้สำเร็จ เขายังสยายปีกขยายธุรกิจไปสู่ตลาดเครื่องดื่มอื่นๆ และอาหาร ซึ่งยังอยู่ในแวดวงเดียวกัน ถ้าถามถึงคัมภีร์ความสำเร็จของกระทิงแดง นายน้อยแห่งบ้านอยู่วิทยายืนกรานว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความสามัคคีของครอบครัว โดย “โกเหลียว” ปลูกฝังมาตลอดว่า พี่น้องได้มาโดยสายเลือด ส่วนเพื่อนหาได้ตลอดเวลา พี่น้องมีเท่านี้สร้างใหม่ก็ไม่ได้ มีแต่จะหดหายไป เป็นพี่น้องต้องสามัคคีกัน งานมีไว้ให้แบ่งกันทำ ส่วนเรื่องจะขัดแย้งผลประโยชน์คงไม่มี เพราะเจ้าสัวติดดินสอนให้ลูกๆอยู่ง่ายกินง่าย ไม่ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย จึงไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งเงินทองกัน

มหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง ที่ยึดมั่นในคุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต คงไม่มีใครเกิน “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ผู้สร้างความยิ่งใหญ่ ให้อาณาจักรธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ จนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย และเจ้าแห่งธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอันดับ หนึ่งของเอเชีย มีพนักงานถึง 250,000 คนทั่วโลก นอกจากธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารและการเกษตร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ เครือซีพียังสยายปีกไปสู่ธุรกิจโทรคมนาคมด้วย เมื่อปี 2533 โดย เริ่มจากการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต โดยมี “ศุภชัย เจียรวนนท์” บุตรชายคนที่สี่ วัย 44 ปี ของ “เจ้าสัวธนินท์” ได้รับมอบหมาย ให้เข้ามาบุกเบิกธุรกิจใหม่ เพื่อตะลุยตลาดด้านโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการสื่อใหม่ๆ ภายใต้ชื่อบริษัท เทเลคอม เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ ย้อนกลับไปในยุคแรกของการทำงาน “เจ้าสัวน้อยบ้านซีพี” ต้องเรียนรู้อย่างหนัก เนื่องจากเทคโนโลยีและการบริหารจัดการยังเป็นของใหม่มากในยุคที่ธุรกิจโทรคมนาคมไทยเพิ่งจะเฟื่องฟู กระทั่งมาเจอวิกฤติค่าเงินบาท ในปี 2540 ส่งผลให้หนี้บริษัททะยานขึ้นเป็นสองเท่าตัว มีมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท เจ้าสัวน้อยจึงต้องออกโรงเดินสายเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ผลจากการนำองค์กรฝ่าคลื่นลมมรสุมใหญ่ในครั้งนั้น ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้รั้งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ในฐานะ  กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน

ภายใต้ศักราชใหม่ของซีอีโอหนุ่มไฟแรง สิ่งแรกที่เขาทำก็คือการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ขององค์กร โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทจากทีเอ เป็น “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” และแม้จะยังแบกหนี้สินมหาศาลจากวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ “เจ้าสัวน้อยซีพี” ก็ไม่เคยท้อถอย ยังคงเดินหน้าผลักดันจน “ทรู มูฟ” ขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับสามของประเทศ พร้อมกับรุกคืบขยายกิจการด้านโทรคมนาคมออกไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คนรอบข้างมองว่า “ทรู” ล้มละลาย แต่ “ศุภชัย” กลับไม่เคยท้อถอย และบอกตัวเอง เสมอว่า เมื่อติดลบแล้ว ก็คงไม่มีอะไรจะเสียไปกว่านี้ ถ้าเดินหน้าต่อไปได้ก็น่าจะมีแต่ได้ และน่าจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเขาเชื่อมั่นว่า ในทุกความ เปลี่ยนแปลงย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ อยู่ที่เราจะเลือกมองมุมไหน และโอกาสใหม่ที่กำลังมาถึงก็คือ การประมูลใบอนุญาต 3G ที่ “ซีอีโอค่ายทรู” มั่นอกมั่นใจว่า จะเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้ “ทรู” ก้าวจากเบอร์สาม ขึ้นแท่นเป็นผู้นำ เพราะข้อจำกัดเรื่องเครือข่ายที่เคยเป็นจุดอ่อนได้ถูกแทนที่ด้วยเครือข่าย 3G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีความเร็วสูง ที่จะช่วยเติมเต็มความฝันการเป็นผู้นำชีวิตคอนเวอร์เจนซ์ ซึ่งปูพื้นฐานมานานเกือบ 10 ปี

“ตระกูลภิรมย์ภักดี” ติดโผตระกูลมหาเศรษฐีอันดับ 6 จากการจัดโผ 40 อันดับมหาเศรษฐีเมืองไทยของนิตยสารฟอร์บส์ ประจำปี 2555 มีสินทรัพย์ในครอบครองมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนึ่งในตระกูลมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่กลุ่มของเมืองไทยยุคปัจจุบัน ที่ยังคงเป็นธุรกิจครอบครัวเต็มสตีม นับจากวันแรกที่โรงเบียร์แห่งแรกของประเทศไทยถือกำเนิดขึ้น เมื่อปี 2477 “บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” ต้องฝ่าร้อนฝ่าหนาวมาหลายชั่วอายุคน กระทั่งสามารถยืนหยัดได้แข็งแกร่งมั่นคง และเติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ภายใต้การกุมบังเหียนของ “สันติ ภิรมย์ภักดี” ลูกชายคนที่สองของ “ประจวบ ภิรมย์ภักดี” หัวเรือใหญ่สำคัญที่นำพากิจการของบุญรอดให้เติบใหญ่เป็นปึกแผ่นจวบจนถึงปัจจุบัน ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ค่ายบุญรอด ซึ่งเติบโตในสายการตลาด การขาย และโฆษณา “สันติ” ซุ่มเงียบมาเกือบ 10 ปี เพื่อบ่มเพาะลูกชายทั้งสองคือ “เต้–ภูริต ภิรมย์ภักดี” วัย 35 ปี และ “ต๊อด–ปิติ ภิรมย์ภักดี” วัย 33 ปี ให้เติบโตขึ้นเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของบุญรอดเต็มตัว ซึ่งวันนี้ลูกสิงห์สองพี่น้องพร้อมแล้วที่จะรับบทบาทความรับผิดชอบสูงขึ้น โดยปัจจุบัน ทั้งคู่รั้งตำแหน่ง กรรมการบริหารบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด โดยคนพี่ “เต้” เน้นดูแลด้านการพัฒนาธุรกิจและฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ขณะที่คนน้อง “ปิติ” รับหน้าเสื่อดูแลผลิตภัณฑ์หลักที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ท่ามกลางการติวเข้มของบรรดาขุนพลเก่าแก่ ที่ร่วมกอดคอกันสร้างอาณาจักรบุญรอดมาหลายทศวรรษ ในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ สองสิงห์พี่น้องวาดฝันไว้ร่วมกันว่า อนาคตของแบรนด์สิงห์จะต้องเป็นเครื่องหมายการันตีสินค้าคุณภาพ ซึ่งอาจไม่จำกัดอยู่แค่เครื่องดื่ม นับเป็นอีกก้าวสำคัญของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ในการสยายปีกทางธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง ท่ามกลางการแข่งขันขับเคี่ยวรุนแรง

ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทย คงไม่มีใครจะยิ่งใหญ่อหังการเท่ากับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 63 ปีที่แล้ว ด้วยวิสัยทัศน์ของ “ป๊ะกำพล วัชรพล” เจ้าของตำนานราชาหนังสือพิมพ์ โดยในช่วง 2-3 ปีมานี้ อาณาจักรธุรกิจสื่อยักษ์ใหญ่หัวเขียวค่อยๆสยายปีกไปสู่พรมแดนใหม่ เพื่อเตรียมรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิตอลที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีหลานตาคนโต “จูเนียร์–วัชร วัชรพล” ลูกชายสุดรัก วัย 32 ปี ของ “ผอ.ยิ่งลักษณ์ วัชรพล” รับอาสาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสื่อแขนงอื่นๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในอนาคตให้บริษัท วัชรพล จำกัด ในฐานะ ซีอีโอ รุ่นใหม่แห่งบริษัท Trend VG3  ซึ่งเปิดขึ้นใหม่เพื่อรองรับการขยายธุรกิจสื่อออนไลน์และสื่อแขนงอื่นๆ งานนี้ มีการเปิดตัวทายาทรุ่นใหม่ของตระกูลวัชรพลอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อต้นปี 2552 ในการแถลงข่าวแนะนำธุรกิจส่งข่าว SMS ร่วมกับค่ายเอไอเอส และตามมาด้วยค่ายดีแทค “ซีอีโอหนุ่มไฟแรง” ทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาเว็บไซต์ข่าวไทยรัฐมาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ปี กระทั่งเว็บไซต์ข่าวไทยรัฐขึ้นแท่นเป็นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์อันดับหนึ่งของเมืองไทย มียอดคนดูวันละมากกว่า 2 ล้านวิว และทำลายสถิติขายพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ได้สูงสุดไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จในการปลุกปั้นเว็บไซต์ข่าวไทยรัฐให้คึกคักขึ้นมาอยู่แถวหน้า “ซีอีโอหนุ่มรูปหล่อ” เผยไต๋ว่า ต้องรู้จักแบ่งแยกหน้าที่ของเราให้ชัดเจน เพื่อผสมผสานจุดเด่นความเข้มข้นและน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษ กับความรวดเร็วทันใจในการนำเสนอข่าวของสื่อออนไลน์ ถ้ารู้จักธรรมชาติของแต่ละช่องทาง และเข้าใจถึงนิสัยของผู้บริโภค รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง ในอนาคตอันใกล้นี้ เขายังขอท้าพิสูจน์ฝีมืออีกครั้ง ด้วยการบุกตะลุยธุรกิจทีวีอย่างเต็มรูปแบบ ตามลุ้นต่อไปในปีหน้าว่า “ทีวีไทยรัฐ” จะฮิตฮอตระเบิดขนาดไหน

ทำเนียบซีอีโอเลือดใหม่คงจะสมบูรณ์แบบไม่ได้ ถ้าขาดสองศรีพี่น้องตระกูลมหาเศรษฐีชื่อสนั่นโลก “เอม–พินทองทา ชินวัตร” และ “อุ๊งอิ๊ง–แพทองธาร ชินวัตร” ทั้งคู่ติดโผมหาเศรษฐีหุ้นไทย อันดับที่ 53 และ 47 ในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยปี 2555 โดยน้องสาวคนเล็กถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อยู่ 29.22% คิดเป็นมูลค่าเกือบ 3,500 ล้านบาท ฝ่ายพี่สาวถือหุ้น SC อยู่ 28.28% มูลค่ากว่า 3,300 ล้านบาท เฉพาะปีนี้หุ้น SC ปรับตัวขึ้นมากกว่า 65% จากปีที่แล้ว แม้จะรวยอื้อซ่าส์เป็นเสือนอนกิน แต่สองพี่น้องตระกูลชินวัตรก็ยังขยันขันแข็งคิดโปรเจกต์ใหม่ๆออกมาอยู่ตลอด ล่าสุด จับมือแท็กทีมกันเปิด บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อคว้าโอกาสจากช่องว่างทางธุรกิจของค่าย SC ซึ่งปัจจุบันส่งไม้ต่อให้ “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” สามีของ “เอม” ดูแลกิจการสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมเต็มตัว สำหรับธุรกิจใหม่ ทั้งสองศรีพี่น้องแบ่งหน้าที่กันเป็นซีอีโอและรองซีอีโอ เน้นการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับค่าย SC โดยช่วงแรกบุกตะลุยไปที่โรงแรมและอีเวนต์ ฮอลล์เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังนำที่ดินเก่าที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น พร้อมกว้านซื้อที่ดินใหม่ๆเข้ามาสะสมในพอร์ต เพื่อเตรียมพัฒนาคอมมิวนิตี้มอลล์ในอนาคต

มังกรรุ่นใหม่จะฟัดกันนัวเนีย หรือจับมือเป็นพันธมิตร เพื่อกุมเศรษฐกิจไทยไว้ในมือ ต้องจับตามองกันต่อไปทศวรรษหน้า!!

...

ทีมข่าวสตรีไทยรัฐ