เพิ่งได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นตระกูลมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสองของเมืองไทย สำหรับ ตระกูลจิราธิวัฒน์ โดยมีทรัพย์สินสูงถึง 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยราว 217,000
ล้านบาท นอกจากจะมั่งคั่งจากการทำธุรกิจค้าปลีก, ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า ในนามของเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป หนึ่งในธุรกิจหลักที่สร้างรายได้มหาศาลให้ตระกูลจิราธิวัฒน์ ยังรวมถึงโรงแรมและรีสอร์ท ซึ่งปลุกปั้นโดย “เจ้าสัวสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ด้วยวิสัยทัศน์ยาวไกลที่เล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการเมืองไทย ซึ่งเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใครในโลก
เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ทศวรรษของการก่อตั้งโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา “เจ้าสัวสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” เปิดห้องทำงานใหญ่ บนชั้น 25 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ แบงค็อก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นกองบัญชาการหลัก ให้ทีมข่าวสตรีไทยรัฐได้สัมภาษณ์เจาะลึกถึงตำนานแห่งความสำเร็จของเจ้าสัวแสนล้าน เริ่มต้นจากมือเปล่ากระทั่งผงาดขึ้นเป็นผู้นำเชนโรงแรมของคนไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเครือโรงแรมที่มีคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ใหญ่ที่สุดของเอเชีย โดยปัจจุบันมีโรงแรมอยู่ในเครือ 55 แห่ง รวมห้องพักกว่า 10,000 ห้อง ใน 8 ประเทศทั่วโลก
ตำนานการก่อตั้งโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราเริ่มต้นขึ้นอย่างไร
ชีวิตผมหลายๆอย่างเกิดขึ้นโดยบังเอิญ เช่นเดียวกับการสร้างธุรกิจโรงแรมแห่งแรก ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยมือเปล่า เพราะไม่เคยมีใครในครอบ-ครัวทำมาก่อน พี่ชายคนโตคือ “คุณสัมฤทธิ์” ฝันอยากสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานจริงๆ เหมือนต่างประเทศ เพราะสมัยนั้นเมืองไทยมีแต่ห้างสรรพสินค้าที่อยู่ตามห้องแถว ส่วนคนค้าขายก็พักอยู่ข้างบน ผมกับพี่ชายจึงเดินทางไปดูงานตามเมืองใหญ่ๆในต่างประเทศ พบว่าฝรั่งนิยมสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่อยู่นอกเมือง ซึ่งมีชุมชนอาศัยรอบๆ จึงอยากนำรูปแบบนี้มาใช้ในเมืองไทยบ้าง ช่วงนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดให้เอกชนประมูลที่ดินรกร้างรูปสามเหลี่ยมบริเวณแยกลาดพร้าว เพื่อทำโครงการเชิงพาณิชย์ “คุณสัมฤทธิ์” จึงนำทีมเสนอโครงการพัฒนาที่ดินเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แบบครบวงจร มีห้างสรรพสินค้า สำนักงานออฟฟิศ และศูนย์แสดงสินค้า เมื่อเห็นโครงการ “นายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์
ชมะนันทน์” เสนอว่า ควรจะมีโรงแรมด้วย เวลานักท่องเที่ยวเดินทางมาจากสนามบินดอนเมืองจะได้เชิดหน้าชูตาประเทศ มีข้อแม้ว่าไม่ต้องการโรงแรมขนาดเล็กๆ แต่ต้องเป็นโรงแรมขนาดใหญ่มีตั้งแต่ 400 ห้องขึ้นไป เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่มาก ทางเราได้ชวน “คุณอุเทน เตชะไพบูลย์” มาเป็นประธานโครงการ และร่วมกันประมูลที่ดินด้วยเงินทุนมากกว่า 500 ล้านบาท ในนามของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด โดย “คุณสัมฤทธิ์” ประกาศว่าจะไม่ขยายโครงการเพิ่ม และทุ่มทำโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพราะต้องใช้เงินลงทุนหลักพันล้าน เราหยุดขยายธุรกิจไปกว่า 10 ปี ตอนนั้น “คุณสัมฤทธิ์” มอบหมายให้ผมลุยเรื่องโรงแรม
ยุคก่อตั้งของโรงแรมเหนื่อยสาหัสขนาดไหน
เป็นโครงการที่เหนื่อยที่สุด เพราะตะลุยทำแบบไม่มีประสบการณ์อะไรเลย จากเดิมที่ตั้งใจทำ 400 ห้อง ก็ต้องขยายเป็น 600 ห้อง เราชวนเครือโรงแรมไฮแอท ซึ่งมีประสบการณ์มาร่วมบริหาร เซ็นสัญญากัน 5 ปี โดยมีข้อแม้ว่าต้องทำกำไรให้ได้ตามเป้า พอบริหารไปได้ 3 ปี ปรากฏว่าขาดทุน 300-400 ล้านบาท ผมจึงเสนอ “คุณสัมฤทธิ์” ว่า ขอบริหารโรงแรมเองดีกว่า ถ้าเราทำกันเอง จะได้เรียนรู้ และแก้ปัญหาถูกจุด ก็ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาตั้งแต่วันนั้น ต้องใช้เวลานานกว่าพี่น้องจะเห็นด้วย หลังจากทำที่ลาดพร้าวได้ 5 ปี เริ่มเข้าที่เข้าทางบ้างแล้ว ผมก็ไปประมูลที่ดินของการรถไฟที่หัวหินมาได้ แต่คราวนี้ “คุณสัมฤทธิ์” ไม่ยอมให้ทำ เพราะขาดทุนมาแล้วหลายร้อยล้านบาท และบอกว่าเราควรทำธุรกิจที่ถนัดจะดีกว่า ผมคงเป็นเด็กดื้อของครอบครัว จึงดึงดันขอทำเอง เพราะคิดว่าน่าจะทำได้ โดยติดต่อเพื่อนฝรั่งมาเข้าหุ้นด้วย ตอนนั้น ผมค่อยๆปล่อยมือจากงานบริหารห้างสรรพสินค้า ซึ่งคลุกคลีมานานกว่า 10 ปี และหันมาทุ่มให้กับธุรกิจโรงแรมเต็มตัว “คุณสัมฤทธิ์” โมโหพอสมควร แต่โชคดีที่ได้พี่ๆคนอื่นสนับสนุน โดยเฉพาะพี่สาวทั้งสามคนคือ คุณหญิงสุจิตรา มงคลกิติ, คุณมุกดา เอื้อวัฒนะสกุล และคุณรัตนา นรพัลลภ พอทำตรงนี้สำเร็จ ผมก็ขยายไปเปิดที่สมุยอีกแห่ง แม้จะยังไม่เห็นกำไร แต่ผมก็อยากทำ เพราะมั่นใจว่าธุรกิจนี้ไปได้สวยแน่ๆ
อะไรทำให้มั่นใจกับอนาคตของธุรกิจโรงแรม ทั้งๆที่มีเสียงค้านรอบด้าน
ผมมั่นใจมาตลอดว่า จุดแข็งของประเทศไทยอยู่ที่การท่องเที่ยวและบริการ ตลาดยังขยายไปได้อีกมาก เพราะเมืองไทยมีของดีอยู่เยอะแยะที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม, อาหารการกิน, แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอัธยาศัยไมตรีจิตของคนไทย ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ที่ใครก็สู้เราไม่ได้ เสียดายที่รัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ผมคิดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศได้อย่างมหาศาล ดีกว่าการส่งออกสินค้าด้วยซ้ำ ซึ่งการแข่งขันสูง และต้องไปอ้อนวอนให้คนมาซื้อของเรา ที่สำคัญถ้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเฟื่องฟู คนไทยทุกระดับก็พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย ที่จริงเราน่าจะเจริญกว่านี้หลายเท่า ถ้ารัฐบาลวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งแรกที่ต้องทำเลยก็คือ ปราบปรามพวกที่หลอกลวงนักท่องเที่ยว
การทำธุรกิจโรงแรมมีความยากง่ายแตกต่างจากห้างสรรพสินค้าอย่างไร
เป็นงานบริการทั้งคู่ แต่ผมคิดว่างานโรงแรมเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านบริการมากกว่าหลายเท่าตัว และเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน ต้องให้เวลาตลอด 24 ชั่วโมง การทำห้างสรรพสินค้าใช้เวลาแค่ 3 ปีก็มีกำไรแล้ว ไม่เหมือนทำโรงแรม เราขายนักท่องเที่ยวต่างประเทศ กว่าคนจะรู้จักต้องใช้เวลาเกิน 7 ปี แต่ถ้าติดตลาดแล้วก็เดินหน้าลูกเดียว
อะไรคือสูตรลับของเซ็นทารา ที่ทำให้ทิ้งห่างคู่แข่งมาไกล
ปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จก็คือ ทำเลที่ตั้ง, ทำเลที่ตั้ง และทำเลที่ตั้ง!! ผมเชื่อว่า ถ้าเราได้ทำเลที่ดีที่สุด ถึงแม้จะแพงที่สุด แต่ในอนาคตคู่แข่งก็สู้เราไม่ได้ คำว่าดีที่สุด นอกจากจะต้องสะดวกสบายสำหรับการเดินทาง ยังต้องมีองค์ประกอบครบถ้วนด้วย ในความหมายของผมก็คือ ถ้าเป็นทะเล ก็ต้องมีหน้าหาดกว้าง ทรายละเอียดไม่ดำไม่มีกรวด น้ำทะเลใสทุกฤดูกาล โรงแรมส่วนใหญ่ในเครือเซ็นทาราจะเน้นไปที่ทะเลเป็นหลัก เพราะผมเชื่อว่าถ้าจะดึงคนให้มาพักนานๆต้องไปที่ทะเล สิ่งสำคัญอีกอย่างของการทำธุรกิจโรงแรมก็คือ การบริการ เราต้องขายความเป็นไทยคือ “Thainess” สมัยก่อนนักท่องเที่ยวเรียกเมืองไทยว่าเป็น “Land of Smile” แต่ทุกวันนี้ เราพัฒนาไปถึงขั้นเป็น “Land of 1,000 Smiles” ไม่ว่าจะไปที่ไหนคนไทยทุกคนยิ้มหมด ฉะนั้น เรื่องคุณภาพการบริการแบบไทยๆ คือจุดดึงดูดให้แขกกลับมาหาเราอีก
อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด
ผมคิดว่าเป็นช่วงที่เรารีแบรนดิ้งเปลี่ยนชื่อและโลโก้โรงแรม เมื่อ 5 ปีก่อน เพื่อสลัดภาพความเป็นโรงแรมในเมือง ซึ่งทำให้ขายยากและไม่ได้ราคาในสายตานักท่องเที่ยวยุโรป โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เซ็นทารา” ซึ่งฟังดูมีเอกลักษณ์แบบไทยๆ และยังเชื่อมโยงกับธุรกิจหลักของครอบครัว จากจุดนั้น เราก็เริ่มขยายธุรกิจแบบรุกคืบมากขึ้น โดยปัจจุบันมีโรงแรมถึง 6 แบรนด์ด้วยกันในเครือ คือ CENTARA GRAND HOTELS & RESORTS, CENTARA HOTELS & RESORTS, CENTARA RESIDENCE & SUITES, CENTARA BOUTIQE COLLECTION, CENTARA HOTELS & RESORTS และ COSI รวมจำนวน 55 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเราเป็นโรงแรมของคนไทยเจ้าแรกที่รับจ้างบริหารในรูปแบบเชนโรงแรมด้วย นอกจากโรงแรมในประเทศ เรายังรับบริหารโรงแรมในต่างประเทศหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะมัลดีฟส์, ประเทศศรีลังกา, เมืองกัว ประเทศอินเดีย, ประเทศเวียดนาม, เกาะบาหลี, ประเทศฟิลิปปินส์, นอกเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และเกาะมอริเชียส รวมๆแล้วตอนนี้มีห้องพักในเครือมากกว่า 10,000 ห้อง อีกจุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนตัดสินใจทำโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช พัทยา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยเป็นคนแรกที่นำคอนเซปต์ “ธีมโฮเต็ล” สไตล์ลาสเวกัส มาใช้ในเมืองไทย เนรมิตให้โรงแรมเป็นดินแดนมหัศจรรย์ยุคโลกล้านปีแบบ “Lost World” ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ผมกำลังจะลุยโปรเจกต์ใหม่ที่ชะอำ ซื้อที่ดิน 120 ไร่ เก็บไว้ 20 ปีแล้ว ตั้งใจว่าจะสร้างให้เป็น “ธีมโฮเต็ล” ที่ยิ่งใหญ่อลังการที่สุดในเมืองไทย แต่ขออุบคอนเซปต์ไว้ก่อน
ลูกๆเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระได้เยอะไหม
ผมโชคดีที่ลูกชายสามคนโตเลือกเรียนการโรงแรมและบริหารธุรกิจกันหมด เพราะตั้งใจเข้ามาช่วยกิจการครอบครัว โดยคนโตคือ “ธีระเดช” เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ป จำกัด ช่วยดูแลธุรกิจด้านร้านอาหารทั้งหมดของตระกูลจิราธิวัฒน์ ส่วนลูกชายคนรอง “ธีระ-ยุทธ” เมื่อต้นปีนี้ได้เข้ามารับช่วงเป็นซีอีโอบริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ลูกชายคนที่สาม “ธีระเกียรติ” ช่วยดูแลเรื่องการจัดซื้อของโรงแรมทั้งหมด ขณะที่ลูกชายคนเล็กคือ “ป๊อก-ภัสสรกรณ์” เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากบอส-ตัน และเริ่มเข้ามาช่วยงาน
ด้านการตลาดที่โพสต์พับลิชชิ่ง ลูกๆทุกคนต้องเริ่มเรียน รู้จากระดับล่างสุด ตั้งแต่การถูพื้นกวาดพื้นและปูเตียง ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ส่วนลูกสาวคนเดียว “สมกมล” แต่งงานมีลูกแล้ว จึงให้เข้ามาช่วยดูแลโครงการภาพลักษณ์ขององค์กรในกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งงานไม่หนักเท่าธุรกิจโรงแรม
ถามลูกๆบ้างนะคะ คุณพ่อถ่ายทอดวิทยายุทธ์อะไรให้บ้าง
ธีระเดช : ท่านไม่เคยสอนด้วยคำพูด แต่ชอบให้ลูกเรียนรู้เอง โดยเริ่มตั้งแต่กวาดพื้น ท่านบอกเสมอว่า การเป็นผู้บริหารต้องรู้จักงานทุกอย่าง และเอาใจใส่พนักงานอย่างจริงจัง ถึงจะกุมหัวใจพนักงานทุกคนได้ คุณพ่อเป็นคนมีวิสัยทัศน์ไกล มองอะไรล่วงหน้าเป็น 5-10 ปี และทุกอย่างที่ท่านพูดไว้ก็เป็นจริงที่สุด
ธีระยุทธ : “แดดดี้” สอนผมว่าเราไม่จำเป็นต้องฉลาดเสมอไป แต่ให้เรียนรู้จากคนที่ฉลาด พยายามใช้คนที่ฉลาดกว่าเรา จะได้เรียนรู้จากเขาเร็วขึ้น อีกอย่างต้องทุ่มเททำงานหนักมากกว่าคนอื่น เพราะเราเป็นเจ้าของกิจการ และถ้าทุ่มเทแล้วยังสู้คู่แข่งไม่ได้ ก็ต้องทำงานให้หนักขึ้นกว่าเดิม
ธีระเกียรติ : “แดดดี้” จะบอกเสมอว่า เป็นพี่น้องต้องรักกัน ตั้งแต่เล็กๆพวกเราจะกินจะนอนด้วยกันตลอด ไปไหนก็หอบหิ้วกันไปทั้งครอบครัว ส่วนเรื่องการทำงาน ท่านไม่เคยสอนเป็นคำพูด แต่ชอบให้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง
สมกมล : คุณพ่อสอนเสมอเรื่องความซื่อสัตย์ และไม่เอาเปรียบคนอื่น
ภัสสรกรณ์ : คุณพ่อเป็นแบบอย่างเรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน ท่านสอนเสมอว่าคนเราควรก้าวไปข้างหน้าตลอด ไม่ควรทำตัวไร้แก่นสาร ผมโตมาในโรงแรม ได้เห็นท่านทำงานหนักมาตลอด ตั้งใจว่าจะพยายามทำอย่างดีที่สุดเพื่อให้ท่านภูมิใจในตัวเราและช่วยแบ่งเบาภาระ ผมไม่มีเงินทองอะไรจะให้คุณพ่อ มีก็แต่ความรักจากหัวใจของลูกชายคนนี้.
...
ทีมข่าวหน้าสตรี