“We don’t inherit the Earth from our ancestors, we borrow it from our children.” เราไม่ได้รับโลกใบนี้เป็นมรดกจากบรรพบุรุษ แต่เราได้ยืมโลกใบนี้จากลูกหลานของเรา ลองจินตนาการดูว่าจะน่ากลัวขนาดไหนถ้ามนุษย์เอาแต่ผลาญทรัพยากรธรรมชาติ เพราะคิดว่ามันไม่มีขีดจำกัด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเรากำลังเอาอนาคตของเด็กๆ มาใช้ล่วงหน้า

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม “เพลง–ชนม์ทิดา อัศวเหม” ออกมาคอลเอาต์ว่า ทุกวันนี้ที่ธรรมชาติแปรปรวนไปทั้งโลกล้วนเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ พวกเราเป็นเจเนอเรชันที่ต้องเผชิญต่อไป และไม่ว่าคุณจะอายุมากอายุน้อย นี่คือบ้านหลังใหญ่ของทุกคน โลกใกล้วิกฤติมากๆแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังรุนแรงเกินกว่าโลกจะรับไหว และเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะช่วยกันคนละเล็กละน้อย

โตมาแบบไหนทำไมใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริงจัง

เพลงเป็นเด็กที่โตมาแบบเอาต์ดอร์ คุณพ่อ (ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม) และคุณแม่ (นันทิดา แก้วบัวสาย) เลี้ยงมาให้วิ่งเล่นขุดดินขุดทรายเท้าติดดิน เพลงเชื่อว่าเมื่อเราได้ชาร์จพลังจากสิ่งแวดล้อม ทำให้เรารักธรรมชาติ และไม่คิดทำร้ายธรรมชาติ เหมือนคนญี่ปุ่นที่เคารพในธรรมชาติ การปลูกฝังที่โรงเรียนก็มีส่วนสำคัญมาก สอนให้เราตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้เรารักบ้านหลังใหญ่หลังนี้

"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ

...

จริงไหมการใช้ชีวิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มง่ายๆได้ที่ตัวเรา?

วันหนึ่งเราผลิตขยะเยอะมาก เพียงแค่เราขี้เกียจคัดแยกขยะ คิดว่าช่างมันเถอะแค่วันเดียว แค่น้ำขวดเดียว ถามว่ามันจะยากขนาดไหนแค่เราคัดแยกขยะให้เป็นนิสัย บอกเลยว่าง่ายมากถ้าใส่ใจทำจริงๆ ที่บ้านของเพลงอาหารเปียกเราจะใส่ในเครื่องย่อยขยะหมดเพื่อเป็นปุ๋ย สองเราคัดแยกขยะทุกวัน ทั้งขยะรีไซเคิล และขยะมีพิษ ขยะรีไซเคิลถ้าไม่ให้ซาเล้งหน้าบ้าน เพลงก็จะยกไปชั่งกิโลขายเอง เพื่อเอาเงินมาให้แม่บ้านที่ช่วยเราคัดแยกขยะ บ้านเพลงจะคัดแยกละเอียดเลยทั้งแก้ว, กระดาษ, กระป๋องเครื่องดื่ม, เศษพลาสติก, เศษโลหะ และถุงพลาสติก เพลงเริ่มทำจริงจังตอนไปเรียนต่อที่อังกฤษ ต้องเก็บบ้านเอง แล้วพบว่าเรามีขยะเยอะมาก อยากบอกอีกอย่างคืออย่าคิดว่าขยะที่เราแยกไว้ สุดท้ายคนเก็บขยะก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดี อันนี้ไม่จริงค่ะ

"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ
"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ

อะไรคือตัวการร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

หลังเรียนจบปริญญาโท ด้านอสังหาฯ ที่มหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เพลงลงพื้นที่ช่วยคุณแม่ทำงานที่จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้เห็นขยะหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกองเสื้อผ้าที่ถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ สิ่งที่ทำให้เกิดขยะเยอะมากคืออุตสาหกรรมเสื้อผ้า โดยเฉพาะฟาสต์แฟชั่นเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมและทำลายโลก ฟาสต์แฟชั่นเน้นการผลิตเสื้อผ้าตามกระแส ขายปริมาณมากราคาถูก เพื่อให้คนเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลา กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 8-10% ของอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก และปล่อยน้ำเสียเกือบ 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก ยังไม่รวมพวกสารเคมีอีกมากมายที่ใช้ในกระบวนการผลิต ปัญหาคือความไม่สมดุลระหว่างความต้องการซื้อและการใช้งานจริงก่อให้เกิดขยะเสื้อผ้ามากมาย ทุกๆปีมีกองเสื้อผ้ามหึมาถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ ซึ่งเสื้อผ้าหลายตัวยังไม่เคยถูกใช้งานด้วยซ้ำ ผลจากกระแสแฟชั่นแบบมาไวไปไว ทำให้อายุการใช้งานของเสื้อผ้าสั้นลงมาก องค์การสหประชาชาติรายงานว่า ระหว่างปี 2000-2014 ปริมาณการผลิตเสื้อผ้าบนโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะกระแสความนิยมของฟาสต์แฟชั่น ทำให้เสื้อผ้าที่ไม่ใช้งานแล้วถูกทิ้งกลายเป็นขยะล้นโลก

"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ

...

"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ

อยากสร้างความหวังและแรงบันดาลใจอะไรให้ผู้คน

เพลงเชื่อว่าเราทุกคนสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและยั่งยืนขึ้นของโลกได้จากจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ไม่ต้องยิ่งใหญ่อะไร วันนี้อายุ 28 แล้ว เป็นวันที่เพลงต้องเติบโตขึ้นอีกสเต็ปหนึ่ง เพลงอยากหว่านเมล็ดพันธุ์ของความเชื่อและความหวังแพร่ออกไปให้ได้มากที่สุด จึงลุกขึ้นมาทำแบรนด์ เสื้อผ้าของตัวเอง ภายใต้ชื่อ “MATTERS” เพื่อจุดประกายความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ การทำแบรนด์ “MATTERS” มันคือความเชื่อและความหวังของเพลง ความหวังที่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ดีขึ้น ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นในช่วงโควิด มันเป็นแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่มาก

"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ

...

"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ

“MATTERS” ต้องการสื่อสารอะไรกับคนรุ่นใหม่

คำว่า “MATTERS” หมายถึงสสาร แมททิเรียลต่างๆและกระบวนการต่างๆที่นำมาผลิตเสื้อผ้าของเรา เพลงคิดมาให้อย่างถี่ถ้วนแล้วตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรามี 3 คอลเลกชันหลักๆ คือ “Nature’s Closet Collection” เป็นเส้นใยธรรมชาติ มีทั้งเส้นใยออร์แกนิก และเส้นใยลินิน ในการปลูกเราจะไม่มีการใช้สารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง ปราศจากสารพิษ เส้นใยลินินผลิตจากเมล็ดแฟลกซ์เป็นเส้นใยพืช ใช้น้ำน้อยในกระบวนการผลิต ถ้าอยู่ในอุณหภูมิที่ถูกต้องภายในสองอาทิตย์สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ อีกคอลเลกชันคือ “Closing the Loop Collection” เส้นใยรีไซเคิล และอัปไซเคิล เสื้อผ้าของเพลงทำจากวัตถุดิบรีไซเคิลอย่างน้อย 50-80% เรานำผ้าเก่าเหลือทิ้งไปแยกประเภทผ้าประเภทสี ฉีกเสื้อผ้าออกให้เป็นเส้นใยปุยนุ่น นำไปปั่นเป็นเส้นใยใหม่ แล้วทอเป็นผ้าผืนใหม่ นำมาตัดเย็บโดยไม่มีการฟอกย้อม นอกจากนี้ยังมีคอลเลกชัน “Second Life Collection” นำเศษผ้าเหลือทิ้งตามโรงงาน (deadstock) เอามารวมกันคิดเป็นโปรดักส์ใหม่ที่มีจำนวนจำกัดหมดแล้วหมดเลย คำว่า “MATTERS” ยังหมายถึงสิ่งที่มีความสำคัญ คุณอย่ามองว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆของคุณไม่สำคัญ แค่คุณมีเสื้อผ้าของเรา 1-2 ตัว อยู่ในตู้เสื้อผ้า เป็นเสื้อผ้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ดีแล้ว สำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกของเรา

...

"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ
"ชนม์ทิดา อัศวเหม" เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยพลังของการทำสิงเล็กๆ

ทำไมใช้ “หิ่งห้อย” เป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์

เราจะเห็นหิ่งห้อยเฉพาะในที่ที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ หิ่งห้อยอยู่ตัวเดียวจะไม่สว่างนัก แต่ถ้าหิ่งห้อยรวมกันหลายๆตัวมันจะส่องแสงสว่าง สิ่งที่เราเริ่มอาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ ฉันทำเพราะความเชื่อ ฉันทำเพราะต้องการความเปลี่ยนแปลงของสังคม ฉันทำเพราะอยากให้คนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เพลงอยากให้มองว่าการรักสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องโกกรีนน่าเบื่อ แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในกิจวัตรประจำวันของเราได้ ทุกคนสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เราทำทีละนิดละน้อย เหมือนจิ๊กซอว์รวมตัวกันสุดท้ายมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสิ่งแวดล้อม หิ่งห้อยยังเป็นตัวแทนของความหวัง เพลงไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ลุกมาทำจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทันที แต่เพลงมีความหวังว่าสักวันเราจะเดินไปถึงจุดนั้นได้ วันหนึ่งแบรนด์ของเราจะต้องทำให้หลายๆคนหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้

ผลตอบรับดีเกินคาดไหม

กว่าเพลงจะคลอดสิ่งนี้ออกมาใช้เวลาเป็นปี เพลงรักแบรนด์นี้เหมือนลูก เขาทำให้เพลงรู้สึกภูมิใจในสิ่งเล็กๆที่ตัวเองทำ เขาทำให้เพลงมีกำลังใจที่สามารถขับเคลื่อนสิ่งหนึ่ง เพลงไม่ได้อยากได้อะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่เพลงอยากขับเคลื่อนสิ่งเล็กๆแบบนี้ เพลงขอบคุณแบรนด์นี้ มันเป็นพลังบวกให้กับเพลง ที่ผ่านมาเพลงไม่เคยได้อยู่กับแบรนด์เต็มๆ เพราะมีงานประจำต้องรับผิดชอบ แต่ในวันที่เราตั้งใจว่าจะทำ บอกตัวเองว่าเวลาน้อยใช่ไหม ไม่เป็นไรงั้นเราไปเปิดบูธ “MATTERS” เลย วันนั้นไฟยังไม่มีด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่าคนที่ไม่รู้จักเราเดินเข้ามาหยิบเสื้อผ้าของเรา ถามถึงคอนเซปต์และชื่นชมเรา ฝรั่งหลายคนมานั่งฟังเราพูด อยากรู้ว่าเสื้อผ้าของยูได้อินสไปร์จากอะไร เพลงดีใจที่คนอะพรีชีเอตกับแนวคิดของแบรนด์เรา

คุณพ่อคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจด้านใด

คุณพ่อเป็นคนทำอะไรทำจริง รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คุณพ่อทำเรื่องคลองสวยน้ำใส ทวงคืนหิ่งห้อยให้กับชาวสมุทรปราการ คุณพ่อยังบุกเบิกเรื่องการนำขยะมาผลิตเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ส่วนคุณแม่จะให้ความสำคัญเรื่องการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ ทั้งคู่เป็นแบบอย่างให้เพลงในทุกเรื่อง แม้แต่คุณยายก็เป็นคนบอกให้ติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เพราะอยากประหยัดไฟ เรียกว่าบ้านของเพลงทุกคนมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

โลกในอุดมคติของคนรุ่นใหม่สวยงามขนาดไหน

สำหรับเพลงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่สุดท้ายมันคือหน้าที่ของมนุษย์โลกทุกคน อะไรเกิดขึ้นที่มุมหนึ่งของโลกก็ย่อมส่งผลกระทบถึงมุมอื่นๆของโลกไปด้วย เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มีพรมแดน โลกที่ไม่มีผึ้ง ต้นไม้ก็ไม่เติบโต แต่ทางกลับกันโลกที่ไม่มีมนุษย์กลับเป็นโลกสีเขียว สำหรับเพลงโลกในอุดมคติ คือโลกที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ