ปัจจุบันมักได้ยินคำว่า หัวใจขาดเลือด กันบ่อยๆ ทั้งจากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์กับการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญ อีกทั้งจากคนรอบตัวที่บางรายอาจโชคดีรู้ตัวก่อน รักษาทัน บางรายรู้ตัวเมื่อสายหลังจบชีวิตไปแล้ว

เหตุใด หัวใจจึงขาดเลือด


โรคหัวใจขาดเลือดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจในขณะนั้น สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวหรือมีไขมันไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย จึงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตันจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หรือไม่รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

สัญญาณเตือน!!

สำหรับอาการที่พบบ่อยได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอก บริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย เจ็บแบบจุกแน่นลักษณะคล้ายมีน้ำหนักกดทับหรือรัดแน่นที่หน้าอก มักเจ็บร้าวไปที่คอ ขากรรไกร หรือไหล่ซ้าย บางรายอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ เหมือนอาหารไม่ย่อย และบางรายอาจมีอาการใจสั่นหอบเหนื่อยร่วม บางคนอาจจะมีอาการร่วมกับหน้ามืด เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย ออกแรงมากไม่ได้ หรืออาการหอบเหนื่อยก็เป็นอาการที่พบได้บ่อย อาการเหล่านี้ไม่จำเพาะต่อโรคหัวใจ แต่ถ้าหากมีอาการดังกล่าวก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีโอกาสหัวใจขาดเลือดหรือไม่

แพทย์อาจแนะนำการตรวจหลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลัง ตรวจภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ตรวจภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ และกรณีที่มีอาการมากแพทย์อาจตรวจเลือดดูว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ หรืออาจทำการตรวจสวนหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอน ซึ่งหากผลการตรวจพบว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็จะแนะนำการรักษาที่แตกต่างไปแต่ละบุคคล ขึ้นกับความรุนแรงของโรคที่ตรวจพบและสุขภาพของผู้ป่วย โดยอาจแนะนำตั้งแต่ให้กินยา หรือรับการรักษาขยายหลอดเลือดหัวใจโดยการถ่างขยายด้วยลูกโป่ง หรือบอลลูนขนาดเล็ก ไปจนกระทั่งแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อทางเบี่ยงเส้นเลือดหรือบายพาสหลอดเลือดหัวใจในกรณีที่จำเป็น

ในเบื้องต้น การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ควบคู่ไปกับการรักษาทานยา ส่วนใหญ่มักได้ผลดี แต่ในกรณีที่มีภาวะรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ หรือผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด เพื่อให้เลือดเดินทางอ้อมผ่านจุดที่อุดตันโดยใช้เส้นเลือดที่บริเวณแขนหรือขา

สิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

1.รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง
2.รับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร
3.รับประทานอาหารแต่พออิ่ม และควรพักหลังอาหารประมาณ ½ - 1 ชั่วโมง
4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือ การเดิน เริ่มโดยการเดินช้าๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทาง แต่อย่าให้เกินกำลังของตนเอง
5.ทำจิตใจให้สงบ หาโอกาสพักผ่อน และหาวิธีลดความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น เช่น การดูเกมการแข่งขันที่เร้าใจ หรือทำกิจกรรมโลดโผน เป็นต้น
6.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและเค็มจัด
7.งดดื่มสุรา ชา กาแฟ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
8.หลีกเลี่ยงงานหนัก งานรีบเร่ง และงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนานๆ
9.เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ให้หยุดกิจกรรมนั้นๆ ทันที และอมยาใต้ลิ้น 1 เม็ด ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลงให้อมยาใต้ลิ้นซ้ำได้อีก 1 เม็ด ห่างกัน 5 นาที แต่ไม่ควรเกิน 3 เม็ด หากอาการไม่ดีขึ้นใน 15-20 นาที ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
10.การมีเพศสัมพันธ์ไม่ควรหักโหม ควรอมยาใต้ลิ้นก่อนมีเพศสัมพันธ์ ถ้ามีอาการใจสั่น หายใจขัด หรือเจ็บหน้าอกนานเกิน 15 นาทีหลังมีเพศสัมพันธ์ควรปรึกษาแพทย์

ทำอย่างไรไม่ให้หัวใจขาดเลือด

วิธีป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดคือ ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมัน กะทิ รวมทั้งไข่แดง เพราะจะทำให้ไขมันสะสมในหลอดเลือด และก่อให้เกิดแผ่นคราบไขมันตามมาได้ ควรเลือกบริโภคอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยมากๆ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 20 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาและความถี่ในการออกกำลังกายไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด การสูบบุหรี่ยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว ซึ่งเป็นการลดปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ

...


ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี