สตันต์แมน (Stuntman) คือ อาชีพนักแสดงแทนที่ต้องเล่นฉากเสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะในภาพยนตร์แอ็กชันที่กองถ่ายฯ มักจะใช้บริการของเหล่าสตันต์แมนมาเล่นบทบู๊แทนนักแสดงหลัก แม้หลายคนจะมองว่านี่คืออาชีพเสี่ยงตายและอันตรายในทุกนาทีที่ถ่ายทำ แต่สำหรับ "ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ" สตันต์แมนหญิงไทยมืออาชีพอันดับต้นๆ ของประเทศ กลับมีความหลงใหลต่ออาชีพนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ก้าวเข้ามาทำสตันต์มืออาชีพในไทย ถือว่ามีน้อยมากอยู่ที่อัตราส่วน 1 ต่อ 10 เมื่อเทียบกับจำนวนสตันต์ผู้ชาย

"เราอยากอุทิศตัวเองเพื่อทำงานสตันต์ไปตลอดชีวิตเลย" ประโยคสั้นๆ พร้อมแววตาที่เป็นประกาย เป็นคำพูดที่ ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ บอกกับทีมงานไทยรัฐออนไลน์ แสดงให้เห็นถึงแพชชั่นเต็มเปี่ยม หลังจากทำงานคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานาน 13 ปี อีกทั้งยังเคยพิสูจน์ฝีมือด้วยการเป็นหญิงไทยหนึ่งเดียว ที่เคยได้ร่วมงานกับนักแสดงปรมาจารย์สายบู๊ของ "เฉินหลง" รวมถึงได้รับความไว้วางใจจากกองถ่ายหนังฮอลลีวูดอีกมากมาย

สำหรับคอหนังน่าจะพอทราบมาบ้างว่าในเดือนนี้ "Ride On ควบสู้ฟัด" นำแสดงโดยแจ็คกี้ ชาน (เฉินหลง) ซึ่งเป็นหนังแอ็กชันฟอร์มยักษ์แห่งปีที่ทำรายได้อันดับ 1 ในจีนกำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา ทางไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ จึงชวน "ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ" สตันต์แมนหญิงไทย มาร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่เคยได้ร่วมงานกับทีมบู๊ของเฉินหลง เรื่องเล่าในกองถ่ายต่างประเทศ ความฝันที่อยากให้ไทยมีสมาพันธ์สตันต์แมนเพื่อคนเบื้องหลัง ตลอดจนแพชชั่นอันแรงกล้าที่อยากทำอาชีพนี้ไปตลอดชีวิต

...

คุยกับ "ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ" สตันต์แมนหญิงไทย ผู้เคยร่วมงานกับทีมบู๊ของเฉินหลงและฮอลลีวูด

ใครจะไปคิดว่าอาชีพดาราและแอร์โฮสเตสคือความฝันในวัยเด็กของ ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงไทยท่าทางทะมัดทะแมงที่นั่งคุยกับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มในวันที่อากาศร้อนจัด ดูช่างตรงข้ามกับการเป็นสตันต์แมนในกองถ่ายหนังแอ็กชัน อาชีพเสี่ยงตาย กระโดดเตะต่อยแบบไม่ห่วงสวย และพร้อมลุยในทุกสภาพอากาศแบบที่เธอกำลังหลงใหลอยู่ในปัจจุบัน

หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าเธอคือหนึ่งในสตันต์หญิงไทยมืออาชีพฝีมือระดับอินเตอร์ ที่ได้ร่วมงานกับภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศมาแล้วมากมาย ยกตัวอย่างเช่น Extraction (2020), Kate (2021), Thirteen Lives (2022), Faces of Anne (2022) ฯลฯ รวมถึง Project X-Traction หรือ Snafu (2023) หนังบู๊ที่นำแสดงโดยเฉินหลง ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายกลางปีนี้ 

Q : จากเด็กสาวที่เคยฝันอยากเป็นดาราและแอร์โฮสเตส ทำไมจู่ๆ ถึงเปลี่ยนมาเป็นนางฟ้าสายบู๊แบบไม่ห่วงสวย

ภรณ์ทิพย์ : เราเป็นคนเชียงใหม่ ตอนเด็กอยากเป็นดารา แต่พอโตขึ้นมาอีกหน่อยอยากเป็นแอร์โฮสเตส เลยเลือกเรียนบริหารธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม เพราะคิดว่าจะทำให้เราได้เที่ยวเยอะๆ แต่ความคิดนั้นก็หายไป หลังจากได้ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ค่ะ ได้เรียนเทควันโดและศิลปะการต่อสู้ เลยรู้ว่าลึกๆ แล้วเราชอบอะไรที่ผาดโผนแบบนี้ ตอนที่กำลังฝึกตีลังกาที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง บังเอิญมีพี่ๆ สตันต์มาเจอเราพอดี เลยชวนไปเป็นสตันต์ ตอนนั้นยังไม่รู้นะว่าสตันต์คืออะไร รู้แค่ว่ามันต้องแตะต่อย น่าจะสนุกดี พอได้เข้าไปทำงานเป็นสตันต์จริงๆ ก็เริ่มติดใจค่ะ รู้สึกตื่นเต้นมาก ลืมเรื่องการเป็นแอร์โฮสเตสไปหมดเลย (หัวเราะ)

Q : จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจก้าวมาเป็น "สตันต์แมน" (Stuntman) ในกองถ่ายฯ แบบเต็มตัว

ภรณ์ทิพย์ : ประมาณ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั้นหนังเรื่ององค์บากกำลังดังเลย คนที่มาชวนเราก็คือ พี่เปา ซึ่งตอนนี้เป็นเจ้าของทีมสตันต์ที่ชื่อว่า The Action Guys (TAG) พี่เปาบอกว่าสตันต์แมนผู้หญิงหายากมาก แทบไม่มีใครเข้ามาทำตำแหน่งนี้ เราก็เลยได้ไปซ้อมกับพี่ๆ ทีมสตันต์สัก 1 สัปดาห์ มีโอกาสไปดูงานในกองถ่ายหนังอินเดียเรื่องหนึ่ง มีซีนที่พี่สตันต์ผู้หญิงวิ่งกระโดดข้ามโต๊ะ เรารู้สึกกว่าเป็นอะไรที่เท่มากๆ อยากทำแบบนี้ในหนังบ้าง เลยกลายเป็นจุดที่ทำให้ฝึกซ้อมอย่างจริงจังมากขึ้น

...

Q : หลังจากนั้นรู้สึกว่าตัวเองมีสิ่งที่ต้องพัฒนาไหม และมีวิธีจัดการกับความรู้สึกไม่มั่นใจอย่างไร?

ภรณ์ทิพย์ : โห... ต้องพัฒนาเยอะมากค่ะ ตอนนั้นคิดว่าเรานี่เหรอจะเป็นสตันต์แมนเท่ๆ แบบนั้นได้ เพราะเราเรียนเทควันโดมาเป็นสิบๆ ปี ก็จะมีทักษะแบบเทควันโด เหมือนเป็นรากฝั่งลึกไปกับเราแล้ว แต่สตันต์ต้องพร้อมเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อให้เหมาะกับการถ่ายทำในแต่ละครั้งให้มากที่สุด เริ่มแรกพอเขาให้เตะท่าทางแบบนี้ สักพักก็จะกลับไปใช้ท่าแบบเทควันโดเหมือนเดิม ตรงนี้เราต้องปรับ หมั่นฝึกซ้อมทุกวันจริงๆ เพราะเราอยากเรียนรู้สายงานนี้ เหมือนเป็นแพชชั่นว่าฉันต้องทำสิ่งนี้ให้ได้

Q : ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้ร่วมงานกับฮอลลีวูด

ภรณ์ทิพย์ : เรื่อง Extraction (2020) ค่ะ เป็นทีมงานของฝั่งฮอลลีวูดทั้งหมด นักแสดง คริส เฮมส์เวิร์ธ มาถ่ายหนังที่เมืองไทย น่าจะเป็นเรื่องแรกที่ได้ทำงานกับฮอลลีวูดแบบเต็มตัวค่ะ แล้วก็มีอีกเรื่องที่รู้สึกประทับใจมากๆ ก็คือ Kate (2021) ที่ได้ร่วมงานกับฮอลลีวูดเต็มตัว ได้เห็นว่าการทำงานของเขาเป็นระบบระเบียบทุกอย่าง ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ทุกอย่างต้องเซฟตี้จริงๆ

แต่ก่อนหน้านี้เราได้สะสมประสบการณ์ และมีโอกาสไปทำงานกับทีมบู๊ของ แจ็คกี้ ชาน หรือ เฉินหลัง มาก่อนค่ะ เริ่มที่ว่าเวลามีกองถ่ายหนังจีนมาถ่ายทำในไทย เราได้เข้าไปทำงานเป็นสตันต์ แล้วคนจีนเขาชอบสไตล์การทำงานของเรา ก็เลยให้เราไปทำงานที่ประเทศจีน ซึ่งมีทีมสตันต์ของเฉินหลงมาออกแบบคิวบู๊และกำกับการแสดงให้ เราก็เลยมีโอกาสได้รู้จักทีมงานของเขา หลังจากนั้น 6 เดือน เขาติดต่อกลับมาให้ไปแสดงหนังกับเฉินหลงต่อเลยค่ะ 

...

Q : เล่าความทรงจำที่ได้เจอกับ "เฉินหลง" ครั้งแรกให้ฟังหน่อย

ภรณ์ทิพย์ : ตื่นเต้นมากค่ะ (ตอบทันที) ทีมงานของเฉินหลงส่งอีเมล์มาหาเราโดยตรง ตอนแรกที่เห็นรายละเอียดเขียนว่าขอเชิญไปร่วมงานหนังเรื่องนี้ โดยมีนักแสดงหลักเป็น แจ็คกี้ ชาน... ความรู้สึกแรกเลยคือมันจริงหรือเปล่า มีใครมาหลอกอะไรเราหรือเปล่า แต่พอไปถามรุ่นพี่ เอาอีเมล์ให้ดู รุ่นพี่บอกว่าใช่ นี่แหละของจริง ก็เลยตอบตกลงเลยค่ะ

วันแรกที่ไปถึงก็คิดว่าคงจะได้เจอทีมงาน หรือคนที่เขียนอีเมลมาเชิญเราก่อน แต่กลับกลายเป็นว่าวันแรกได้เจอเฉินหลงเลย พอไปถึงโรงแรมที่หน้าลิฟต์ มีผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ ระหว่างที่เราเดินก้มกดมือถือ พอเงยหน้าขึ้นอีกที... เฉินหลง! เหมือนตกอยู่ในภวังค์ คำแรกที่เขาพูดคือ "สวัสดีครับ" เพราะทีมงานไปแนะนำให้เรียบร้อยแล้วว่าสตันต์คนไทย เราก็ทำอะไรไม่ถูก ยกมือไหว้เขาไว้ก่อน ไหว้จนย่อเกือบไปถึงเท้าค่ะ (หัวเราะ) เชื่อไหมคะว่าเราจำไม่ได้สักอย่างว่าเฉินหลงเขาชวนคุยอะไรบ้าง เพราะตื่นเต้นมาก จำได้คำเดียวคือสวัสดีครับ พอกลับลงไปที่ห้องพัก เราร้องไห้ออกมาเลย นี่เป็นเรื่องจริงหรือ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังแอบคิดว่าฉันไปทำงานกับเฉินหลงจริงหรือเปล่า (ยิ้ม)

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์แมนหญิงไทย ฝีมือระดับอินเตอร์ ร่วมงานกับกองถ่ายภาพยนตร์แอ็กชันจีนและฮอลลีวูด
ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์แมนหญิงไทย ฝีมือระดับอินเตอร์ ร่วมงานกับกองถ่ายภาพยนตร์แอ็กชันจีนและฮอลลีวูด

...

Q : ชีวิตหลังกล้องของเฉินหลง มีแง่มุมไหนที่แฟนๆ อาจไม่ค่อยรู้ แต่เราได้เห็นด้วยตัวเองจากการร่วมงาน

ภรณ์ทิพย์ : วันแรกที่ได้ไปทำงานในกองถ่าย Project X-Traction (Snafu) เราได้เห็นวิธีการทำงานของแต่ละคน เห็นเฉินหลงเดินทั่วกองเลย เขาทำทุกอย่างเลยค่ะ เช็กไฟ ดูกล้อง เขามีความรอบรู้หมดเลย เพราะอยากให้หนังออกมาดีที่สุด ทุกคนจะรู้กันว่าเฉินหลงจะมีรถพักผ่อนส่วนตัวสำหรับนักแสดง แต่เขาไม่เคยอยู่ในรถเลย จะได้เดินมาดูทุกอย่างให้เรียบร้อยด้วยตัวเอง

สิ่งที่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้คือเฉินหลงเป็นคนรักสิ่งแวดล้อมมากๆ เขาแยกประเภทขยะในกองถ่ายฯ อันไหนรีไซเคิล-รีไซเคิลไม่ได้ เขาจะทำแก้วน้ำประจำให้ทีมงาน มีรูปและลายเซ็นของเขา โดยในทุกๆ วัน ทุกคนก็จะหยิบแก้วที่เขียนชื่อตัวเองออกมาใช้งาน ใช้เสร็จนำไปเก็บในตู้เก็บ พอจะใช้ก็หยิบแก้วเดิมมาใช้ใหม่เสมอ เพื่อลดปริมาณขยะ มีฉากที่เราเคยไปถ่ายทำในทะเลทราย เฉินหลงจะพกถุงดำติดตัวไว้ด้วยด้วย พอว่างจากการถ่าย เขาก็จะเดินเก็บขยะใส่ถุงดำ นี่คือระดับซุปเปอร์สตาร์ แต่เขาทำสิ่งนี้ด้วยตัวเองเลยค่ะ

Q : เฉินหลงเป็นคนดุไหม?

ภรณ์ทิพย์ : แอบดุนิดนึงค่ะ เพราะเขาอยากให้งานออกมาเป๊ะ แต่ละฉาก ถ้าไม่เป๊ะ เขาจะไม่ปล่อยผ่านเลย องศาต้องประมาณเท่านี้ อยากได้มุกแบบนี้ อยากได้อะไรที่เป๊ะทุกอย่างเลยค่ะ

ตอนถ่ายทำมีฉากหนึ่งเฉินหลงกระโดด แล้วต้องเตะกล่องให้ปลิวไปในจุดที่เขากำหนดไว้ ทำแบบนี้ซ้ำๆ เกือบร้อยเทค เขาเล่นเองหมด แม้ว่าฉากนั้นพูดง่ายๆ ต้องใช้ความฟลุคเพื่อให้กล่องปลิวไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ เราเห็นก็แอบคิดในใจ..เอาจริงหรือเนี่ย (หัวเราะ)

มีอีกฉากหนึ่งค่ะเขาต้องวิ่งไปที่ชั้น 2 เพื่อต่อสู้กับผู้ร้าย แต่ผู้ร้ายดันลงมาข้างล่างแล้ว เฉินหลงก็เลยกระโดดลงมาข้างล่างด้วย เพื่อวิ่งสู้กันต่อ แล้วข้างล่างเป็นฟองสบู่ที่ถูกตีฟองให้ท่วมตัว เชื่อไหมคะแค่ฉากนั้น ถ่ายทำกัน 3 วันเต็มๆ วิ่งอยู่แบบนั้น เพราะเขาบอกว่ายังออกมาไม่ดี ฟองยังไม่ดี กระโดดลงมาต้องเปียก วิ่งไปเปลี่ยนเสื้อผ้าทำตัวให้แห้ง แล้วมากระโดดซ้ำใหม่ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าสุดมาก ทุกอย่างต้องเป๊ะจริงๆ ค่ะ

Q : ความประทับใจที่จำไม่ลืมจากการได้ไปร่วมงานกับทีมบู๊ของเฉินหลง

ภรณ์ทิพย์ : เฉินหลงดูแลเราเหมือนเราเป็นคนในครอบครัวเลยค่ะ เขาได้นอนโรงแรมแบบไหน ลูกน้องสตันต์ต้องได้นอนโรงแรมแบบนั้น เขากินอาหารแบบไหน แพงแค่ไหน เราก็ต้องได้กินแบบนั้นด้วย ทุกมื้อเย็นเราจะได้กินข้าวด้วยกันทุกวัน เขาจะจองร้านไว้เลย ตอนที่นั่งกินข้าวช่วงแรกๆ เราไม่กล้าหมุนโต๊ะจีน ไม่กล้าเอื้อมหยิบอาหารที่วางไกลตัว จะกินแค่กับข้าวที่อยู่ตรงหน้าเราเท่านั้น แต่เฉินหลงเขาเดินมาเทคแคร์ทุกคน รินน้ำให้ ตักนู้นนี่ให้ เขาไม่ค่อยนั่งกับที่ แรกๆ ก็เกรงใจค่ะ แต่ต่อมาเขาทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นคนในครอบครัวสตันต์ของเขาจริงๆ

Q : ทำงานเป็นสตันต์มา 13 ปี คุณเคยประสบอุบัติเหตุเสี่ยงตายในกองถ่ายบ้างไหม?

ภรณ์ทิพย์ : ถ้าครั้งที่รุนแรงที่สุดน่าจะเป็นการโดนเหวี่ยงเข้ากับเซตฉากห้องญี่ปุ่นค่ะ ทีมงานใช้ท่อนเหล็กมาดามแผ่นไม้เพื่อประกอบเป็นห้องสี่เหลี่ยม เราเป็นสตันต์ในฉากนั้นแล้วต้องโดนโยนออกมา เพื่อให้ประตูหัก แล้วมากระแทกกับฝั่งผนังอีกที ทีนี้เราดันชนกับเหล็ก ตอนนั้นสติหลุดออกไปแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ เหลือไว้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ค่ะ แต่ The show must go on เล่นต่อพร้อมความมึน พอเรามาย้อนดูผ่านกล้องรีเพลย์ เห็นชัดว่าเราโดนเหวี่ยงเข้าประตู 1 ที เหวี่ยงเข้าใส่กำแพงและเสาอีก 1 ที แล้วเหวี่ยงทะลุประตูอีก 1 ที เหมือนเหวี่ยงไป 3 ชั้นเลยค่ะ

หลังถ่ายทำเสร็จทีมงานมาถามว่าโอเคไหม เรารู้สึกมึน เลยเลิกกอง แล้วไปโรงพยาบาลทำ CT Scan (ตรวจเอกซเรย์หาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ ด้วยคอมพิวเตอร์) หมอบอกว่าหากกลับบ้านแล้วมีอาการเวียนศีรษะ อาเจียน ให้รีบกลับมาโรงพยาบาลทันทีนะ หลังจากนั้นเรากลับไปที่พัก แล้วรู้สึกอยากอาเจียน เลยขับรถกลับมาโรงพยาบาลใหม่อีกที ปรากฏว่าแพ้ยาที่หมอฉีดให้ เข้า CT Scan อีกรอบ ไม่เป็นอะไรก็โชคดีไปค่ะ

Q : ครอบครัวเป็นห่วงไหมที่ลูกสาวต้องมาทำอาชีพเสี่ยงแบบนี้?

ภรณ์ทิพย์ : เมื่อก่อนบางอย่างเราก็ไม่ได้บอกค่ะ แต่ตอนนี้เขาคงรู้หมดแล้วแหละ (ยิ้ม) หนังแต่ละเรื่องก็อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยงบประมาณในการถ่ายทำด้วยว่ามีมาก-น้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในอุปกรณ์เซฟตี้ความปลอดภัย แต่ทางกองถ่ายต่างประเทศเขาจะดูแลทุกความเสี่ยงให้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุเขาจะให้เราไปโรงพยาบาลที่ดีที่สุด ทำประกันชีวิตให้หมดเลยค่ะ

Q : ประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มีสมาพันธ์สตันต์แมนดูแลคนเบื้องหลังเลย

ภรณ์ทิพย์ : ใช่ค่ะ ต่างประเทศเขาจะมีกฎหมายรองรับคนทำอาชีพนี้โดยตรงเลยค่ะ ส่วนในไทยยังไม่มีสมาพันธ์หรือกฎหมายที่เข้ามารองรับอาชีพนี้ เท่ากับสตันต์แมนเป็นฟรีแลนซ์ พวกเราต้องดูแลตัวเอง ไม่มีสวัสดิการอะไร เคยพูดคุยกับรุ่นพี่ในแวดวงสตันต์แมนนะคะว่าประเทศไทยควรมีสมาคมหรือสมาพันธ์ ที่มารองรับการทำงานของพวกเราให้มีมาตรฐานมากขึ้น

อันดับแรกคิดว่าหากภาครัฐเห็นความสำคัญด้านศิลปะวัฒนธรรมและสื่อบันเทิง น่าจะสามารถมาสนับสนุนได้โดยตรง สนับสนุนคนเบื้องหลัง คนในกองถ่ายที่ทำงานกันหนักมากๆ อย่างช่วงโควิด-19 ทุกกองถ่ายไม่สามารถถ่ายทำได้ คนเบื้องหลังขาดรายได้ แต่สำหรับสตันต์แมน เรายังต้องฟิตร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อกองถ่ายกลับมาอีกครั้ง เขาจะสามารถเรียกใช้งานเราได้เลย

Q : กองถ่ายฯ ต่างประเทศมีสวัสดิการอะไรให้สตันต์แมนบ้าง?

ภรณ์ทิพย์ : อันดับแรกเลย เขาทำประกันชีวิตให้ค่ะ ที่เราได้ไปเป็นสตันต์ให้ทีมบู๊ของเฉินหลัง เขาทำประกันชีวิตวงเงิน 5 ล้านหยวนให้เรา (ประมาณ 25 ล้านบาท) หากเราเป็นอะไรไป ทุกอย่างจะมีเป็นลายลักษณ์อักษรเลยว่าบาดเจ็บตรงไหน จะมีสวัสดิการอะไรให้บ้าง ซึ่งในไทยยังไม่มีประกันชีวิต หรือไม่มีสวัสดิการแบบนี้

นอกจากนี้ กองถ่ายฯ ต่างประเทศจะเขาดูแลเรื่องตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ที่พัก อาหารการกิน ดูแลให้หมดทุกอย่าง เหมือนเราไปทำงานแล้วเก็บเงินอย่างเดียว ที่เหลือเขาจะสนับสนุนทุกอย่างค่ะ สำหรับกองถ่ายฯ ของฮอลลีวูดจะให้สตันต์นั่งเฟิร์สคลาส โรงแรม 5 ดาว นอนห้องละ 1 คน

มีกฎหมายเข้ามาดูแลว่าหากสตันต์ทำงานเสี่ยงแบบนี้ มีประกันภัยอะไรคุ้มครองบ้าง หรือหากทำงานล่วงเวลา (OT) จะต้องได้เงินเพิ่มเท่าไร ในสหรัฐอเมริกาจะกำหนดให้ทำงาน 8 ชั่วโมง หากเกินเวลา จะต้องจ่าย OT แต่ละนาทีแพงมาก เขาก็เลยไม่ค่อยจะทำงานล่วงเวลากัน หากจำเป็นจริงๆ ก็ต้องยอมจ่าย

ปกติสตันต์แมนจะทำงานเป็นคิว แต่ละมีการตกลงกันก่อนว่า 1 คิว คุณจะต้องทำอะไรบ้าง หากมีฉากที่เสี่ยงมาก เช่น กระโดดตึก โดนรถชน หรือฉากที่เสี่ยงขึ้นมามากกว่าแค่เตะต่อยธรรมดา เราก็จะได้รับค่าจ้างที่เป็นค่าความเสี่ยงเพิ่มเข้าไปด้วยค่ะ 

Q : สำหรับผู้หญิงที่สนใจอยากทำอาชีพสตันต์(วู)แมนแบบคุณ ต้องเตรียมความด้านร่างกายและจิตใจ อย่างไรบ้าง?

ภรณ์ทิพย์ : ถ้านับจริงๆ เลยนะ สตันต์แมนผู้หญิงในไทยมีจำนวนน้อยมากค่ะ ไม่น่าเกิน 10 คนด้วยซ้ำ ยิ่งคนที่แอดวานซ์ขึ้นมาหน่อย ไปโกอินเตอร์ได้ ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก อาจจะ 3-4 คน ในขณะที่สตันต์แมนผู้ชายในไทย น่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 คน คือสัดส่วนผู้หญิงต่อผู้ชายคิดว่าเป็น 1 ต่อ 10 เลยค่ะ

สำหรับผู้หญิงที่อยากจะเข้ามาทำอาชีพนี้ อยากชวนมาเยอะๆ ค่ะ (หัวเราะ) สิ่งสำคัญเลยคือต้องใจรักอาชีพนี้ค่ะ ชอบบู๊ ชอบทำอะไรที่ท้าทาย การเตรียมตัวอันดับแรกเลยต้องฟิตร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะเราต้องใช้ร่างกายเป็นหลัก หรือจะเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้พื้นฐานอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ได้ แล้วค่อยมาต่อยอดอีกที

ส่วนใหญ่เราจะวิ่งเพื่อให้ปอดใหญ่ขึ้น มีพละกำลังมากขึ้น แล้วก็เสริมสร้างกล้ามเนื้อแขนขาของตัวเอง เพื่อให้สามารถรองรับการกระแทกเวลาเข้าฉากต่อสู้ได้ ส่วนความเข้มแข็งทางจิตใจ คิดว่าอย่างแรกน่าจะต้องเป็นคนที่ไม่ค่อยกลัวอะไร ชอบความท้าทาย อยากพิสูจน์ตัวเอง อยากลองทำ อยากทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้ารับมือและมีคุณสมบัติเหล่านี้ ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่เข้ามาทำงานสตันต์(วู)แมนค่ะ

Q : คลุกคลีเตะต่อยอยู่ในวงการสตันต์แมนอาชีพมา 13 ปีแล้ว มองอนาคตไว้อย่างไร อยากจะทำงานนี้ไปจนถึงอายุเท่าไร?

ภรณ์ทิพย์ : ตั้งแต่เข้ามาทำอาชีพนี้ เรารู้สึกหลงใหลในเสน่ห์ของมัน อยากอุทิศตัวเองเพื่อทำงานสตันต์ไปตลอดชีวิตเลย เราเคยเจอสตันต์แมนที่อายุ 70 ปี แต่ยังแข็งแรงและทำงานนี้ได้ ถ้าถามว่ากดดันไหม... ไม่กดดันค่ะ เพราะว่าอาชีพของเรามันต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพื่อให้ทันตามยุคสมัย เหมือนเวลาเราไปทำงานในกองถ่ายหนังสักหนึ่ง ก็เท่ากับว่าเราได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง การได้ทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเป็นบทเรียนให้เราเก่งขึ้นทีละขั้น

ที่สำคัญยังมีอีกความฝันหนึ่งที่ยังไม่เป็นจริงค่ะ นั่นคือการได้ทำงานร่วมกับ "Gal Gadot" นักแสดงจากภาพยนตร์ Wonder Woman เป็นนักแสดงที่ชื่นชอบและรู้สึกว่าเขามีเสน่ห์มากๆ ทุกครั้งที่นึกถึง เราจะมีแรงบันดาลใจเสมอ อีกอย่าง Gal Gadot เป็นผู้หญิง เราก็เป็นผู้หญิง ทุกครั้งที่รู้สึกเหนื่อยหรือท้อจากการซ้อม เราจะนึกว่าต้องกลับมาฟิตร่างกาย มีหุ่นดีแบบเขา มั่นใจแบบเขา รอให้ความฝันนั้นเป็นจริงให้ได้ในสักวันค่ะ (ยิ้ม)

เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย

อ่านข่าวเพิ่มเติม