นับเป็นครั้งแรกที่องค์กรข้ามชาติ อย่าง IKEA และโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความต่างกันมากทั้งสององค์กรได้ร่วมเดินบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ผลของการเดินทางครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นอยู่ในคอลเลกชั่น “อัลวอร์ริค” ชุดเซรามิกสำหรับโต๊ะอาหารที่จะมาสร้างความแตกต่างอย่างสวยงามให้กับการจัดแต่งโต๊ะอาหารและให้กับชีวิตชาวเขาบนดอยตุง จังหวัดเชียงราย



ในช่วงหนึ่งของปี พ.ศ. 2550 เส้นทางของ IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านชั้นนำจากสวีเดนและโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มาบรรจบกัน การพูดคุยได้เริ่มขึ้นและดำเนินต่อมาถึง 5 ปี นั่นคือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างสองแบรนด์ดังที่ทำให้ 'แอนนา เอฟเวอร์ลุนด์' ดีไซเนอร์ชื่อดังของ IKEA ช่างเทคนิคผลิตภัณฑ์ของ IKEA อีกทั้ง IKEA บางนา และทีมของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้มาร่วมมือกัน ผลที่ได้จากการร่วมมือครั้งนี้คือ คอลเลกชั่นภาชนะเซรามิกสวยๆ สำหรับโต๊ะอาหาร ที่มีชื่อว่า “อัลวอร์ริค” ซึ่งผลิตขึ้นที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ตามมาตรฐานของการผลิตสินค้าของ IKEA และมีขายเฉพาะที่ IKEA บางนาเท่านั้น คอลเลกชั่นนี้ออกแบบโดย แอนนา เอฟเวอร์ลุนด์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติและความเป็นมาของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ รวมทั้งสภาพแวดล้อมและงานฝีมือของชนกลุ่มน้อยทางเหนือของประเทศไทย

...



ถึงแม้ว่าจะเกิดต่างกันคนละซีกโลก แต่ทั้งโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และ IKEA นั้น มีอะไรเหมือนกันมากกว่าที่เห็น ทั้งสององค์กรต่างมีวิสัยทัศน์เดียวกันในการมุ่งมั่นที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น โครงการพัฒนาดอยตุงฯ นั้น มุ่งเน้นที่จะพัฒนา “คน” เพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ผ่านการผลิตและจำหน่ายสินค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน แฟชั่น อาหาร เกษตร และท่องเที่ยว ทั้งขายปลีกและขายส่งด้วยการออกแบบและการผลิตที่เกิดจากการผสมผสานภูมิปัญญาทักษะฝีมือท้องถิ่น และประเพณีชนเผ่าอันหลากหลายบนดอยตุง เข้ากับการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ “ดอยตุง” จึงเป็นแบรนด์ไทยที่โดดเด่นในเรื่องของคุณค่าอันเกิดจากการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายสมดุลของธรรมชาติและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง



การร่วมมือกันระหว่างสองแบรนด์ในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงโครงการดีไซเนอร์ฝึกงานที่ IKEA ประเทศสวีเดน โดยโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้ส่ง จักรายุธ์ คงอุไร หรือ “จิม” ดีไซเนอร์ของโครงการฯ ไปฝึกงานที่เมืองอัมฮูลท์บ้านของ IKEA เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งสิ่งที่จิมได้นำกลับมาบ้านด้วยก็คือ แนวคิดและปรัชญาการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพของ IKEA และแนวคิดการนำทรัพยากรที่จำกัดมาใช้อย่างสร้างสรรค์ อย่างมีประโยชน์ และมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและมีราคาย่อมเยา โดยผสมผสานเข้ากับแนวความคิดการออกแบบที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของ IKEA โดยจิมได้นำสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้ในการทำงานที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ในขณะเดียวกัน ระหว่างที่อยู่ในสวีเดน จิมก็ได้ทิ้งผลงานดีไซน์แบบไทยๆ ไว้กับผลิตภัณฑ์ของ IKEA ซึ่งจะมีชื่อเขาติดอยู่ในฐานะผู้ออกแบบ ในที่สุดผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกนำออกมาจำหน่ายในร้าน IKEA ทั่วโลก ซึ่งนับได้ว่าเป็นการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้แบบ 360 องศา ที่มีจุดเริ่มต้นจากล้านนาสู่บางนา และจะถูกส่งต่อไปยังทั่วโลก.

...