หนึ่งในกระแสการเลี้ยงสัตว์ที่ฮอตสุดๆ ก็คือการเลี้ยงปลาสวยงาม ซึ่งมีทั้งเลี้ยงเพื่อประดับบ้าน และเสริมสิริมงคล ยิ่งในปีมังกรทองนี้ หลายคนที่มีความเชื่อเรื่องการเลี้ยงปลาเพื่อโชค ลาภ บารมี ต่างก็ต้องนึกถึงเจ้าปลาอะโรวานา หรือปลามังกร ไทยรัฐออนไลน์วันนี้จึงเตรียมข้อมูลสำหรับคนที่สนใจเลี้ยงปลามังกรในปีมังกรกัน..
ปลามังกร มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ปลาอะโรวานา (Arowana) ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด เพราะปลาชนิดนี้ดูน่าเกรงขาม ลักษณะมีเกล็ดขนาดใหญ่ สีสันแวววาว มีหนวด ว่ายน้ำเชื่องช้า ปากเชิดขึ้น
ด้วยชื่อที่มงคล สอดคล้องกับความเชื่อของชาวจีนที่ถือว่ามังกรคือสัตว์แแห่งพลังอำนาจและความโชคดี จึงทำให้มีการนำปลาที่มีชื่อเป็นตัวแทนของสัตว์มงคลมาเลี้ยงในบ้าน โดยเชื่อว่าจะช่วยในการคุ้มครอง เสริมบารมี ให้โชคลาภ ให้ความร่ำรวย และความมั่งคั่งแก่คนเลี้ยง สีสันของปลามังกร ก็จะเน้นสีแดงกับสีทองซึ่งเป็นสีของโชคลาภ อีกทั้งคนเลี้ยงยังมองว่า ปลามังกรเคลื่อนไหวในน้ำ ก็เหมือนกับเงินทองไหลมาเทมา
...
สายพันธุ์ปลามังกร
ปลามังกรทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เอเชีย จัดเป็นปลาโบราณอยู่ในตระกูล "Osteoglossidae" ซึ่งเป็นตระกูลของปลา ที่มีลิ้นเป็นกระดูกแข็ง (Bony Tougue)
ปลามังกรพบกระจายอยู่ใน 4 ทวีปทั่วโลก คือ ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา และทวีปออสเตรเลีย มีสายพันธุ์รวมกันทั้งหมด 10 สายพันธุ์ โดยปลาแต่ละทวีปจะมีรูปร่างลักษณะเด่นพิเศษที่แตกต่างกันตามไปด้วย และลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันและผันแปรไปตามแหล่งที่สามารถพบได้
ปลามังกรในทวีปเอเชีย
• ทองมาเลเซีย (Malayan Bonytongue) เรียกง่าย ๆ ว่า “ทองมาเลย์” สายพันธุ์นี้ต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไป ถือว่าเป็นปลามังกรที่ีมีราคาแพงที่สุดในบรรดาปลามังกรด้วยกัน เพราะปลาชนิดนี้จะให้ลูกน้อยและในธรรมชาติหาได้ยากมาก ปัจจุบันเพาะเลี้ยงที่มาเลเซีย และสิงคโปร์
• มังกรแดง (Super Red Arowana) ปลามังกรแดงมีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ “Blood Red” และ “Chili Red” มีถิ่นกำเนิดมาจากหลายแหล่งน้ำ ในทางตะวันตกของกัลลิมันตันในประเทศอินโดนีเซีย จัดเป็นสายพันธุ์ปลามังกรเอเชียที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากสีสันอันสวยงาม และราคาถูกกว่าพันธุ์ทองมาเลย์
• ทองอินโด (Red Tail Golden Arowana) ทองอินโดหรือ RTG เป็นปลาที่ถูกจำแนกอยู่ภายใต้กลุ่มอะโรวานาทอง เช่นเดียวกับทองมาเลย์ ปลาชนิดนี้พบใน Pekan Bara ในประเทศอินโดนีเซีย หากเทียบสีแดงและทองมาเลย์ ราคาของทองอินโดนีเซียนั้นไม่ถูก ไม่แพง อยู่ในระดับกลาง ๆ จึงเป็นปลามังกรที่ได้รับความนิยมอยู่พอสมควร
• อะโรวานาเขียว (Green Arowana) หรือปลามังกรที่ชาวไทยเรียกว่า “ปลาตะพัด” ซึ่งจริงๆ อะโรวานาเขียวมีอยู่หลายที่ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยแหล่งกำเนิดในประเทศไทยอยู่ที่ จ.จันทบุรี และ ตราด
ปลามังกรในทวีปอเมริกาใต้
• อะโรวานาเงิน (Silver Arowana) ถือว่าเป็นปลามังกรที่มีราคาถูกที่สุดเลยก็ว่าได้ สำหรับปลามังกรเงิน โดยมีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตลุ่มน้ำอเมซอน และกิอานาในอเมริกาใต้ ในวัยเล็กจะเป็นสีเงินอมชมพู ครีบหางและครีบก้นปลายขอบมีสีชมพู หนวดยาวสวยเด่น ชายน้ำหรือที่เรียกกันว่า “ครีบก้น” ยาวมาก เมื่อปลาโตขึ้นจนได้ขนาด สีเกล็ดจะเป็นสีเงินเงางามแต่ขอบครีบที่เป็นสีชมพูดจะจางหายไป
...
• อะโรวานาดำ (Black Arowana) เป็นปลามังกรที่หาซื้อยากที่สุด เพราะมีขายเฉพาะฤดูเท่านั้น แต่ราคาไม่ค่อยแพงมาก จึงเหมาะสำหรับผู้เริ่มเลี้ยง พบได้ในแม่น้ำริโอนิโกร (Rio Negro) ในประเทศบราซิล ในวัยเล็กมีลักษณะคล้ายมังกรเงินแต่ว่าเป็นสีดำ ปลามังกรดำเลี้ยงยากกว่ามังกรเงินมาก ตายง่าย กินยาก อ่อนแอไม่ค่อยแข็งแรง แม้ปลาวัยเล็กตัวจะเป็นสีดำแต่พอโตขึ้นสีจะค่อยๆ ถอดออกเป็นคล้ำดูคล้ายกับมังกรเงิน ปลามังกรดำโตเต็มที่จะมีขนาด 75 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเล็กมากหากเทียบกับพันธุ์อื่นๆ
...
• อะราไพม่า (Arapaima Gigas) มีชื่อเล่นว่า “ปลาช่อนอเมซอน” มีลักษณะตัวเล็กๆ ตัวเป็นสีเขียว หางสีดำ แต่พอโตขึ้นตัวจะมีสีเขียวเข้มเป็นมรกตแต่ไม่เงางามและส่วนหางจะมีปื้นแดงส้มเป็นลายคาดเรียกว่า “กุหลาบไฟ” อะราไพม่าเป็นปลาเกล็ดเล็กที่สุดในตระกูลปลามังกร แถมยังไม่มีหนวด ตัวใหญ่มาก เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวถึง 3 เมตร
ปลามังกรในทวีปออสเตรเลีย
• อะโรวานาจุดออสเตรเลีย (S.jardini) Spotted Barramundi มีแหล่งกำเนิดในรัฐควีนส์แลนด์ในลุ่มแม่น้ำ Dawson ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย อะโรวานาชนิดนี้เรียกสั้นๆว่า อะโรวานาลายจุดเพราะปลาชนิดนี้ เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 90 เซนติเมตร และจะมีจุดสีแดง 1-2 จุดตามขอบเกล็ดทุกเกล็ด
• อะโรวานาออสเตรเลีย (S. lei chardti) Northern Barramundi พบบริเวณตะวันออกของออสเตรเลียแถบประเทศปาปัวนิวกินีจะมีลักษณะลำตัวป้อมกว่า เมื่อโตเต็มที่ จะมีขนาด 90 เซนติเมตร ในปัจจุบันอะโรวานาชนิดนี้มีขายในบ้านเราอย่างแพร่หลาย สนนราคาก็ไม่แพงเกินจะเป็นเจ้าของ ปลาชนิดนี้เป็นปลาอะโรวานาที่รูปร่างหน้าตาคล้ายอะโรวานาจากทวีปเอเชียมากที่สุด
...
แหล่งซื้อขายปลามังกร
ปลามังกร สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าปลาสวยงามต่าง ๆ เช่น สวนจตุจักร หรือฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามในประเทศไทย และบริษัทที่นำเข้าปลายสวยงามจากต่างประเทศก็ได้ เพราะมีมาตรฐานพอๆ กันแตกต่างกันแค่สี ขนาด รูปทรง และสายพันธุ์ต่าง ๆ และที่สำคัญ ราคาซึ่งถ้าซื้อกับร้านค้า หรือฟาร์มในประเทศไทยจะมีราคาถูกกว่าซื้อกับบริษัทนำเข้าปลาสวยงามนั่นเอง
การเลือกซื้อปลามังกร
การเลือกซื้อปลามังกร ขอแนะนำให้ซื้อปลาที่มีความยาวขนาด 2 นิ้วขึ้นไป ไม่มีถุงไข่แดงที่หน้าท้อง หลังลำตัวปลาไม่คด ไม่งอ ว่ายน้ำตลอดเวลา ไม่มีลักษณะตื่นกลัว ไม่โฉบไปมา หรือลอยนิ่ง ๆ อยู่ตามมุมของตู้ เหงือกปลาไม่อ้าออก ครีบไม่ขาดไม่แหว่ง เกล็ดปลาเรียงเป็นระเบียบ ไม่หักหรือเป็นแผล กรณีที่ปลามังกรบางประเภทมีหนวด หนวดต้องเหยียดตรง ไม่คดไม่งอ ไม่ขาดไม่แหว่ง ตาต้องอยู่ในเบ้าพอดี
วิธีการเลี้ยงปลามังกร
แนวทางการเลี้ยงปลามังกร เริ่มจากตู้ปลาต้องเป็นตู้ที่มีขนาด 60 นิ้วขึ้นไป คุณภาพน้ำต้องสะอาด ใส ไม่ขุ่น มีระบบกรองที่ดีพอสมควร ส่วนการจัดตู้ ไม่จำเป็นต้องตกแต่งอะไรมาก เพราะปลามังกรเวลาตกใจ จะว่ายน้ำอย่างเร็ว ทำให้ปลามังกรมีโอกาสชนโขดหิน หรือของตกแต่งในตู้ปลาได้
ส่วนเรื่องการให้อาหารสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ แบบสด กับแบบแห้ง โดยแบบสดจะเป็นอาหารที่มีชีวิตเช่น ลูกปลาที่ไม่ใช่ปลานิล หรือจะเป็นลูกกบก็ได้เพราะมีโปรตีนสูง แต่ไม่แนะนำให้เลี้ยงด้วยลูกกบบ่อย ๆ เพราะย่อยยาก และเวลาให้อาหาร ต้องให้กินหมดเป็นมื้อ ๆ เลย ห้ามเหลือไว้ในตู้ เพราะจะไปตอดหาง – ครีบของปลามังกร และมีโอกาสทำให้เป็นพาหะนำโรคได้ และถ้าเกิดเหลืออาหารอยู่ในตู้เยอะ ปลามังกรจะมองหาอาหารตามพื้นตู้ ซึ่งจะทำให้ตาของปลามังกรเสียรูปทรง ทั้งนี้สำหรับอาหารสด ขอให้ทำความสะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อยู่ในอาหาร ซึ่งสามารถทำอันตรายกับปลามังกรได้ ส่วนอาหารแห้งจะมีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบแช่แข็ง ข้อดีคือสะดวก หาซื้อง่าย สารอาหารครบถ้วน แต่ปลามังกรมักจะไม่ชอบกิน ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องหัดให้กินเอง
ทั้งนี้ขอเตือนว่า ไม่ควรให้กินแมลงสาบ จิ้งจก และเนื้อหมู เพราะจะทำให้ปลามังกรท้องร่วง และยังทำให้ปลาสีตก สีซีด ส่วนเนื้อหมูก็ย่อยยาก ไขมันเยอะ ไม่ใช่อาหารตามธรรมชาติของปลา อาจทำให้ปลาท้องอืด และเสียชีวิตได้