อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข ไม่ได้เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ความสำเร็จในชีวิตของคนเราแต่อย่างใด กึ๋นและโอกาสเท่านั้น ที่จะเป็นตัวปั้นฝันให้เกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งนักธุรกิจหนุ่มหน้าหยก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว จนกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ หลังจากเข้ามานั่งกุมบังเหียน “บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด” ของครอบครัว สามารถพลิกฟื้น บริษัทที่ติดลบและเป็นหนี้มหาศาล ให้กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบจากรำข้าวรายใหญ่ของประเทศไทย และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรำข้าวรายใหญ่ของโลก ในเวลาเพียง 5 เดือน ทำให้เขากลายเป็นซีอีโอหนุ่มพันล้าน ด้วยวัยเพียง 20 ปีต้นๆ
จากวันนั้นถึงวันนี้ “ทิม–พิธา” ซีอีโอหนุ่มก้าวมาสู่วัย 31 ปี ที่พร้อมลงสนามสร้างฝันอีกครั้งอย่างเต็มตัว หลังจากที่คว้าปริญญาโท ทางด้านการเมืองการปกครอง สาขาการ บริหารภาครัฐ ที่ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาโทใบที่ 2 ด้านบริหารธุรกิจ ที่ Sloan, Massachusette Institute of Technology (M.I.T.) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะสร้างตำนานใหม่ให้กับวงการธุรกิจไทย ด้วยการผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นเจ้าแห่งน้ำมันรำข้าวในตลาดโลก
บริษัททำธุรกิจอะไรบ้าง
“เราเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบจากรำข้าว และรำสกัดน้ำมัน ซึ่งน้ำมันรำข้าวเป็นในรูปของน้ำมันที่สามารถกลั่นต่อไปเป็นน้ำมันพืชเพื่ออุปโภค ถ้าสกัดต่อไปสามารถเป็นหัวเชื้อเครื่องสำอาง, น้ำมันสลัด และสกัดต่อไปให้บริสุทธิ์อีก ไปเป็นวิตามิน และนำไปทำยาได้เลย ส่วนรำสกัดน้ำมัน เป็นรำที่สกัดเอาน้ำมันออกแล้ว แต่มีโปรตีนและไฟเบอร์สูง สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยใช้ผสมกับวัตถุดิบอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อการเติบโตของสัตว์เลี้ยง”
อยากให้เล่าย้อนถึงเหตุที่ต้องเข้ามาบริหารธุรกิจตั้งแต่วัยเพียง 20 เศษๆ
“เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา คุณพ่อ (พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์) เริ่มต้นตั้งบริษัท และได้ชื่อบริษัทแล้ว กู้แบงก์ผ่านแล้ว กำลังจะลงมือดำเนินธุรกิจ เผอิญท่านเป็นไข้ต่ำๆอยู่ 2-3 เดือน ตลอดเวลา อาจจะเพราะเครียดด้วย ไปหาหมอ คุณหมอก็หาสาเหตุไม่ได้ ทำให้มีการสันนิษฐานโรคผิดได้ ทำเกิดเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด และเพียงไม่กี่วันท่านก็เสียชีวิต ตรงกับวันปฏิวัติ 19 ก.ย.ปี 2549 พอดี ผมจะบินกลับมาเมืองไทย ยังกลับมาไม่ทัน มาถึงตอนที่สวดศพวันที่ 2 แล้ว ช่วงเวลานั้นเป็นเหมือนไฟลท์บังคับ ไม่มีเวลาให้อ่อนแอให้คนอื่นเห็นเลย เพราะบ่าข้างหนึ่งของผมในฐานะลูกคนโต ต้องดูแลครอบครัวและธุรกิจของที่บ้าน ที่เราไปกู้มาเป็นร้อยล้าน บ่าอีกข้างผมต้องรับภาระดูแลพนักงานของเราซึ่งมี 50-60 คน ไม่รวมครอบครัวของเขาอีก”
คุณทิมมีกลยุทธ์อย่างไรทำให้ธุรกิจพลิกฟื้นขึ้นมาได้
“อย่างแรกต้องมีสติ แล้วค่อยๆคลายปมปัญหาของบริษัทออกทีละปม เริ่มแรกปัญหาเกิดจากเครื่องจักรไม่เดิน เครื่องจักรไม่พร้อมที่จะทำงาน อุณหภูมิร้อนเกินไปไม่ได้ เราเสียเงินวันละ 2 ล้าน จนเราเหลือเงินก้อนสุดท้าย 2 ล้านแล้ว พอดีเครื่องจักรก็ทำงาน ทำให้ เราได้เห็นน้ำมันสีเขียว กลายเป็นน้ำมันสีทองในที่สุด พอเครื่องผลิตได้แล้ว ก็ต้องไปหาลูกค้า ซึ่งตอนนั้นบริษัทเรากู้เงินมา 100 ล้านบาทเพื่อการลงทุนระยะยาว เรายังไม่มีทุนหมุนเวียน ผมต้องไปกู้แบงก์ต่อเพิ่มอีก 70 ล้านบาท เพื่อซื้อรำข้าวจากโรงสี ซึ่งต้องใช้เงินสด เดินเข้าไปกู้แบงก์ ผมรู้อยู่แล้วว่า อย่างไรเขาต้องมองว่าเราเป็นเด็ก จึงต้องหาจุดแข็งของเด็กรุ่นใหม่ แต่โลกทุกวันนี้เป็นโลกของข้อมูล ผมต้องแสดงให้เขารู้ว่า ผมรู้ข้อมูลและตัวเลขไม่แพ้ใคร พอไปถึงก็สามารถพูดให้เขาฟังอย่างละเอียดได้ ซึ่งผู้ใหญ่ที่เขามีประสบการณ์ เขาเห็นความตั้งใจของเรา เขาเลยเชื่อถือ ได้เงินมาทำการผลิตให้ครบวงจร ผลิตแล้วขาย จนธุรกิจไปได้ด้วยตัวเอง ที่เหลือผมจึงมาบริหารคน เพื่อที่จะให้คนมาบริหารงานต่อไป”
ใช้เวลาในการแก้ปมนานแค่ไหนคะ
“5 เดือนครับ จากนั้นเราก็ทำกำไร ช่วงแรกกำไรไม่เท่าไหร่ ไม่กี่ล้าน ยอดขายเพิ่มขึ้นมาร้อยล้าน และพันล้าน ตอนนี้เราส่งออกปีละเป็นพันล้านบาทแล้ว เราซื้อรำข้าวเพื่อผลิตวันละ 400 ตัน”
ช่วงที่ไปเรียน ใครดูแลธุรกิจคะ
“ช่วงไปเรียน 3 ปี ผมมีน้องชาย (เทียน-ภาษิน ลิ้มเจริญรัตน์) เราห่างกัน 3 ปีครึ่ง มาช่วยดูแล แต่ผมคุยกับพนักงานกันทางอินเตอร์เน็ต โลกยุคใหม่ทำให้คุยกันง่ายขึ้น เพียงแต่เวลาต่างกันเท่านั้น ที่ไปเรียนเพราะได้ดร็อปไว้กลางคัน เมื่อตอนคุณพ่อเสีย ซึ่งคุณพ่อขอร้องก่อนเสียว่า ให้กลับไปเรียนแล้วเรียนไปดูแลบริษัทไปด้วย”
มาถึงวันนี้รู้สึกอย่างไรคะ
“ไม่หวือหวานะครับ มีความสุข ภูมิใจในตัวเอง ที่สามารถทำความฝันของคุณพ่อให้เป็นผลสำเร็จ คุณพ่อท่านมีสายเลือดเกษตร ชอบทางด้านนี้ ท่านเคยเป็นกรรมการ อ.ต.ก. และที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ท่านบอกผมเสมอว่า การเกษตรคือทางออกของประเทศครับ”
จะต่อฝันของคุณพ่ออย่างไรคะ
“น้ำมันรำข้าว เป็นน้ำมันที่มีประโยชน์ ไม่แพ้น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันปาล์ม แต่เราขาดการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรู้ แล้วก็ได้เห็นว่า ผมขายน้ำมันรำข้าวให้บริษัทฝรั่ง กิโลกรัมละ 30 บาท แล้วนายหน้าเอาไปขายต่อบริษัทเครื่องสำอางที่มีขายกันตามห้างดังๆในกรุงเทพฯ เพื่อนำไปสกัดกลับมาขายคนไทยในรูปแบบทั้งวิตามิน หรือเครื่องสำอาง ราคาเป็นพันๆบาท เงินที่เป็นส่วนต่างนี้ไม่ตกอยู่ในประเทศไทยเรา ต่างชาติเอาไปหมด ผมเลยหาพันธมิตร หาคนที่มีความรู้ด้านเครื่องสำอางทั้งคนไทยและญี่ปุ่น ช่วยกันต่อยอดทำโปรเจกต์นำน้ำมันรำข้าวมาแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม เพื่อสกัดออกมาเป็นวิตามิน และเครื่องสำอาง ภายใต้แบรนด์ TRBO หรือ Thai Rice Bran Oil”
แล้วฝันของคุณทิมล่ะคะ
“เราขายข้าวเป็นหมื่นล้านตัน เราทำมากแต่ได้น้อย ในขณะที่ต่างชาติเขาทำน้อย แต่ได้มาก เขาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างภาพลักษณ์ สร้างความแตกต่าง จึงทำให้เขาทำน้อยได้มาก ในขณะที่ชาวนาบ้านเรา ซึ่งมี 48% ต้องมานั่งรอนโยบายจากรัฐว่า จะประกันราคาข้าวเท่าไหร่ ดูเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม หรืออินเดีย ว่าราคาเท่าไหร่ เราเป็นคนรับราคาตลาดโลก ผมอยากให้เราเป็นคนตั้งราคาตลาดโลกบ้าง จากประสบการณ์ที่ผมเรียนมา จะเป็นผู้นำของโลกใบนี้ได้ ต้องเป็นสินค้าไฮเทค หรือไฮทัช การจะเป็นไฮทัช ก็ต้องสร้างมูลค่าของสินค้า อย่างประเทศมาเลเซีย เขาเป็นเจ้าแห่งน้ำมันปาล์ม จนสามารถกำหนดราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกได้ สหรัฐอเมริกา เขาเป็นเจ้าน้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง เพราะเกษตรกรของเขาปลูกข้าวโพดได้มาก รัฐบาลเขาจึงพยายามส่งเสริม หรือแม้แต่อิตาลี ก็ พยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำมันมะกอก จนน้ำมันมะกอกกลายเป็นสินค้าไฮเอน แล้วทำไมประเทศไทยซึ่งปลูกข้าวได้มาก จะเป็นเจ้าแห่งน้ำมันรำข้าวไม่ได้ ทั้งที่น้ำมันรำข้าวมีประโยชน์มากมายไม่แพ้น้ำมันมะกอก ในอนาคตหากเราจะแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคมเกษตรและสังคมเมือง เราต้องสร้างรายได้ให้เกษตรกรบ้านเราให้มีรายได้มากขึ้น เราต้องควบคุมอุปทานและสร้างอุปสงค์ครับ”
มีข้อแนะนำให้ทำนาแล้วรวยขึ้นไหมคะ
“ต้องบอกว่า ชาวนาไทยขยันมาก แต่ทำมากได้น้อย ทำนาแล้วต้องเอาเงินไปจ่ายค่าเช่าที่นาที่เคยเป็นของตัวเองให้คนอื่น ถ้าจะให้เริ่มต้น ต้องมีการรวมกลุ่มกันแล้วหาความรู้ จะหาด้วยตัวเองหรือติดต่อภาครัฐหรือเอกชนก็ได้ เพราะตอนนี้มีความรู้อยู่มากที่จะช่วยทำให้เราปลูกน้อยแต่ได้ รายได้มากขึ้น หากเรามีผลผลิตมากขึ้น มีการรวมกลุ่มกัน จากคนตัวเล็ก เราก็จะกลายเป็นคนตัวใหญ่ได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความรู้ จากที่ผมเคยได้คุยกับคนดังของโลก อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ฯลฯ เขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยุคนี้เป็นยุคของบูรพาภิวัฒน์ คือ ทองคำอยู่ในดิน เป็นการสร้างความร่ำรวยจากดินด้วยพืชผลและผลผลิตที่สร้างบนดิน ซึ่งต้องผนวกกับการบริหารจัดการแบบมืออาชีพด้วยครับ”
คงมีคนอีกหลายล้านคนร่วมฝันที่อยากเห็นน้ำมันรำข้าวไทยได้ยืนอยู่แถวหน้าของโลกเช่นเดียวกับเขา!
...
ทีมข่าวหน้าสตรี