มหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ได้สร้างความเดือดร้อนทุกข์ระทมกันถ้วนหน้าในขณะนี้ แต่ธารน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของคนไทยที่มีให้คนไทยด้วยกันก็ยังไหลหลั่งมาไม่ขาดสาย ล่าสุดมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เป็นแกนนำในการบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัย ด้วยการริเริ่มโครงการ “กล้า...ดี” หรือ “โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความพร้อมในเรื่อง พร้อมกิน พร้อมปลูก และพร้อมเพาะ ช่วยลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนไปพร้อมกันด้วย
...
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เผยถึงโครงการที่เกิดขึ้นว่า เนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้เป็นมหาอุทกภัยที่ทุกคนได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงเกิดแนวคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในเมื่อมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯมีประสบการณ์ในการส่งเสริมอาชีพผู้ยากไร้ จึงอยากให้ประชาชนที่กลับเข้าบ้านหลังน้ำลด จิตใจไม่ห่อเหี่ยว ด้วยการหาอะไรที่เขาจับต้องได้ ในที่สุดจึงย้อนกลับมาสู่แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จย่า ที่ว่า “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเขาเอง” โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อยู่เคียงข้าง จึงเป็นที่มาของ โครงการ “กล้า...ดี” ซึ่งไม่ใช่การอวดดีหรือลองดี แต่หมายถึงต้นกล้าที่ดี แข็งแรง พร้อมที่จะเติบโตอย่างเข้มแข็ง เป็นการแจกจ่ายชุด 3 พร้อม คือ พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ เพื่อให้ประชาชนหลังน้ำลดได้มีอาหารไว้รับประทาน มีต้นกล้าพร้อมปลูก โดยมูลนิธิฯได้เริ่มเพาะต้นกล้าที่เป็นอาหารจำเป็นสำหรับประชาชนมาตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. ที่ จ.อุทัยธานี และ จ.ลพบุรี เช่น ผักบุ้ง กระเทียม กระเพรา โหระพา พริก มะเขือเทศ และพร้อมแจกจ่ายให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.นี้เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 30,000 รายที่ผ่านการคัดสรรจากหน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆว่าเป็นผู้ที่ถูกน้ำท่วมและมีความประสงค์จะนำต้นกล้าเหล่านี้ไปปลูกเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตจริงๆ
เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังกล่าวถึงโครงการ “กล้า...ดี” ด้วยว่า มีคุณสมบัติสำคัญ 3 อย่าง คือ 1.ร่นระยะความเดือด ร้อนของประชาชน ด้วยการเพาะกล้าต้นไม้ที่จำเป็นใช้ในครัวเรือนตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปปลูกและรับประทานได้ในระยะเวลาอันสั้น 2.ร่วมกับทางจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คัดเลือกกลุ่มเกษตรกรมารับพันธุ์พืช และ 3. สร้างความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณ 65 ล้านบาท มีภาคเอกชนหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน อาทิ IKEA สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งม.ร.ว.ดิศนัดดาได้การันตีถึงความโปร่งใสในการให้ความช่วยเหลือประชาชนครั้งนี้ว่า ทุกคนสามารถตรวจสอบรายรับรายจ่ายได้อย่างละเอียดที่เว็บไซต์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ www.maefahluang.org/kladee ซึ่งจะมีรายละเอียดแสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายให้เห็นอย่างโปร่งใสทุกวัน เช่นเดียวกับผู้ที่มีจิตสาธารณะที่อยากมีส่วนร่วมช่วยสนับสนุนโครงการนี้ ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเช่นกัน โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯคาดหวังว่า ผู้เข้าร่วมโครงการฯจะสามารถลดรายจ่ายเป็นมูลค่าประมาณ 600 บาทต่อคน หรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 600 ล้านบาท ภายใน 120 วัน และยังช่วยเพิ่มรายได้แก่ผู้ที่ปลูกพืชในระยะสั้นประมาณ 1,066 บาทต่อคน หรือรวมทั้งสิ้น 160 ล้านบาท ภายใน 120 วัน.
...