นักพยากรณ์อากาศรุ่นเก๋า จับไม้เรียวหวดก้น ย้ำคนรุ่นใหม่ทำอะไรแบบฉาบฉวยไม่ได้ ต้องมีองค์ความรู้ ด้านเจ้าของท่าทีวี 360 องศา ย้ำวงการนี้มีปัญหาจริง กระตุ้นพิธีกรทาย ฟ้า ฝนต้องขยันกว่านี้...

หลังออกมาเปิดประเด็นของกรมอุตุนิยมวิทยากรณีแฉพิธีกรรุ่นใหม่ไม่มีความรู้ในการพยากรณ์อากาศจริง แถมยังทำแผนที่พยากรณ์อากาศปลอมขึ้นมาหลอกคนดู สร้างความเสียหายให้กับประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องพึ่งการพยากรณ์อากาศ

ล่าสุดนายวิทวัส สุนทรวิเนตร พิธีกรชื่อดัง ที่เคยเป็นผู้รายงานพยากรณ์อากาศ ในช่วงข่าวภาคค่ำของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ยุคที่บริษัท แปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ได้รับคำชื่นชมและมีองค์ความรู้มากที่สุดขนาดที่ว่า คนในกรมอุตุฯ กล่าวชื่นชม เพราะเป็นรายการพยากรณ์อากาศที่สร้างมิติใหม่ให้กับวงการทีวีเมื่อ 26 ปีที่ผ่านมา ด้วยเทคนิคและวิธีการนำเสนอที่แตกต่าง

“ตอนเรารู้ว่าจะทำรายการพยากรณ์อากาศ อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ท่านก็ให้ผมไปเข้าไปศึกษาให้เราได้รู้สิ่งที่เราจะต้องพูดว่าเป็นอย่างไร เช่น ความกดอากาศสูง-ต่ำเป็นจะส่งผลอย่างไรกับฤดูหนาว ลมพัดผ่านพื้นที่ไหนแล้วฝนจะตกพื้นที่ไหน สอนการดูภาพถ่ายดาวเทียมว่าส่งผลอะไรกับสภาพอากาศบ้านเราอย่างไร ลมตะวันออกเฉียงใต้มันจะส่งผลกระทบอะไรต่อสภาพดินฟ้าอากาศในบ้านเรา หรือลมพัดจากจีนก็จะเป็นมวลอากาศเย็นมาถึงบ้านเราอากาศจะเริ่มเย็นลง ผมเข้าออกกรมอุตุฯ เพื่อไปเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เป็นเดือนๆ แต่ก็ถือว่าได้ประโยชน์มาก เพราะผมไม่อยากแค่อ่านสคริปต์ไปแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้”

วิทวัส ย้ำว่า แม้จะทำหน้าที่ในการพยากรณ์อากาศไม่กี่นาทีแต่ทุกวินาทีที่รายการสภาพอากาศออกไปคุณต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่พูดให้ตรงกับข้อมูลของกรมอุตุฯ ไม่ใช่คิดเองเออเอง

“ดังนั้น คนรายงานต้องมีองค์ความรู้พอสมควรเพราะมันเกี่ยวกับคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศดังนั้นคุณต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูดให้เป็นจริงที่สุดห้ามพูดเกินเหตุเพราะเวลาที่คุณรายงานผิด คนดูเขาไม่ได้ว่าคุณคนเดียว เขาว่าไปถึงกรมอุตุฯ สำหรับผมอาชีพนี้มันมีเสน่ห์ตรงที่สามารถย่อโลกได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยุคผมคือยุคแรกที่เอาข้อมูลสภาพอากาศจากต่างประเทศมารายงานให้คนไทยได้รู้ เช่น ตอนนี้ที่อังกฤษลบ 1 องศา ที่มาเลเซียอุณหภูมิ 25 องศา คนที่อยู่ในประเทศไทยก็รู้ว่า เพื่อน พี่ น้อง ที่ไปเรียน ไปทำงานต่างประเทศมีความเป็นอยู่อย่างไร ต้องการอะไรไหม หรือก่อนนอนอย่าลืมห่มผ้าหนาๆ อย่าลืมปิดฮีทเตอร์นะ ทำให้โลกเราเชื่อมต่อกันได้ในระดับหนึ่ง พูดว่าเราคือรายการแรกๆ ที่นำเสนอแบบพยากรณ์อากาศแบบมีพื้นฐานความรู้ วิธีการนำเสนอก็ทันสมัย”

ถามว่าคิดอย่างไรกับพิธีกรและรายงานพยากรณ์อากาศในปัจจุบัน

หากเทียบเรื่องความทันสมัย เรื่องเทคนิคกลไกสมัยนี้ไปไกลมากๆ ยุคเมื่อ 26 ปีที่ผมทำตอนนั้นเราใช้ระบบเครื่องกลอยู่จะหมุนอะไรก็ไม่ได้มีปะตัดแปะ ลองผิด-ถูกเอา แต่สมัยนี้ทุกอย่างทันสมัย เพียงแต่ว่าคนในยุคนี้ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องเนื้อหา เน้นที่เครื่องแบบและความไฮเทคเท่านั้น ผมอยากให้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนความคิดที่ว่าจงทำทุกสิ่งให้เต็มที่ ถ้าจะทำอาชีพนี้การเข้าไปอบรมความรู้ที่กรมอุตุฯ เพื่อจะสร้างพื้นฐานในการรู้จริง มันก็เหมือนกับการร้องเพลงที่วันนี้คุณอาจจะร้องเพลงได้ตรงคีย์ แต่กลับไม่ได้รู้สึกถึงเนื้อหาของเพลง คุณก็ร้องไปแบบนกแก้วนกขุนทอง ฉันใดก็ฉันนั้น การพยากรณ์อากาศเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ ดังนั้นการมีองค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ” อดีตนักรายงานพยากรณ์อากาศรุ่นเก๋า กล่าวในที่สุด

ขณะที่ นาย ธนินวัฒน์ พัฒนวีรคุณ พิธีกรจากรายการพยากรณ์อากาศชื่อ "ทีวี 360 องศา" ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งมี คุณวิทวัส สุนทรวิเนตรเป็นต้นแบบกล่าวถึงกรณี อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ตำหนิรายการพยากรณ์และพิธีกรรายการตามทีวีทั่วไปว่าอาจจะเหมาหมดไม่ได้ว่ารายการประเภทนี้เป็นปัญหา แต่ย้ำว่าปัจจุบันพิธีกรพยากรณ์อาการรุ่นใหม่เรื่องไม่มีองค์ความรู้เพียงพอมีอยู่จริงๆ

“ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าคนในสายสื่อสารมวลชนอย่างพวกเราส่วนใหญ่จะเรียนมาทางด้านนิเทศและวารสาร องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับงานด้านที่เป็นเรื่องเฉพาะเช่นนี้มันจะมีปัญหา ซึ่งถ้าเทียบกับทางผม ผมจบปริญญาตรีภูมิศาสตร์ ปริญญาโททางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จึงมีความเข้าใจเรื่องข้อมูลทางด้านอุตุฯ สมควร ดังนั้นถ้าสำหรับรายการทีวี 360 องศา การสร้างแผนทีหรือกราฟฟิกต่างๆ ขึ้นมาเราจะอิงข้อมูลจากกรมอุตุฯ แทบจะ 100% ยกเว้นแต่อะไรที่จะต้องมาตัดเอง ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เราซื้อมาจากต่างประเทศแต่ก็เล็กน้อย ที่สำคัญหากจะพยากรณ์อะไรออกไปก็จะให้นักข่าวสอบถามไปยังกรมอุตุฯ ถึงข้อเท็จจริง”

แต่ใช่ว่าจะยึดถือข้อมูลจากทางกรมอุตุฯ อย่างเดียวไม่ได้เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบจากทางอื่นด้วย

“พูดตามตรงผมเข้าใจน้องๆ ในสายรายงานข่าวสภาพอากาศนะครับ เนื่องจากอย่างที่บอกมันเป็นเรื่องที่ต้องเรียนมา แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ถูกต้องนักหากบอกว่าไม่ได้เรียนแล้วไม่พัฒนาตัวเองต่อ แต่ในขณะเดียวกันทั้งหมดนี้ กรมอุตุฯ ก็ต้องเข้าใจสื่อมวลชนด้วยว่า เนื่องจากสิ่งที่คุณรายงานออกมามันเป็นภาษาทางราชการ เราก็ต้องทำให้มันเข้าใจง่ายๆ จะยึดไปเป็นทางการเป็นแบบเป๊ๆ คงลำบากอาจจะมีดัดแปลงย่อยข้อมูลเพื่อเข้าถึงคนได้ง่ายบ้างก็อยากจะให้เข้าใจ แต่อย่างไร ก็ดี ข้อมูลที่ย่อยมาต้องเป็นข้อเท็จจริงที่อิงมาจากกรมอุตุฯ เพราะว่าเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัดแน่นอน”

เมื่อถามถึงกรณีแผนที่ที่เป็นแบล็คกราวน์ข้างหลังที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำขึ้นมาไม่ถูกหลักวิชาการ นักรายงานสภาพอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 บอกว่า ช่องอื่นไม่รู้ แต่รายการทีวี 360 องศา เราเปิดเว็บไซต์ของกรมอุตุเลย

“แต่อย่างช่อง 7 สี อาจจะมีการระบายสีให้เห็นว่าช่วงนี้ความกดอากาศแรงไปบนแผนที่บ้างเพื่อจะได้ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ซึ่งถ้ากรมอุตุไปยึดแต่ของตัวเองซึ่งคนส่วนใหญ่ดูไม่รู้เรื่อง แต่ทางสื่อเขาก็ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นแล้ว จึงไม่อยากให้มองด้านลบ”

ที่สุดแล้วการออกมาเตือนของผู้ใหญ่ในกรมอุตุฯ นี้ พิธีกรเจ้าของท่าทีวี 360 องศาบอกว่า น่าจะเป็นโอกาส ยิ่งตอนนี้ข่าวอากาศใกล้ตัวมากขึ้นเราก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากขึ้น

“มันจึงเป็นโอกาสในการทำงาน เราอยากจะเห็นคนไทยเราสนใจสภาพอากาศ อย่างผมไปญี่ปุ่นผมเห็นเขาเปิดมือถือขึ้นมาเช็คว่าถ้าเขาไปตรงนี้จะเจอฝนไหมอีก 4 ชั่วโมงจะเจออะไรไหม ต่างจังหวัดจะหว่านพืชหว่านผลยังต้องการนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านอากาศมายืนยันว่าหน้าฝนจะมีฝนหรือเปล่า เพราะเขาปลูกพืชผักตามรุ่นปู่ย่าตายายไม่ได้ เพราะอากาศมันเปลี่ยนดังนั้นคนที่จะเข้ามาอยู่ในสายสื่อสารมวลชนในด้านการรายงานอากาศ คงต้องทำการบ้านและเอาองค์ความรู้เข้าใส่ตัวให้มากขึ้น ถ้ากรมอุตุเขาเปิดอบรมก็ลองไปอบรมดู มันยากแน่นอนถ้าเรารักจะรายงานแล้วมันจะยากอะไร ถ้าเราทำความเข้าใจไม่นานเราจะได้รู้ ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่น่าจะเอาคุณวิทวัส สุนทรวิเนตรมาเป็นแบบอย่าง เพราะว่าเขารู้จริงในการพยากรณ์อากาศ” พิธีกรรายการพยากรณ์อากาศสุดฮอตกล่าว.

...