พูดรวมๆ นายวรุต อภิมั่นจินดากุล กับ น.ส.ปภาพร อัศวศิริเลิศ คือคนที่พิมพ์เอสเอ็มเอส หรือ ข้อความในโทรศัพท์มือถือเร็วที่สุดในประเทศไทย
ทว่าหากโคลสอัพระบุเจาะพุ่งไปตรงๆ ให้ “อึ้ง ทึ่ง” ไปอีกระหว่างทั้ง 2 คนก็ต้องบอกว่า วรุต หรือ รุต คือคนที่พิมพ์เร็วที่สุดในประเทศไทย ด้วยความเร็วกว่า 160-170 ตัวอักษรต่อนาที คิดง่ายๆ 1 วินาที รุตซอยยิกแป้นอักษรบนมือถือได้มากถึง 3 ตัว
“บอกว่าเราได้แชมป์พิมพ์แมสเสจเร็วที่สุดในประเทศไทยผู้ใหญ่มักร้องยี้...!! แต่พอเราไปถึงสนามบินจะเข้าประเทศเขา คนที่นั่นเขาเห็นพาสปอร์ตว่าจะไปแข่งขันกัน เขาจะวิ่งไปบอกเพื่อนๆ เขา ยกย่องเรามากมายว่าเจ๋ง คุณมีความสามารถ” ทั้งคู่ย้ำไปถึงผู้ใหญ่ที่มักจะคิดว่ามันเป็น “เรื่องเล็ก”-“ไร้สาระ”
ประเทศไทยมักคิดแปลกๆ เปลือกๆ แบบที่พวกเขาว่า...!!
ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสค้นหาสิ่งที่มากกว่าความเร็ว หลังทั้งคู่เพิ่งเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งพิมพ์ข้อความเร็วระดับโลกกับอีก 16 ชาติทั่วโลก ณประเทศสหรัฐฯ และคว้าอันดับ 5 ในการพิมพ์ข้อความทางมือถือมาครอบครอง
Q : ดูจากประวัติและรายการแข่งขันพิมพ์ข้อความเร็วแล้ว นึกว่าพวกคุณจะเนิร์ดกว่านี้ซะอีก
รุต/บัว : ไม่เนิร์ดแน่นอน ค่ะ/ครับ (หัวเราะ)
รุต : การเข้าสู่หมวดการแข่งขันเริ่มจากผมชอบพิมพ์แมสเสจมากอยู่แล้ว อย่างคุยกับเพื่อนปกติจะออน MSN เวลาคุยกันบางทีก็จะส่ง SMS คุยกันไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา
บัว : จริงๆ เราเป็นเพื่อนเรียนที่เดียวกันค่ะ (หัวเราะ) ปกติบัวก็ชอบส่งเอสเอ็มเอสมากว่าคุยโทรศัพท์ซะอีก (หัวเราะ) พอมีโทรศัพท์ที่ใช้แข่งขันออกรุ่นใหม่มา ซึ่งมีแป้นพิมพ์อักษรตัวใหญ่ ก็ยิ่งทำให้เราพิมพ์ง่ายขึ้น
Q : จากแค่ชื่นชอบ มันพัฒนามาจนถึงแข่งขันระดับประเทศได้อย่างไร…?
บัว : เริ่มจากที่เพื่อนส่งเมล์มาให้บอกว่ามันมีแคมเปญของ LG จัดให้ทดสอบความเร็วขึ้นทางเว็บไซต์ พอเพื่อนรู้ว่าเราชอบเล่นก็ลองดู โดยเขาจะมีคำศัพท์ให้เรา 10 คำ พอเริ่มพิมพ์โจทย์ที่เขาให้มาเสร็จก็ส่ง SMS ทางเซิร์ฟเวอร์ก็จะส่งกลับมาว่าคำถูกต้องไหม ใช้ในเวลาเท่าไหร่ ปรากฏว่าอาทิตย์แรกบัวไม่ติดอันดับ (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่คิดว่าเราพิมพ์เร็วแล้วนะแต่หลังจากกลับไปซุ่มซ้อมมาเป็นอย่างดี สัปดาห์ต่อมาปรากฏว่าได้ที่ 2 (หัวเราะ) พอปลายสัปดาห์ก็ติด 1 ใน 3 ได้เข้าไปแข่งรอบประจำสัปดาห์ก็ผ่านมาเรื่อยๆ จนถึงแมตช์แข่งขันใหญ่ ที่คนเยอะมากทำให้เราตื่นเต้นและกดดันสุดๆ คือจากแรกๆ แค่เล่นสนุกไง พอจริงจังความรู้สึกมันสั่นสุดๆ
รุต : จะพูดได้ว่าบัวเป็นคนชักนำเข้าวงการ (หัวเราะ) ก็คงจะไม่ผิด เราเป็นเพื่อนที่เรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคอินเตอร์เหมือนกัน ผมเห็นบัวโพสต์รูปในเฟสบุ๊กว่าไปแข่งมาจริง แล้วก็ได้มือถือเราก็อยากได้บ้าง (หัวเราะ) เลยลอง รอบแรกได้ที่ 2 เลยเราก็คิดว่าอย่างน้อยคงได้แหละแต่พอมาดูอีกที ดันตกไปอยู่ที่ 5 สัปดาห์ที่ 2 ส่งไปเราได้ที่ 1 แล้วก็ค้างอยู่แบบนั้น ตลอด นอกจากปกติเป็นคนพิมพ์เร็วแบบสัมผัสไม่มองแป้นอยู่แล้ว แม่จะถามตลอดว่าเกาคอมฯ เหรอ (หัวเราะ) คือเร็วมาก และก็ฝึกฝนเพิ่ม
Q: ช่วยบรรยายกติกา บรรยากาศการแข่งขันให้ฟังหน่อย เห็นว่าตื่นเต้นและสนุกสุดยอด แต่ทั้ง 2 คนก็เกือบจะมาแข่งขันไม่ทัน… ?
บัว : วันนั้นไปสายมาก แถมยังไม่ได้มีความหวังว่าจะชนะ พอไปแข่งก็ต้องแข่งหลายด่านมากกว่ากว่าจะถึงรอบสุดท้าย จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 100 กว่าคน เหลือ 24 คน แล้วก็คัดให้เหลือ 6 คน เพื่อที่จะคัดคนที่ได้อับดับสูงสุด 2 คน เราก็ได้เข้ารอบมาเรื่อยๆ มันจะเหมือนกับการแข่งรถ แต่ละคนก็จะมีสีของตัวเอง เวลาเราพิมพ์รถของเราก็จะวิ่งแข่งกับคนอื่น จากนั้นเราก็ได้เข้ารอบสุดท้ายแบบเออๆ
รุต : วันที่จะไปแข่งรุจนัดกับบัวไว้ตอน 9 โมงเช้า พอเขาไปถึงรุจยังไม่ตื่นเลยเลยโทรมาปลุก แต่ถือว่าวันนั้นทำได้ดีมากและได้เข้าสุดท้าย
Q : ที่สุดแล้วก็ได้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 2 คน
รุต : จริงๆ ไม่คิดว่าจะได้เข้ารอบหรอก (หัวเราะ) เพราะคนอื่นเขาจะเร็วมาก และผมเสียเปรียบตรงที่นิ้วใหญ่ เพราะปุ่มพิมพ์เล็กมาก แต่โชคดีที่เราได้เปรียบตรงภาษาอังกฤษดูโจทย์แล้วสามารถจำคำศัพท์ได้ รู้ว่าสะกดยังไง โดยการแข่งขันรอบสุดท้ายบีบหัวใจมากๆ มีทั้งหมด 5 ด่านเหมือนมาตรฐานเกมส์เดียวกับการแข่งระดับโลก ด่านแรกกับด่าน 2 คล้ายกัน คือ พิมพ์คำศัพท์ ด่าน 3 ต้องพิมพ์ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ตกลงมาเรื่อยๆ ด่าน 4 พิมพ์คำทั้งหมดราว 50 คำ ด่านนี้จะสนุกตื่นเต้นมาก ด่านสุดท้ายจะคล้ายๆ กับด่านที่ 4 โดยด่านนี้เราได้ภาษาอังกฤษ และวางแผนมาดี และด่านนี้ทำให้เราชนะจนจบได้ที่ 1 ความเร็วเฉลี่ยที่ 147 อักษรต่อนาที
บัว : ตอนแรกบัวก็ไม่คิดแล้วว่าจะชนะ แต่พิธีกรเขาบอกว่าเรามีโอกาสก็เลยลุ้นปรากฏว่าชนะคนที่ได้ที่ 3 ไปแค่เสี้ยววินาทีเดียวเอง (หัวเราะ) ความเร็วเฉลี่ยที่ 130 อักษรต่อนาที สรุปแล้วเราทั้งคู่ได้ไปนิวยอร์คทั้ง 2 คน เท่ากับ 1 ทีมไปแข่งขันในนามชาติไทย
Q : หลังจากได้เป็นตัวแทนประเทศไทยแบบอึ้งๆ คือไม่คิดว่าจะได้ไปเป็นตัวแทนประเทศไทยไปชิงแชมป์โลกแล้ว หลังจากนั้นพวกคุณบอกว่าก่อนไปทั้งคู่เตรียมตัวฝึกฝนอย่างหนัก...?
รุต : ใช่ครับ ผมทำการบ้านมหาศาล โดยการศึกษาวิดีโอของแชมป์โลกจากประเทศเกาหลีของปีที่แล้ว เขาพิมพ์เร็วขนาดที่ว่าสามารถฟังเพลง แล้วพิมพ์ตามจนเสร็จพร้อมกัน เฉลี่ยความเร็วอยู่ที่ 300 กว่าอักษรต่อนาที หมายความว่า 1 วินาทีเขาพิมพ์ได้ 6-7 ตัวอักษร ดูแล้วกดดันมากๆ แต่ก็ไม่ท้อยังพัฒนาความเร็วอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ เรามีเวลา 1 เดือนครึ่ง
บัว : รุตเขาจะทำการบ้านมาพอสมควร ส่วนตัวเราเองก็ฝึกฝนของเรา เช่นคุยกับเพื่อน ก็พิมพ์ อยู่ว่างๆ ก็พิมพ์ไปด้วย ซึ่งการแข่งขันระดับโลกมันต้องอาศัยทีมเวิร์ก แต่โชคดีเราเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่พอไปถึงกรุงนิวยอร์กวันแรก เราตกใจมากๆ เพราะตัวแทนแต่ละประเทศเขาจะพิมพ์ๆๆๆ กันตลอด คือ ซีเรียสกันตลอดเวลาเราก็เริ่มกดดัน แต่พยายามจะไม่เครียด ซึ่งทีมทั้งหมดที่เข้าแข่งขันมีทั้งหมด 16 ประเทศ แบ่งเป็น 13 ทีม ทีมละ 2 คน และเราทั้งสองคนเป็นตัวแทนของประเทศไทยคนหนึ่งต้องพิมพ์นิวเวอร์ลิค (แป้นแบบเก่า) และอีกคนต้องพิมพ์คิวเวอร์ตี้ "QWERTY" (แป้นแบบใหม่)
รุต : เกมแบ่งเป็น 5 ด่านเหมือนแข่งขันที่ไทย ต่างกันที่เราแข่งพร้อมกัน 2 คน เป็นบัดดี้กัน โชคดีที่เราสนิทกันอยู่แล้วจึงเข้าขากันดี พอแข่งครบ 4 รอบ เขาจะตัดคะแนน 4 ประเทศแรกที่อันดับสูงสุดเข้าไปก่อน คือ ออสเตรเรีย เกาหลี ปานามา และบราซิล แต่เราไม่เข้า พอมาแข่งรอบที่ 5 เหลืออยู่ 9 ทีม คัดเข้าไปอีก 2 ทีม เพื่อเข้าไปชิงชนะเลิศ รอบนี้ลุ้นมากว่าเราจะเข้าไปได้ไหม มันมาก แต่เสียดายว่ารอบสุดท้ายเราไม่รู้ว่าเขาให้พิมพ์ด้วยกันสองคน ทั้งๆ ที่เรานำมาตลอด สุดท้ายอเมริกาก็ได้เข้ารอบไป ตอนนั้นเสียดายมากเพราะเราช้ากว่าเขาแค่วินาทีเดียวเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่เสียใจเพราะเราก็ถือว่าทำได้ดีมากกว่าที่คาดไว้
Q : ได้อะไรจากการแข่งขันพิมพ์เอสเอ็มเอสเร็ว?
รุต : แน่นอนคือทำให้เราได้ไปนิวยอร์ค เพราะไม่เคยคิดว่าการพิมพ์เร็วจะทำให้เราได้ไปถึงนิวยอร์ค ไม่ได้คาดว่าวันหนึ่งเราจะได้มาใช้ให้มันเป็นประโยชน์ได้
บัว : ได้เพื่อนค่ะ และมันเป็นการแข่งขันที่ทำให้เราได้ไปในระดับโลก ใครจะไปคิดว่าแค่พิมพ์ SMS เฉยๆ จะได้ไปถึงอเมริกา ตั้งแต่ไปที่นั่นจนกลับมาปัจจุบันเราก็ยังคุยกับเพื่อนของเราอยู่ เมื่อเร็วๆ นี้ที่มีขบวนเสื้อแดงเดินประท้วงเขาก็ยังถามเราอยู่เลยว่าเป็นอะไรหรือเปล่า เกิดอะไรขึ้นเพราะเขาเป็นห่วงเรา เราคุยกันทุกวันและสัญญากันไว้ว่าปีหนึ่งเราจะมาเจอกันครั้งหนึ่ง เจอกันแค่อาทิตย์เดียวแต่เราก็สนิทกันมาก พอจบเกมปุ๊บทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด มีน้ำใจเป็นนักกีฬากันทุกคน
...
อีกสิ่งหนึ่งที่บัวอยากจะบอกก็ คือ อย่างน้อยๆ การพิมพ์เร็วก็ได้พัฒนาศัพท์ ฝึกการสะกด ทักษะความคิด รวมถึงได้ฝึกสมาธิไปด้วย และมันคือสิ่งที่เราภาคภูมิใจมากค่ะ ตอนอยู่ที่อเมริกาเขาพูดเลยว่า “ให้เราเชื่อว่าอย่างน้อยๆ เราก็อยู่ในกลุ่มคนที่พิมพ์เร็วที่สุดในโลกแล้ว” ตอนนั้นรู้สึกว่าเราเท่จริงๆ
Q : มีคนมองว่าอีกไม่นานคนก็จะหันมาสื่อสารด้วยการพิมพ์ข้อความทางมือถือกันหมด ในความคิดคุณโลกแห่งการแชทมันจะทำให้เราพูดจา หรือ สื่อสารกับคนรอบข้างน้อยลงแบบที่หลายคนห่วงไหม…?
บัว : ไม่เลยค่ะ เราสองคนจะแย่งกันพูดตลอดเวลา
รุต : ไม่เหมือนกันครับเพราะเวลาที่ผมพิมพ์อยู่ผมก็สามารถคุยกับพี่ไปด้วยได้เหมือนกัน
Q : ครอบครัวคุณว่าอย่างไรบ้าง...?
บัว : มีบ้างค่ะ อย่างแม่บัวก็จะเฉยๆ ก็สนับสนุน แต่เขาก็จะไม่ได้บอกกับเราว่าปลื้มใจหรืออะไรอย่างนี้ เพราะคนสมัยก่อนเขาจะชอบประมาณว่า ชีวิตก็ต้องเป็นชีวิตตัวเองต้องพบปะผู้คน หรือเข้าสังคม
รุต : ตอนที่ไปแข่งแม่เขาก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่พอเราแข็งเสร็จโทรไปบอกที่บ้านว่าเราชนะ แม่เขาก็ถามว่าเราไปแข่งอะไรเหรอ แต่เขาก็ดีใจแล้วก็ภูมิใจมาก หลังจากรู้ข่าวเขาก็โทรมาตลอด
Q : คุณมองเห็นข้อเสียของกิจกรรมนี้ไหม ว่าแต่จริงๆ เราควรจะเรียกมันว่ากิจกรรมได้ไหม...?
บัว : (หัวเราะ) ได้ค่ะ ถามว่ามีข้อเสียไหม ไม่มีค่ะเพราะตราบใดที่เรายังรู้ว่าเราต้องคุยกับมนุษย์อยู่ มันก็ถือว่าเป็นข้อดี
รุต : ใช่ครับ มันก็เหมือนกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตเราไปด้วย พอเราอยู่คนละที่เราก็ต้องเพิ่งเทคโนโลยีที่สามารถทำได้หลายอย่างเลย บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องโทรหากัน มันคือการสื่อสารอย่างหนึ่ง ที่เมืองนอกเขามีโปรโมชั่นส่ง SMS เท่าไหร่ก็ได้แต่จ่ายแค่เท่านี้ ผมหวังไว้ว่าอยากให้เมืองไทยมีแบบนี้บ้างเหมือนกัน เพราะบางครั้งเราก็ไม่กล้าที่จะคุยกับคนที่ไม่ค่อยรู้จักหรือมีอายบ้าง แต่การส่ง SMS จะดูดีกว่า
Q : เดือนหนึ่งเสียค่า SMS ประมาณเท่าไหร่...?
บัว : โอ้โห เยอะกว่าค่าโทรอีก เดือนหนึ่งค่าโทรร้อยกว่าบาทแต่ค่าส่งSMS 300 กว่าบาท เพราะเวลาที่มีคนส่งมาปุ๊บเราก็ส่งตอบกลับเหมือนกับ MSN เลย
รุต : ของผมปกติ (หัวเราะ)
Q : สุดท้ายถ้ามีคนมองกิจกรรมนี้ในแง่ลบ ส่วนตัวอยากจะบอกว่ายังไงบ้าง?
รุต : ก็อยากจะให้เขารู้ว่าเราไม่ได้มีผลเสีย เพราะการที่เราเป็นแบบนี้ก็ทำให้เราได้ไปถึงนิวยอร์คแล้ว มันได้ประโยชน์ และบางครั้งในการที่เราพิมพ์มันก็อาจจะเป็นเรื่องงานก็ได้ อย่างบางครั้งคุยกับเพื่อนหรือว่ากำลังประชุมอยู่แต่ตอนนั้นจำเป็นต้องคุยก็ต้องเพิ่ง SMS ที่ช่วยได้ การพิมพ์เร็วก็มีประโยชน์ อย่างงานอะไรที่เร่งด่วนเราก็สามารถส่งได้อย่างรวดเร็ว อนาคตที่มีคนบอกว่าเราจะไม่สื่อสารกัน อันนี้ไม่จริง เพราะการส่ง SMS มันช่วยได้เยอะ อย่างเช่น ไปเมืองนอกค่าโทรแพงมาก เราก็ต้องส่ง SMS แทน ตราบใดที่คนเรายังเจอหน้ากันอยู่มันก็ต้องพูดกันอยู่แล้ว ถ้าคนที่ไม่พูดเลยก็แสดงว่าเป็นคนที่ไม่รู้จักเวลาแบ่งเวลาไม่เป็นจริงๆ
บัว : SMS มีประโยชน์มากค่ะ ยกตัวอย่างญาติของหนูเขาเป็นคนหูหนวก SMS นี่แหละเป็นตัวที่ทำให้เขาสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ ขนาดอาจารย์ที่สอนอยู่ที่วิทยาลัยราชสุดา ที่เป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกเขาก็อัดวิดีโอส่งไปให้เพื่อนเขาทำให้สามารถติดต่อกันได้ โดยมีข้อดีหลายอย่างที่บางคนยังไม่รู้.
สำหรับผู้ชนะในการแข่งขันชิงแชมป์โลกในครั้งนี้ ได้แก่ 2 พี่น้อง Cristina Sales Ancines อายุ 20 ปี และ Jennifer Sales Ancines อายุ 15 ปี จากประเทศปานามา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 : ผู้แข่งขันจากประเทศเกาหลี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 : ผู้แข่งขันจากประเทศบราซิลเจ้าของรางวัล Guinness World Record : Cheong Kit Au จากประเทศออสเตรเลีย พิมพ์ได้ 264 ตัวอักษร ภายในเวลา 1 นาที 17 วินาที ซึ่งดีกว่าสถิติเดิมที่เคยทำไว้โดย เปโดร มาเทียส จาก โปรตุเกส 1 นาที 59 วินาทีเลยทีเดียว