สุรินทร์ เงินรูปงาม ผอ.สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, อลงกรณ์ พลบุตร, กุญญพันธ์ แรงขำ และสุรภีร์ โรจนวงศ์ ร่วมยินดีกับผู้ชนะเลิศทั้ง 4 ประเภท.

หลังเปิดรับผลงานเข้าประกวด "ออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติร่วมสมัย" ภายใต้แนวคิด สะท้อนความเป็นไทยร่วมสมัยนิยม สวมใส่ได้สบายในชีวิตประจำวัน มาได้ระยะหนึ่ง ในที่สุด นายกุญญพันธ์ แรงขำ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. ก็ได้จัด ประกวดรอบตัดสินขึ้น ณ สตูดิโอ อสมท พระราม 9 โดยเชิญ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานตัดสิน


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงการประกวดฯว่า เกิดจากการที่ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมของไทยผ่านการดำเนินงานของ ศ.ศ.ป. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผ้าไทย ซึ่งเป็นฝีมือและภูมิปัญญาของคนไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม ภายใต้แนวคิด "เศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์" ให้กับผลิตภัณฑ์ด้านศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อผลักดันให้สามารถแข่งขันในระดับนานาประเทศ  นอก จากนี้ ยังเป็นการปลุกกระแสความเป็นชาตินิยม สะท้อนเอกลักษณ์ประจำชาติที่มีความร่วมสมัย ซึ่งเครื่องแต่งกายเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการยกระดับ เพราะจะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ และนับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ ที่ดีต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นไทยที่จะออกสู่ตลาดโลก

...


สำหรับผลการตัดสินทั้ง 4 ประเภท ชนะเลิศ ประเภทชุดลำลองสำหรับสุภาพสตรี ได้แก่ ผลงาน"ตีนจก" ของ น.ส.มณีรัตน์ นพศรี นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี เป็นชุดเดรสที่นำผ้าฝ้ายกับผ้าลายตีนจกมาผสมกัน ใช้สีดำและสีแดง ซึ่งทำให้เกิดความลงตัวของสี โดยนำผ้าตีนจกมาใช้บริเวณชายกระโปรง คอ และแขนเสื้อ เน้นโชว์ลายผ้าตีนจก ประเภทลำลองสำหรับผู้ชาย ได้แก่ผลงาน "รัตนโกสินทร์" ของ นายเกรียงศักดิ์ ลือ-เกียรติอนันต์  ม.ศิลปากร  ซึ่งนำภาพวัดพระแก้วมาพริ้นต์ สกรีนลงบนด้านหลังของเสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าฝ้าย กางเกงใช้ผ้าฝ้ายตัดเย็บเลียนแบบโจงกระเบน ประเภทชุดทำงานสำหรับสุภาพสตรี เป็นผลงาน "Abiding Faith ศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลาย" ของ นายอภิรักษ์ ทองปิยะภูมิ จากมศว ประสานมิตร สะท้อนความเป็นไทยด้วย "สไบนาง" บนตัวเสื้อ และพริ้นต์สกรีนเป็นลายช้าง คล้ายภาพประติมากรรมฝาผนังตามวัด และ ประเภทชุดทำงานสุภาพบุรุษ เป็นผลงาน "ศิลป์สยาม" ของ นายภาณุพงษ์ อินทะมน มศว ประสานมิตร เป็นการย้อนกลับสู่ศิลปะของไทย โดยนำโครงเสื้อราชปะแตนมาตัดเย็บด้วยผ้าลายนกคาบ และใช้ลูกเล่นของโจงกระเบนตรงบริเวณข้างตัวเสื้อและขอบกางเกง ซึ่งอิงมาจากการแต่งกายสมัย ร.5 เป็นการผสมผสานให้เกิดความทันสมัยและใส่ได้จริงในปัจจุบัน.