เชื่อว่าบางคนอาจเคยมีอาการแบบนี้ ชอบนอน นอนเยอะ นอนยาว นอนเท่าไหร่ก็รู้สึกว่านอนไม่อิ่ม บางทีนอนอิ่มจนตื่นแล้ว แต่ก็ขี้เกียจลุก ไม่อยากลุกไปทำอะไรทั้งนั้น รู้หรือเปล่า? นี่มันเข้าข่ายอาการทางจิตเบาๆ แล้วนะ!

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ มีข้อมูลทางสุขภาพดีๆ ที่อยากเอามาบอกต่อ สำหรับคนที่ชอบนอนเยอะนอนยาวจนผิดปกติ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทำงานมาเหนื่อยๆ ก็อยากนอนพักผ่อนยาว แต่เดี๋ยวก่อน...นิสัยนอนเยอะๆ แบบนี้ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเข้าข่ายอาการทางจิตระยะเริ่มต้นที่เรียกว่า Clinomania สุ่มเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็น 'โรคซึมเศร้า' ได้

โดยทางจิตวิทยาแล้ว โรค Clinomania หรือ Dysania เป็นอาการของคนที่หลงรักการนอนอยู่บนเตียง ชนิดที่ว่าให้นอนอยู่บนเตียงทั้งวันเลยก็ยังได้ ซึ่งก็อาจนำมาสู่อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง งัวเงีย และยังอาจแสดงได้ถึงความกังวลที่แอบซ่อนอยู่ในใจลึกๆ รวมทั้งบางเคสอาจมีอาการเครียดหรือความเศร้าร่วมด้วยก็ได้

Clinomania คืออะไร?

แน่นอนไม่มีใครชอบตื่นตอนเช้าตรู่ทุกวันๆ หรอก คนส่วนใหญ่พยายามที่จะขอนอนต่ออีกหน่อย หรือลุกมาเลื่อนนาฬิกาปลุกออกไป ทีละ 10 นาทีไปเรื่อยๆ หลายรอบ กว่าจะงัดตัวเองขึ้นมาอาบน้ำได้ช่างยากเย็น ตื่นมาก็อัดๆ กาแฟเข้าไป ทำให้ตื่นเต็มตา พร้อมไปทำงาน หลายคนเลยไม่ทันได้เอะใจว่า อาการที่ชอบนอนนานๆ นั้น ที่จริงอาจเป็นอาการที่แสดงออกของโรคทางจิตวิทยา 

...

รู้หรือไม่? หากคุณมีอาการที่คนไทยชอบบอกว่าเป็น เตียงดูดวิญญาณ อาการเหล่านั้นบ่งบอกว่าคุณมีอาการของ Clinomania หมายถึง การเสพติดการนอน หรือเป็นอาการที่ไม่อยากลุกออกจากเตียง เป็นภาวะร้ายแรงที่ปริมาณการนอนหลับไม่เพียงพอ

สิ่งนี้เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันและทำให้เสียสุขภาพ คนที่มีอาการนี้มักจะทุกข์ทรมานจากความรู้สึกที่ว่า จำเป็นจะต้องลุกไปต่อสู้กับความรับผิดชอบของตนในโลกภายนอกที่รออยู่ ทั้งๆ ที่เหนื่อยล้าและรู้สึกไม่อยากทำ สิ่งนี้อาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาส่วนบุคคลในมิติอื่นๆ ได้

Clinomania อาการเริ่มต้นของซึมเศร้า

Clinomania เป็นโรคทางจิตวิทยา เชื่อมโยงกับโรควิตกกังวล และความผิดปกติของความวิตกกังวลอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าและโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง คนที่มีอาการ Clinomania มักจะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะหลบหนีจากความรับผิดชอบส่วนตัว เพียงเพื่ออยากจะเลื่อนปัญหาให้ห่างออกไปอีกสักหน่อย พวกเขาจะรู้สึกว่าการนอนหลับช่วยให้คลายกังวลลงได้

Clinomania ไม่ใช่คนขี้เกียจ

สำหรับคนทั่วไปอาจจะอยากนอนหลับเพิ่มขึ้นอีกชั่วโมงหรือสองชั่วโมงเมื่อรู้สึกว่าเราขี้เกียจหรือเบื่อ นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนที่เป็นโรคเสพติดการนอน Clinomania ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเกียจคร้านหรืออ่อนเพลีย แต่มันเป็นความผิดปกติในระดับพื้นฐานทางจิตวิทยา

มีทางรักษา Clinomania หรือไม่?

ในปัจจุบันพบว่า มีการบำบัดที่หลากหลายสำหรับคนที่มีอาการของโรค Clinomania ซึ่งมีตั้งแต่วิธีการตามธรรมชาติ เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหารให้เหมาะสม การฉีดยาหรือกินยาในกลุ่ม Serotonin เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรตัดสินใจเองว่าตัวเองเป็น หรือไม่เป็นโรคนี้ แต่ถ้าสงสัยควรไปหาหมอ เพื่อที่จะได้รับการประเมินตนเองโดยคุณหมอด้านจิตวิทยาที่มีประสบการณ์.

ที่มา : clinomania.org