แรงดันโลหิต หรือ แรงดันเลือด คือแรงดันที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจเป็นเสมือนปั๊มน้ำที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยง อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย การบอกค่าความดันโลหิต เรามักจะบอกเป็นสองค่าคือ แรงดันโลหิตค่าบน (Systolic Blood Pressure) ซึ่งเป็นแรงดันขณะหัวใจสูบฉีดเลือดออกมาในเส้นเลือดแดง(หัวใจบีบตัว) และแรงดันโลหิตค่าล่าง (Diastolic Blood Pressure) ซึ่งเป็นแรงดันที่ยังมีค้างอยู่ในหลอดเลือดแดง ขณะที่หัวใจไม่ได้ฉีดเลือดออกมา(หัวใจกำลังคลายตัว) ตามเกณฑ์ปัจจุบัน เราแบ่งภาวะความดันโลหิตเป็น
ความดันโลหิตปกติ คือค่าความดันโลหิตค่าบนน้อยกว่า 120 มม.ปรอท และค่าความดันโลหิตค่าล่างน้อยกว่า 80 มม.ปรอท
ความดันโลหิตเริ่มสูง คือความดันโลหิตค่าบน 120 139 มม.ปรอท หรือความดันโลหิตค่าล่าง 80 – 89 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูง คือความดันโลหิตค่าบนตั้งแต่ 140 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันโลหิตค่าล่างตั้งแต่ 90 มม.ปรอทขึ้นไป
จากการศึกษาพบว่า ชาวอเมริกันประมาณร้อยละ 29 มีความดันโลหิตสูง ในจำนวนนี้ร้อยละ 68.4 เท่านั้นที่ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง และเพียงร้อยละ 53.6 ของผู้มีความดันโลหิตสูงที่ได้รับการรักษาและในกลุ่มที่ได้รับการรักษาก็มี เพียงร้อยละ 27.4 ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี นอกจากนั้นยังพบว่า สองในสามของประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี จะมีความดันโลหิตสูง
เป็น ความเข้าใจผิดที่มักจะคิดว่าถ้ามีความดันโลหิตสูงก็จะมีอาการปวดศีรษะ จากการสำรวจจะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ และความดันโลหิตก็ทำให้เกิดผลเสียโดยไม่ทันได้ป้องกันหรือรับการรักษา ด้วยเหตุนี้โรคความดันโลหิตสูงจึงได้รับสมญาว่า “ฆาตกรเงียบ”
...
ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกายดังนี้
หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวและหัวใจโตขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพและเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวายได้
สมอง ความดันโลหิตสูง สามารถทำให้หลอดเลือดสมองตีบตันได้เช่นเดียวกับเส้นเลือดหัวใจ และอาจจะทำให้เส้นเลือดสมองแตกได้ ซึ่งทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ไต ความดันโลหิตสูง สามารถทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เป็นไตวาย
ตา จอประสาทตาของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเสื่อมจากเส้นเลือดฝอยอุดตัน เส้นเลือดฝอยแตก จอประสาทตาลอกได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะตามัว หรืออาจตาบอดได้
หลอดเลือด ความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเสื่อม จึงสามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะทั่วร่างกายได้ เช่น เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ ปวดขา เดินได้ไม่ไกล
การป้องกัน ควบคุม รักษา ภาวะความดันโลหิตสูงทำได้อย่างไร
ควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีน้ำหนักตัวเกินกำหนด เมื่อลดน้ำหนักลง 1 กิโลกรัม จะสามารถลดความดันโลหิตค่าบนลงได้ 2.5 มม.ปรอท และลดความดันโลหิตค่าล่างลงได้ 1.5 มม.ปรอท
จำกัดปริมาณเกลือในอาหาร การรับประทานอาหารเค็มสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ควรจำกัดปริมาณเกลือที่รับประทานในแต่ละวันไม่เกิน 6 กรัม (เกลือ 1 ช้อนชา มีปริมาณเกลือประมาณ 5 กรัม) ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ประมาณ 2-8 มม.ปรอท
หลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากความเครียดจะทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนที่จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้
งดสูบบุหรี่ บุหรี่มีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออวัยวะในร่างกายร่วมกับความดันโลหิตสูง ได้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งอีกด้วย
งด หรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง ในแต่ละวันไม่ควรดื่มสุราเกิน 60 ลบ.ซม. เบียร์ 720 ลบ.ซม. หรือไวน์ไม่เกิน 240 ลบ.ซม.
ออกกำลังกาย จากการศึกษาพบว่าหลังจากผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน 3-6 เดือนขึ้นไป จะสามารถลดความดันโลหิตลงได้ประมาณ 10-20 มม.ปรอท
การออกกำลังกายที่ เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง จะต้องเป็นการออกกำลังแบบที่มีการใช้ออกซิเจนให้มาก มีการเคลื่อนไหวหรือที่เรียกว่าการออกกำลังกายแบบ แอโรบิก โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และออกกำลังกายในระดับปานกลาง คือขณะออกกำลังกายอัตราการเต้นของชีพจรควรจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของอัตราชีพจรสูงสุด (อัตราชีพจรสูงสุดคำนวณจาก 220 ลบด้วย อายุ) และควรออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 20-30 นาที และไม่ควรเกิน 90 นาที
การพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ แจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำทุกชนิด แพทย์จะพิจารณายาลดความดันโลหิตที่เหมาะสมและติดตามผลการรักษา เพื่อปรับเปลี่ยนขนาด หรือชนิดยาให้เหมาะสมต่อไป
ตรวจวัดความดันโลหิต สม่ำเสมอ การวัดความดันโลหิตเป็นประจำและจดบันทึกไว้ จะเป็นประโยชน์ในการช่วยให้แพทย์ควบคุมความดันโลหิตของท่านได้ดีขึ้น
แล้วหากภาวะความดันโลหิตต่ำ จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือไม่...
ความดันโลหิตต่ำเกินไป ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปลี่ยนอิริยาบทจากท่านอนมาเป็นยืน หรือนั่ง มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง เป็นลมได้ง่าย ความดันโลหิตต่ำมาก จะทำให้การไหลเวียนของโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญของร่างกายไม่ทัน ทำให้ขาดออกซิเจน ถ่ายเทขอเสียไม่ทัน โดยเฉพาะเซลล์ของสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ และไต ซึ่งมีความสำคัญมากต่อร่างกาย ถ้าความดันโลหิตลดลงต่ำมาก จะทำให้อวัยวะดังกล่าวขาดออกซิเจน อาจทำให้เป็นลม ช็อคได้
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ
สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะความดันโลหิตต่ำ คือ ขาดสารอาหาร การสูญเสียโลหิต ทั้งแบบกะทันหัน เช่น อุบัติเหตุ หรือการสูญเสียโลหิตแบบเรื้อรัง เช่น บาดแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้หรือที่ไต เป็นต้น การสูญเสียน้ำ เช่น เหงื่อ ท้องเสีย การติดเชื้อรุนแรง โรคหัวใจ อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ รวมถึงภาวะซึมเศร้า
วิธีการดูแลร่างกายสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ
วัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ หรือเปลี่ยนอิริยาบทอย่างรวดเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงสถานที่มีอากาศร้อนอบอ้าวนานเกินไป สวมเสื้อผ้าไม่รัดเกินไป ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
เชื่อว่าหากท่านเข้าใจและปฏิบัติตนได้ตามคำแนะนำนี้แล้ว ท่านจะรู้ทันฆาตกรเงียบรายนี้ และสามารถป้องกันไม่ให้มันทำร้ายท่านได้
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com