อาการปวดท้อง เป็นอาการเริ่มแรกของสารพัดโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคทางนรีเวช โรคปอด โรคหัวใจ ฯลฯ ฉะนั้นหากคุณมีอาการปวดท้อง สิ่งสำคัญคือ ต้องสังเกตรูปแบบอาการปวด และตำแหน่งที่ปวดให้ชัดเจน
ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องได้บ่อย ในวัยทำงาน มาให้รู้จักกัน
1. ปวดท้องกระเพาะอาหาร
หนึ่งในอาการปวดท้องที่คนวัยทำงานเป็นกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งอาการปวดท้องโรคกระเพาะไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกินอาหารเผ็ดจัด หรือการกินอาหารไม่ตรงเวลาเท่านั้น
แต่ยังมีสาเหตุที่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เชื้อ เอช ไพโลไร เป็นเชื้อที่มีความสามารถพิเศษในการทนต่อสภาพกรดภายในกระเพาะอาหาร ทำให้เชื้อสามารถเจริญเติบโตในกระเพาะได้
วิธีดูแลตัวเอง : ปรับการกินอาหารให้ตรงเวลา ห้ามกินอาหารรสจัด กินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย ทานยาเคลือบแผลในกระเพาะอาหารควบคู่ไปด้วย พักผ่อนให้เพียง ทำสมองและจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
...
แต่ถ้าไม่หายจริงๆ ก็ต้องรีบไปหาหมอที่โรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกวิธี โดยคุณหมอจะตรวจด้วย 2 วิธีนี้
ตรวจด้วยการส่องกล้อง (GI Scope)
เป็นการรักษา หาสาเหตุด้วยการส่องกล้อง เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและแม่นยำมากที่สุดในปัจจุบัน สำหรับแพทย์ เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคในระบบทางเดินอาหาร การส่องกล้อง สามารถตัดผนังบุกระเพาะอาหารชิ้นเล็กๆ ไปตรวจหาเชื้อซึ่งเป็นการตรวจแอนติบอดี้ต่อเชื้อ
ตรวจด้วยการเป่าลมหายใจ
เชื้อเอช ไพโลไร รักษาและตรวจพบได้ด้วยวิธีการเป่าลมหายใจ Urea Breath Test (UBT) เป็นการตรวจสารที่เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สร้างขึ้นในกระเพาะอาหาร สามารถตรวจพบได้ในลมหายใจของผู้ป่วย
รู้หรือไม่?
- โรคกระเพาะอาหารติดต่อกันได้จากคนสู่คนโดยเชื้อ H. Pylori (เอชไพโลไร)
- โรคกระเพาะอาหารอาจกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ จากเชื้อเอช ไพโลไร
- เชื้อเอช ไพโลไร ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ 6-40 เท่า ของคนปกติ
- เชื้อเอช ไพโลไร ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร 2-6 เท่า ของคนปกติ
- เชื้อเอช ไพโลไร มักจะติดต่อกันสูงในครอบครัวเดียวกัน เด็กๆ มีโอกาสติดเชื้อจากคนในครอบครัว
2. ปวดท้องกระเพาะปัสสาวะ/มดลูก
ต่อมา เป็นอาการปวดท้องที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิง นั่นคือ ปวดท้องบริเวณ 'ท้องน้อย' ซึ่งสาเหตุมักจะมาจากอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ หรืออาการผิดปกติบางอย่างของมดลูก
วิธีดูแลตัวเอง : ดื่มน้ำเยอะๆ ลุกไปเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ อย่ากลั้นปัสสาวะ และควรไปตรวจช่องคลอดและมดลูกประจำปีทุกๆ ปี
3. ปวดท้องประจำเดือน
อาการนี้เรียกว่าเป็นอาการทั่วไปของผู้หญิงที่เป็นกันทุกเดือน แต่ความรุนแรงของอาการปวดจะแตกต่างกันไป บางคนก็ปวดแบบทนได้ ไม่หนักหนาอะไรมาก แต่บางคนก็ปวด 'ท้องน้อย' มาก ปวดลามไปถึงสะโพก หลัง และขา เหนื่อย หมดแรง ไม่มีแรงลุกไปทำงานเลยก็มี
วิธีดูแลตัวเอง : ถ้าปวดท้องไม่มากนัก แค่หาซื้อยาแก้ปวดพอนสแตนมาทาน ไม่นานอาการปวดก็หายไป สามารถทำงานและกิจกรรมประจำวันได้ปกติ แต่ถ้าใครปวดมากๆ และปวดทรมานแบบนี้ทุกเดือน บวกกับมีอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ อันนี้เริ่มส่อแววอันตราย ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน
...
4. ปวดท้องไส้ติ่งอักเสบ
อันนี้ก็เป็นอาการปวดท้องที่อันตรายเหมือนกัน โดยปกติอาการปวดท้องไส้ติ่งอักเสบจะปวดท้องตรงกลางลำตัว และปวดลามไปทางขวามือด้วย อาการปวดมักจะรุนแรงขึ้นมาอย่างฉับพลัน
วิธีดูแลตัวเอง : ถ้าสงสัยว่าตัวเองปวดท้องไส้ติ่ง ไม่ต้องทำอย่างอื่นแล้ว หยุดงานทุกอย่าง ให้รีบไปหาหมอที่โรงพยาบาลทันที ก่อนที่ไส้ติ่งจะแตกและเป็นอันตรายมากขึ้น
5. ปวดท้องบิดเกร็ง ท้องเสีย
ส่วนอาการปวดท้องแบบท้องเสีย อันนี้สามารถเกิดขึ้นกับวัยทำงานได้บ่อยเหมือนกัน เวลาไปรับประทานอาหารกลางวันหรืออาหารเย็นตามตลาดข้างออฟฟิศ บางร้านก็ปรุงอาหารไม่สะอาด เผลอกินเข้าไปก็ทำให้ถ่ายท้อง ท้องร่วง มีอาการปวดบิด ปวดเกร็งในช่องท้อง และอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย
วิธีดูแลตัวเอง : ซื้อยาฆ่าเชื้อในลำไส้ เกลือแร่ผง(เอามาผสมน้ำสะอาดจิบเรื่อยๆ) และเม็ดคาร์บอนดูดซับสารพิษและเชื้อโรค เอามารับประทานก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
หรืออีกอย่างคือ กินยาธาตุน้ำขาว สามารถฆ่าเชื้อในกระเพาะและลำไส้ได้ดีอีกทางหนึ่ง แต่ถ้าไม่ดีขึ้นเลย ต้องรีบไปหาหมอด่วนๆ
...
ที่มาบางส่วน : โรงพยาบาลเปาโล, memblr.thailand