นับจากนี้ขอให้อ่านเป็นเพลง "เฮ๊ย…นี้มันวันอะไร บางคนฟังแล้วเค้าก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าวันนี้มาจากไหน และก็ไม่รู้ใครเอาวันนี้เข้ามา บางคนเค้าก็เรียกวันศุกร์ บางคนเค้าก็เรียกว่าสุข กระโดดฉีกแข้งฉีกขา เค้าเรียกว่าสุขหรือว่าวันศุกร์..."
ทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" ต้องขออนุญาตหยิบยกเพลงดังแห่งปี แนวเร็กเก้สกา ที่ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาสาวนุ่งสั้น หนุ่มโย่ขาแดนซ์ หรือรุ่นใหญ่วัยทำงาน ต้องล้วนเคยได้ยินและเคยออกสเต๊ปกันมาแล้ว กับบทเพลง "สกาวาไรตี้" มาประยุกต์ปรับบทให้เข้ากับความเคลือบแคลงของนิยามคำดังกล่าว
ทั้งนี้หากเปิดให้ประชาชนเข้ามาโหวตคะแนนเสียง ในหัวข้อที่ว่า "ชอบวันไหนมากที่สุดใน 7 วัน" คำตอบที่ได้คงไม่พ้น "วันศุกร์" ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องโหวตให้เมื่อยตุ้ม เพราะคำตอบที่ได้ มันชี้ชัดอยู่แล้วว่า ช่วงวันที่คนทำงานและวัยรุ่นวุ่นรัก รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาขาเฟี้ยว ชื่นชอบและเป็นวันที่มีความสุขมากที่สุด คือ "วันสุข" (ศุกร์) และนั่นคือคำตอบเดียวกัน
"วันศุกร์ (สุข) แห่งชาติ" เริ่มเข้ามาบทบาทในเมืองไทยเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มกันที่ "วันศุกร์" ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์การทำงาน เป็นเหตุผลลำดับแรกที่หลายคนหลงใหล เพราะว่า "เย้…พรุ่งนี้ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องไปเรียนหนังสือ" บ้างก็พร่ำพรรณนา "คืนนี้เมาเต็มที่ - ราตรีนี้ยังอีกยาวไกลนัก - เดี๋ยวจะแดนซ์ให้กระจายไปเลย"
และเหตุผลข้อที่ 2 ถ้าวันศุกร์ใดไปตรงกับวันที่ 1 ของเดือน ซึ่งเป็นวันที่เงินเดือนออก ยังมีเสียงสะท้อนจากมนุษย์เงินเดือนออกมาว่า "สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ ทนกินมาม่าเกือบ 2 สัปดาห์เต็ม พรุ่งนี้จะไปกินสเต็ก…"
...
แต่พระเจ้าช่วยกล้วยทอด ไปไม่ถึงเหตุผลที่ 3 กลับได้ฟังสำเนียงเสียงใครหลายคนบ่นออกมา "นี่หรือเมืองไทยที่ฉันรัก ทำไมมันทรมานแบบนี้..." มันเกิดอะไรขึ้น แทนที่ทุกคนจะอุทานด้วยความดีใจ ที่เงินเดือนไหลเข้าบัญชีกันแล้ว แต่มันก็แฝงไว้ด้วยความทุกข์ของใครบางคน
เพราะเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า เมืองหลวงของไทย "กรุงเทพมหานคร" สภาพการจราจรติดขัดแบบวินาศสันตะโร มิปานโลกจะแตก โดยเฉพาะวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 06:00 น. โดยประมาณ ชาวกรุงเริ่มแห่ออกจากบ้านแบบล้นทะลัก เพื่อมาแออัดกันอยู่ท้องถนน หากวันไหนชะตาฟ้าลิขิต โปรยน้ำฝนลงมาจากฟากฟ้า ไม่เพียงแต่จะทำให้คนชุ่มช่ำจนแฉะ รถก็ติดเป็นอัมพาต จนคนบนรถก็จะพลอยเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ไปด้วย แล้วยิ่งพวกที่ต้องห้อย-โหนอยู่บนรถเมล์ ยิ่งดูแล้วน่าเห็นใจเป็นที่สุด
แต่ก็ปฏิเสธความสุขที่มาพร้อมกับวันศุกร์ไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ 3 ที่ทำให้คนไทยคึกคักเป็นพิเศษ ถึงกับปฏิญาณตนว่าอยากอยู่เมืองไทย เพราะอยากเล่น "หวย" ไม่เช่นเพียงแต่ ตาสีตาสา - ลุงมียายมา ที่ละทิ้งหน้าที่ กระโจนตัวมาแทงหวยแบบเป็นวรรคเป็นเวร แต่นั่นก็คือสัจธรรม แต่ความสุขอยู่ที่ว่า ถ้าวันศุกร์นั้น ประจวบเหมาะเจาะ กับวันหวยออกพอดี อะไรจะเกิดขึ้น ??? (ตอบแทนได้เลย...)
จากเหตุผลข้างต้น ก็พอจะสมเหตุสมผลแล้วว่า ทำไม๊ ทำไม ถึงได้มีคำว่า "วันศุกร์แห่งชาติ" ในเมื่อมันมีความสุขขนาดนี้ แล้วใครจะไปเรียกว่า "วันทุกข์แห่งชาติ" ถึงแม้จะอาจมีบ้าง แต่หากมีการโหวตคะแนนเสียงจริง วันศุกร์แห่งชาติคงกินขาดอยู่ดี เพราะนั่นหมายถึงคำว่า "ปลดแอก" อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันนี้เป็น "วันศุกร์แห่งชาติ" ไปแล้ว ด้วยเหตุผลนานัปการ ทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" ขอเพิ่มวาระอีกหนึ่งเรื่อง เพราะวันนี้เป็นวันที่ 1 ต.ค. 2553 ซึ่งเป็น "วันสุขแห่งชาติ" ยังไม่เพียงพอ มันยังถึงวันของการเริ่มต้นสิ่งดีๆ อาทิเช่น วันแรกของปีงบประมาณ จะใช้เงินบริหารประเทศอย่างไรให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า นอกจากนี้ยังเป็นวันที่มีความหมายกับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะกับบรรดาข้าราชการ ที่บางคนก็เริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ขณะที่หลายคนถึงเวลาต้องโบกมือลาจากตำแหน่ง หลังครบกำหนดเกษียณอายุราชการ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อร้านค้าร้านอาหาร ที่ดูเนืองแน่นไปขนัดตา ทั้งเลี้ยงส่ง เลี้ยงต้อนรับ เลี้ยงขอบคุณ สารพัดจะอ้างเหตุผลกัน
...
แล้วคุณล่ะ...วันศุกร์ (สุข) แห่งชาติวันนี้ จะไปหาความสุขกันที่ไหน ??? ไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญคือ เมาไม่ขับ กลับถึงบ้านทุกคน...