เจาะลึกสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้ง 4 ประเภท ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันเข้ามาเป็นหนึ่งในเทรนด์การท่องเที่ยว และเป็นกุญแจสำคัญ แห่งความสำเร็จ ที่สร้างภูมิคุ้มกันระยะยาวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และทั่วโลก
ปัจจุบันต้องบอกว่าเทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืนของประเทศไทย กำลังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีข้อมูลที่นำเสนอมากขึ้น มีผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เกิดขึ้นให้ประชากรบนโลกได้พบเจอกันบ้างแล้ว เรื่องเหล่านี้ไปกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยเริ่มรับรู้ เข้าใจ และใส่ใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวในประเภทต่างๆ เริ่มปรับตัว แก้ไข และหาแนวทางป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ภาครัฐอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคเอกชน จึงเริ่มมีกิจกรรมที่คอยส่งเสริม และเติมองค์ความรู้ให้แก่คนทั่วไปมากขึ้นกว่าก่อน ตัวอย่างเช่น ททท. เองก็สนับสนุนเรื่องนี้มาตลอด เริ่มจาก หนังสือ อสท. ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ในอดีต ก่อนที่คนจะรู้จักคำว่าการท่องเที่ยวยั่งยืนเสียด้วยซ้ำ จวบจนถึงปัจจุบันก็มีแคมเปญมากมาย เช่น 7 Green Concept หรือแม้แต่ STGs ที่ผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ การโรงแรมได้ผลักดันตัวเอง ปรับตัวเข้าสู่ความยั่งยืนโดยทั่วกัน ซึ่งนโยบายดังกล่าวของประเทศไทย มีความสอดคล้องกับนโยบายของโครงการจากสหประชาชาติอีกด้วย
สถานการณ์ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ขณะนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย ปัญหาแรกอย่างมลพิษ PM 2.5 ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในทุกๆ ภาคส่วนอย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ และการแก้ไขที่เป็นไปได้ยาก ลำดับสอง คือ วิกฤติโลกรวน เอลนีโญ ลานีญา รวมถึงอากาศหนาวที่สั้นลง ทำให้ฤดูกาลท่องเที่ยวต่างๆ เน้นขยับออกไป ไม่สามารถวางแผนได้แบบตายตัว อีกทั้งปะการังฟอกขาวที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สุดท้าย คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เห็นได้ชัดสุด ณ ขณะนี้ อย่างเอเลี่ยนสปีชีส์ที่มีมากขึ้นไปทำลายระบบนิเวศต่างๆ
...
ประเทศไทยในปีล่าสุด อยู่อันดับที่ 47 ของ เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงาน และสิ่งแวดล้อมไทย (Thai Green Building Institute, TGBI) ซึ่งตกลงมาถึง 2 อันดับ รวมถึงตัวชี้วัดเรื่องความยั่งยืนของประเทศไทยในอันดับโลกตกไปอยู่ในกลุ่มบ๊วยอีกด้วย
สถานการณ์ทั้งหมดส่งผลให้อุตสาหกรรมในห่วงโซ่ความสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวไทยเริ่มมีการผลักดัน และพัฒนาอย่างจริงจัง ทำให้เกิดการตื่นตัว และมีการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นการท่องเที่ยวยั่งยืนมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อลดผลกระทบของปัญหาสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบวงกว้าง
ยิ่งมีคนตระหนักรู้มากเท่าไร เทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืนนี้ ก็จะส่งผลเชิงบวกและการท่องเที่ยวยั่งยืนยังถูกมองว่าคือ กุญแจสำคัญในโอกาสที่จะกอบกู้โลก เสน่ห์ของการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เกิดปัญหาอะไร และต้องปรับตัวให้ยั่งยืนอย่างไรบ้าง
- การท่องเที่ยวเดินป่า
การท่องเที่ยวเดินป่า เป็นหนึ่งประเภทการท่องเที่ยวที่เห็นการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมาโดยตลอด ทำให้การท่องเที่ยวแนวนี้เป็นการผลักดันให้นักท่องเที่ยว ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ให้เห็นถึงปัญหา และความสำคัญต่อการท่องเที่ยวยั่งยืนได้ดีอีกหนทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมท่องเที่ยวเดินป่า ยังคงเป็นกิจกรรมใหม่ที่เฉพาะกลุ่ม มีคนสนใจไม่มากนัก และยังคงมีปัญหาเรื่องของการไม่รักษากฎระเบียบ เช่น การก่อไฟ ส่งเสียงดัง ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
ดังนั้น การรณรงค์และเติมพลังให้กุญแจแห่งความยั่งยืนดอกนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคนในเมืองหลวงที่สนใจเดินป่ายังมีไม่มากนัก เส้นทางเดินป่าที่มีให้บริการไม่ได้เยอะมากเท่าที่ควร รวมถึงยังขาดบุคลากรผู้ให้ความรู้ ความเข้าใจ ทำให้หากส่งเสริมการเติมสิ่งสำคัญที่กล่าวมาเหล่านี้ได้ให้กับการท่องเที่ยวเดินป่า จะทำให้กิจกรรมเดินป่านี้ทรงคุณภาพ และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
- การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล
แน่นอนว่าการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นหนึ่งรายได้เศรษฐกิจหลักของประเทศไทย แต่ในภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนี้เอง ทำให้ระดับน้ำในทะเลนั้นสูงขึ้น ณ ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ได้พบเจอปัญหามากนัก แต่ฝั่งทะเลทางด้านมัลดีฟส์ รวมไปถึงศรีลังกาเริ่มหาที่อพยพกันบ้างแล้ว และในอนาคตปัญหาเหล่านี้อาจมาถึงประเทศไทยได้ในที่สุด
...
เครือข่ายหมู่เกาะที่รวมตัวกันกว่า 30 กว่าเกาะ ต่างพบปัญหาโลกรวนเป็นหลัก บนการท่องเที่ยวทางทะเลไทย จึงต้องตื่นตัวอีกครั้งในขณะนี้ ทั้งคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยว ต้องพร้อมที่จะมองเห็นถึงสิ่งสำคัญที่จะต้องช่วยกันรักษา ป้องกัน และเตรียมตัวให้พร้อม เผื่อสักวันหนึ่งน้ำทะเลสูงขึ้น หรือมีปะการังฟอกขาวเพิ่มมากขึ้นจะได้มีการเตรียมตัว การผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งของประเทศไทย ในการเติมความรู้ ความเข้าใจให้ทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว
ปัจจุบันผู้ประกอบการต่างช่วยกันค้นหาการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่ตอบโจทย์ และยั่งยืน ไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเติมความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และแนวทางการยับยั้งป้องกันเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
- อุตสาหกรรมโรงแรม
อุตสาหกรรมโรงแรมเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญอย่างมาก ต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวยั่งยืน เพราะเป็นหนึ่งในประตูบานใหญ่ที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกประเภท ทำให้อุตสาหกรรมโรงแรมเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญสู่การเริ่มต้นของความยั่งยืนอย่างเป็นแบบแผน ที่นักท่องเที่ยวสามารถซึมซับ พัฒนา รับประสบการณ์ดีๆ และเรียนรู้ได้
...
ส่วนใหญ่สิ่งที่โรงแรมทำจะเป็นโครงการจำพวกกิจกรรมคาร์บอนฟุตพรินต์ พลังงานทดแทน การจัดการขยะ (แยกขยะ) อาหารขยะ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นส่วนใหญ่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกิจกรรมยั่งยืนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกภาคส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ค่อยๆ ขยับตามกันมา
นอกจากนี้ โรงแรม และที่พักในพื้นที่ชุมชนต่างๆ เริ่มมีการเรียนรู้มากขึ้น เริ่มใช้อาหารออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์จากชุมชน กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และปลูกฝั่งความรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวบ้างแล้ว
ปัญหาหลักๆ จากอุตสาหกรรมโรงแรม และที่พักส่วนใหญ่ คือ การปรับตัวที่ไม่เท่ากัน ของโรงแรมที่พักขนาดกลาง-เล็ก รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก ขาดความรู้ ความเข้าใจในองค์ประกอบสำคัญ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ททท. เริ่มเข้ามาผลักดันช่วยประชาสัมพันธ์มากขึ้น มีจัดทำโครงการต่างๆ เช่น STGs เพื่อเป็นข่าวสาร และแหล่งประชาสัมพันธ์ที่ดีต่อการตื่นตัวของโรงแรม และที่พักเหล่านั้นให้หันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์โลกไว้แล้ว ยังเป็นจุดขายที่ดีอย่างหนึ่งของธุรกิจโรงแรม และที่พักด้วยเช่นกัน
...
- การท่องเที่ยวเชิงอาหาร
อาหาร คือ ปลายทางของความยั่งยืนที่ทุกคนได้พบเจอ ทำให้ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงอาหารนั้นมีมากมายหลากหลายมิติ ตัวอย่างแรก วัตถุดิบจำพวกเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เชฟส่วนใหญ่ก็พยายามช่วยกันรังสรรค์ให้วัตถุดิบเรานี้มีมูลค่ามากขึ้น รสชาติดี กินได้ เพื่อช่วยให้วัตถุดิบเหล่านี้ ในธรรมชาตินั้นสมดุลมากที่สุด และสร้างรายได้ให้กับประเทศ
นอกจากนี้ การที่ร้านอาหารต่างๆ เข้าไปช่วยสนับสนุนชุมชนในเรื่องของวัตถุดิบอาหารที่มีคุณภาพ มีกรรมวิธีที่แตกต่าง และยั่งยืน สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชุมชน แรงผลักดันที่มีคุณค่าจากความยั่งยืนแล้ว ยังสามารถกลับมาสร้างมูลค่า เพิ่มกำไรให้กับตัวผู้ทำธุรกิจเองอย่างมหาศาล รวมถึงผู้บริโภคเองก็ได้รับประทานอาหารดีๆ ประสบการณ์ที่พิเศษโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ได้ ความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรมจะมีคุณค่า และถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างไม่รู้จบอย่างแน่นอน
รวมถึงปัญหาหลักๆ ของอุตสาหกรรมอาหารนี้ยังคงเป็นปัญหาขยะ และอาหารเหลือทิ้งที่ขาดการจัดการที่ดีและใส่ใจ อย่างไรก็ตาม การช่วยกันปลูกฝัง การจัดการอาหารขยะให้ดี ไม่ว่าจะนำไปเป็นปุ๋ย พลังงาน เลี้ยงสัตว์ หรือทำน้ำหมัก เพียงเท่านี้ธุรกิจร้านอาหารในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความยั่งยืนได้อย่างง่ายดาย
ความสำคัญนี้ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ The Cloud (เดอะ คลาวด์) ได้ร่วมมือจัดงาน Amazing Green Fest 2024 หนึ่งในเทศกาลที่ชวนทุกคนมาเที่ยวดี กินดี ช็อปของดี จากธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืนทั่วไทย เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในมุมท่องเที่ยวยั่งยืนต่างๆ ให้แก่ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ค้าขาย และอีกมากมายที่เกี่ยวข้อง
Amazing Green Fest 2024 ถูกจัดขึ้นภายใต้รูปแบบการจัดงานที่แบ่งเรื่องราวของความยั่งยืนออกเป็น 5 มิติ ประกอบด้วย การเที่ยวอย่างยั่งยืน การกิน-อยู่อย่างยั่งยืน การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ให้ความรู้กับเด็กเรื่องความยั่งยืน และการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้พันธมิตรด้านการท่องเที่ยวที่ใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน ตลอดจนถึงกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวที่ดี และมีความหมายต่อทั้งห่วงโซ่อุปทานธุรกิจให้พันธมิตรด้านการท่องเที่ยวที่ใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวที่ดี และมีความหมายต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน
ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืนสามารถมาร่วมงาน Amazing Green Fest 2024 รวมถึงงาน The Hotelier 2024 ได้ตั้งแต่วันที่ 15-18 สิงหาคม 2567 ณ พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน
ภาพ : iStock