รายงานจาก Booking.com เผยถึงโอกาสเติบโตของการเดินทางอย่างยั่งยืนในปี 2567 โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยมีพฤติกรรม และจุดมุ่งหมายในการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนให้จุดหมายปลายทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนกว่าที่เคย

ปัจจุบันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และดึงดูดในการเดินทางกันมากขึ้น ทำให้สิ่งนี้เข้ามาอยู่ในกระแสของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพฤติกรรมเดินทางรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ และผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนกับกิจกรรมที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการบิน การฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศทางทะเล และการปรับปรุงระบบทำความร้อนและเย็นในโรงแรม เป็นต้น

Booking.com (บุ๊คกิ้งดอทคอม) ได้เผยข้อมูลสำคัญจากรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2567 ซึ่งรวบรวม ข้อมูลเชิงลึกจากผู้เดินทางกว่า 31,000 คน จาก 34 ประเทศ โดยรายงานฉบับนี้เผยถึงทัศนคติ สิ่งที่ผู้เดินทางให้ความสำคัญ และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนของผู้คนทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทย 

แม้ผลการสำรวจประจำปีนี้ยังคงสะท้อนถึงความต้องการในการออกเดินทางอย่างยั่งยืน และความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชุมชนท้องถิ่นในหมู่ผู้เดินทางทั่วโลกเหมือนเช่นเคย แต่ข้อมูลใหม่นี้แสดงให้เห็นว่า “ผู้เดินทางอาจมีภาวะเหนื่อยหน่ายต่อประเด็นความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก” เพราะนักท่องเที่ยวยังคงต้องพบเจอกับความท้าทายในการเลือกและวางแผนการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่นที่หาได้ยาก

ความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับความยั่งยืนในปัจจุบัน ทำให้ผู้เดินทางรู้สึกว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขาแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่พวกเขาเชื่อว่าการสนับสนุนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการเดินทาง จะทำให้พวกเขามองเห็นบทบาท และมีส่วนร่วมในการแก้ไขผลกระทบจากการเดินทางได้ดีมากยิ่งขึ้น

...

พฤติกรรมการท่องเที่ยวยั่งยืนของนักท่องเที่ยวชาวไทย

  • 84% ของผู้เดินทางชาวไทย ระบุว่า พวกเขาต้องการทำให้จุดหมายปลายทางที่พวกเขาไปเยือนดีขึ้นกว่าเดิมหลังจากที่เดินทางกลับ (เพิ่มขึ้นจาก 81% ในปีที่แล้ว) 
  • 50% ของผู้เดินทางชาวไทย คิดว่าตัวเองมีศักยภาพในการแก้ไขผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อสังคม และชุมชนท้องถิ่นที่พวกเขาเดินทางไปเยือน 
  • ผู้เดินทางชาวไทย 39% มองว่า รัฐบาลมีบทบาท และศักยภาพมากที่สุดในการแก้ไขผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะที่ 46% เชื่อว่าผู้ให้บริการด้านการเดินทางเป็นฟันเฟือง และกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม 
  • 42% ของผู้เดินทางชาวไทยมองว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของการเดินทางและการท่องเที่ยว 
  • ที่พักที่ได้รับการรับรองว่ามีแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ดึงดูดผู้เดินทางชาวไทยถึง 63% และความสม่ำเสมอในการตรวจสอบมาตรฐานความยั่งยืนถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกตัวเลือกที่พักที่ได้รับการรับรองเหล่านี้ 
  • 78% ของผู้เดินทางชาวไทยเห็นพ้องกันว่าเว็บไซต์การจองที่พัก และการเดินทางทั้งหมดควรมอบป้ายสัญลักษณ์สำหรับรับรองที่พักที่มีแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เดินทางที่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมที่พักต่างๆ ได้รับการรับรองว่าเป็นที่พักรักษ์โลก หรือที่พักที่มีแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนลดลงจนเหลือ 56% (ลดลงจากปีที่แล้ว 26%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการในการสื่อสารที่เรียบง่าย ชัดเจน ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายโดยไม่คำนึงถึงลำดับความสำคัญในประเด็นอื่น

การเดินทางอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย

รายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2567 ระบุว่า ผู้เดินทางชาวไทยถึง 94% ยืนยันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อพวกเขา ขณะที่ 30% รู้สึกว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนนั้นสำคัญ แต่ไม่ใช่สิ่งที่พิจารณาเป็นอันดับแรก เมื่อวางแผนหรือจองทริปการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางชาวไทยจำนวน 46% รู้สึกเบื่อหน่ายกับการรับรู้เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อนอยู่ตลอดเวลา

เหตุนี้ทำให้เกิดการร่วมมือกันของผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคย เพราะการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนมากขึ้นยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่

  • 85% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่า พวกเขาต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า และ 58% จะรู้สึกผิดเมื่อตัดสินใจเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนน้อยกว่า
  • แรงจูงใจของผู้ที่ต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น 18% ของผู้เดินทางชาวไทยจะเดินทางอย่างยั่งยืน เพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำ

ทางกลับกันความรู้สึกผิดหวังที่เกิดขึ้นในการเลือกเดินทางอย่างยั่งยืนอาจค้านกับความตั้งใจอันดีเหล่านั้น แง่มุมใหม่ที่ Booking.com ได้จากสำรวจเป็นครั้งแรกในปีนี้ เผยให้เห็นว่า “ผู้เดินทางบางกลุ่มไม่ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของพวกเขา”

  • 57% ของผู้เดินทางชาวไทยรู้สึกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้นไม่อาจย้อนกลับคืนได้ และการตัดสินใจเลือกการเดินทางของพวกเขาไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
  • 46% ของผู้เดินทางชาวไทยรู้สึกว่าช่วงเวลาที่ได้ไปท่องเที่ยวมีค่าเกินกว่าจะให้ความสำคัญกับการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นอันดับแรก
  • ผู้เดินทางชาวไทยเกินกว่าครึ่ง 56% เชื่อว่าแม้พวกเขาจะเลือกเดินทางอย่างยั่งยืน แต่หากจุดหมายปลายทางหรือสถานที่ต่างๆ ที่พวกเขาไปเยือนไม่ได้นำแนวทางด้านความยั่งยืนไปปฏิบัติอย่างจริงจัง สิ่งที่พวกเขาเลือกก็ไร้ซึ่งประโยชน์

...

แนวโน้มเติบโต ที่เป็นความหวังของการเดินทางอย่างยั่งยืน

แม้ความกังวลในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้เดินทางที่เลือกเดินทางอย่างมีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสังคม จะรู้สึกว่าประสบการณ์การเดินทางเพื่อความยั่งยืน ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับการเดินทาง

  • ผู้เดินทางชาวไทย 79% ยอมรับว่าพวกเขาเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุดเมื่อได้เดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น ส่งผลให้พวกเขานำแนวทางเหล่านี้กลับมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
  • ในขณะที่ผู้เดินทางชาวไทย 80% รู้สึกว่าการได้พบเห็นและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนระหว่างการเดินทางจุดประกายให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากขึ้นในชีวิตประจำวัน
  • ผู้เดินทางชาวไทยได้นำแนวทางการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ในการเดินทาง โดย 96% เลือกเข้าร่วมทัวร์หรือกิจกรรมเพื่อสัมผัสประสบการณ์ผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชุมชนที่แท้จริง และ 97% เลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านค้าอิสระ อีกทั้ง 95% วางแผนการเดินทางเพื่อให้สามารถเดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้

Danielle D’Silva ผู้ดำรงตำแหน่ง Head of Sustainability ของ Booking.com กล่าว “ในปัจจุบันสิ่งที่สำคัญสำหรับการเดินทางอย่างยั่งยืน คือ การทำให้ผู้เดินทางมั่นใจอยู่เสมอว่าตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลือกที่สามารถเข้าถึง และเลือกสรรได้อย่างง่ายดาย แต่ต้องเข้าใจง่ายและน่าเชื่อถือด้วย เราจึงเชื่อว่าการให้ข้อมูลความรู้ การแสดง และตรวจสอบมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ” 

“รวมถึงการรับรองที่เชื่อถือได้จากพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทางอย่างแท้จริง แม้ว่าสัญญาณของความเบื่อหน่ายในหมู่ผู้เดินทางจะเป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนให้เราเดินหน้าไปสู่เป้าหมายสูงสุดของเราในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนท้องถิ่น และจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ในท้ายที่สุดผู้เดินทางสามารถร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงการเดินทางสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” Danielle D’Silva กล่าวเสริม.

...