โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นการวัดระดับ และประเมินศักยภาพของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในไทย ให้พร้อมสู่การพัฒนา และการเปลี่ยนแปลง ที่นำมาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักเกณฑ์ทั้ง 17 ข้อ ได้เตรียมเปิดให้สมัครแล้ว
การท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน เป็นหนึ่งสิ่งที่นักท่องเที่ยวหลายๆ คนต่างแสวงหา และต้องการมีส่วนร่วม โดยการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และการปลุกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมผ่านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ตามกระแสของโลกเราที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ที่ส่งผลโดยตรงกับการท่องเที่ยว เช่น ปัญหาโลกร้อน ความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติ ที่นับวันทวีคูณความรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงต้องเน้นย้ำ เพื่อดำเนินการท่องเที่ยวของไทย ให้สอดคล้องกับความยั่งยืน และคงอยู่ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ทั้งทางด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสถานที่ท่องเที่ยว
...
วันที่ 8 สิงหาคม 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เปิดแคมเปญ Sustainable Tourism Goals : STGs เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว เกิดพัฒนา และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุลทุกมิติ เพื่อรับการประเมิน และก้าวสู่การเป็น High Value and Sustainable Tourism และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และความยั่งยืนต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย
โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating เป็นการยกระดับต่อยอดโครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety and Health Administration ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดย ททท., กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมโรค ส่งมอบประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และมั่นใจความปลอดภัยด้านสุขอนามัย จากสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวไทย พร้อมทั้งสะท้อนความร่วมมือระหว่างพันธมิตรเพื่อร่วมสร้างภาพลักษณ์ การท่องเที่ยวไทยที่มีคุณค่า และยั่งยืน ทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศไทยให้เป็น Sustainable Destination
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวใหม่ ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานความยั่งยืน เข้ามาเป็นหัวใจสำคัญในการพลิกฟื้น ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ททท. จึงให้ความสำคัญกับการเร่งยกระดับขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทาน Shape Supply ให้เกิดการพัฒนาบนพื้นฐานของความปลอดภัยและความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มาร่วมสร้างท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน” นำไปสู่ High Value Services & Standard โดยการสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals : SDGs 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ สู่เป้าหมาย STGs ทั้ง 17 เป้าหมายที่สะท้อนความยั่งยืน เพื่อส่งมอบ “Valued Experiences” ประสบการณ์อันทรงคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว และปลูกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมผ่านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เกณฑ์การประเมิน STGs Easy
STGs 1 : ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ผ่านการนำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามากระจายสู่ระดับชุมชน
...
STGs 2 : ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว : จากการจัดหาในท้องถิ่นสู่การจัดการของเสีย
STGs 3 : ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สนับสนุนความปลอดภัยด้านสุขภาพ สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกช่วงวัย
STGs 4 : เสริมสร้างการศึกษาด้านการท่องเที่ยว : ความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
STGs 5 : ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันของทุกเพศในทุกธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
STGs 6 : สร้างหลักประกันในการเข้าถึงน้ำสะอาด การจัดการน้ำ และสุขาภิบาลที่ยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว
STGs 7 : เพิ่มการเข้าถึงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสะอาดในภาคการท่องเที่ยว
STGs 8 : สร้างงาน สร้างอาชีพ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์และเศรษฐกิจท้องถิ่น
STGs 9 : ส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดการพัฒนาสินค้าและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
STGs 10 : ลดความเหลื่อมล้ำของการจ้างงานสำหรับผู้พิการและคำนึงถึงความเท่าเทียมของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม
STGs 11 : ความยั่งยืนและน่าอยู่ของแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน
STGs 12 : ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วนของการท่องเที่ยว
STGs 13 : มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
STGs 14 : ส่งเสริมและกำกับดูแลระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
STGs 15 : ส่งเสริมและกำกับดูแลระบบนิเวศบนบกและน้ำจืด
...
STGs 16 : การคำนึงถึงความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว
STGs 17 : การบรรลุเป้าหมาย STGs ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วน
โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating จะเป็นการมอบประกาศนียบัตร “ดาวแห่งความยั่งยืน” มีอายุคราวละ 2 ปี ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์ STGs Easy จากการประเมินตนเอง ประกอบด้วย 3 ระดับ ดังนี้
- 3 ดาว สำหรับ ผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 และ STG 17 รวมทั้งหมด 3 เป้าหมาย
- 4 ดาว สำหรับ ผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 STG 17 และเป้าหมายใดก็ได้อีก 6 STGs รวมทั้งหมด 9 เป้าหมาย
- 5 ดาว สำหรับ ผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 STG 17 และเป้าหมายใดก็ได้ ไม่น้อยกว่า 9 STGs รวมทั้งหมด 12 เป้าหมายขึ้นไป
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ และรักษามาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องนั้น จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการตลาดของ ททท. ทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่อไปในอนาคต
...
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า SDG Move มีวิสัยทัศน์ และพันธกิจในการขับเคลื่อนเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ร่วมมือกับ ททท. ในครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างบูรณาการ และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเน้นการมีส่วนร่วมตามบทบาทของทุกภาคส่วนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งการจัดทำเกณฑ์นี้เป็นการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล โดยเกณฑ์ประเมิน STGs Easy ทั้ง 17 เป้าหมาย และจากการกำหนดระดับของ “ดาวแห่งความยั่งยืน” จะเห็นได้ว่าเป้าหมาย STG ทั้ง 3 หัวข้อ นั้นได้เน้นไปที่ การมุ่งลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง (STG13), คำนึงถึงความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว (STG16) และการบรรลุเป้าหมาย STGs ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วน (STG17) ถือเป็นเกณฑ์หลักเบื้องต้นของผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่มีความสำคัญเร่งด่วน จากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ และภาวะโลกร้อน จึงอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนัก และเห็นความสำคัญเพื่อเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในวงกว้างต่อไป
มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม แสดงความคิดเห็นต่อโครงการนี้ว่า เป็นอีกหนึ่งในโครงการที่ดีจาก ททท. ส่วนตัวได้ตระหนัก และให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และลดก๊าซเรือนกระจกมาตลอด เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อมโยงในวงกว้างถึงทุกระบบนิเวศบนโลก ในมุมของการท่องเที่ยวมีผลกระทบกระทบโดยตรงจากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นต้นทุนสำคัญของการท่องเที่ยว นำมาซึ่งความงดงาม อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการเลือกเดินทางรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบจึงเป็นสิ่งสำคัญให้การท่องเที่ยวของเราสร้างคุณค่าต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ “จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านช่วยกันสนับสนุนมองหาสัญลักษณ์ STAR ก่อนท่องเที่ยว เพื่อร่วมเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความยั่งยืน”
ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวที่สนใจมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของคุณให้กลับมาอย่างมั่นคง และแข็งแรง สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ได้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไปที่ทางเว็บไซต์ : TATstar