แรงบันดาลใจเริ่มจากการดูวิดีโอปลาตะเพียนของ ททท. ที่พาเรากลับไปสู่ความหวัง ด้วยภาพและเพลงเพราะๆ จากถิ่นเหนือที่ไกลแสนไกล แปลงเป็นเพลงภาษาฝรั่งฟังสบาย จนอดไม่ได้ ที่ต้องขับรถออกนอกเมืองไปตามหาปลาตะเพียนสวยๆ ที่เคยเห็นสมัยยังนอนเปลเมื่อ 50 ปีก่อน
จุดหมายปลายทางอยู่ที่ ตำบลท่าวาสุกรี จ.พระนครศรีอยุธยา จุดเริ่มต้นของ..ปลาตะเพียนสาน สีสวยงาม ในเมืองไทย
น้องภุชงค์....รถสปอร์ต SUV คู่ใจ วิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน ทางหลวงสายแรกของประเทศ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 มุ่งหน้าสู่อยุธยา GPS ในโทรศัพท์บอกให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวร มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือของประตูชัย
แล้วเราก็มาถึง ต.ท่าวาสุกรี แต่เอ๊ะ!...ทำไมถึงไม่มีปลาตะเพียน
ถามคนแถวนั้นได้ความว่า โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง ทั้งการค้าขาย หรือ แม้แต่การผลิตปลาตะเพียนสาน ที่เป็นอาชีพเก่าแก่ของคนในชุมชนท่าวาสุกรี สืบต่อกันมานานกว่า 100 ปี
ว่ากันว่า ชาวไทยมุสลิมซึ่งล่องเรือขายเครื่องเทศอยู่ตามแม่น้ำเจ้าพระยา และอาศัยอยู่ในเรือเป็นผู้ประดิษฐ์ปลาตะเพียนสานด้วยใบลานขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็น่าจะมาจากแรงบันดาลใจในอาชีพที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ผนวกกับความคุ้นชินกับรูปร่างของปลาตะเพียน
...
วัสดุ อุปกรณ์ ที่นำมาใช้สานก็หาได้จากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นใบลาน ใบตาล ทางมะพร้าว ปลาตะเพียนสานในยุคแรกๆ ตัวไม่โตมาก เป็นปลาตัวเล็กๆ นำไปเสียบไม้ห้อยแขวน ประมาณ 1-3 ตัว เหมือนการว่ายน้ำเป็นฝูงของปลา สีก็เป็นสีเหลืองซีดๆ เรียกว่า “ปลาตะเพียนโบราณ”
ต่อมาในยุคหลังๆ จึงมีการสานปลาตะเพียนตัวใหญ่ขึ้น มีสีสันสวยงาม ทั้งยังจัดเข้าชุดกระโจมปลา มี แม่ปลาตัวใหญ่ กระทงเกลือ ปักเป้า ใบโพธิ์ และลูกปลาตัวน้อยๆ
คนที่คิดดัดแปลง ปลาตะเพียนสานให้เป็นโมบายสวยงาม เล่าสืบต่อกันมาว่า คือ คุณหลวงโยธา เป็นข้าราชการเกษียณในสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านอยู่แถวสะพานหัน ไปเห็นปลาตะเพียนสานที่อยุธยาเข้า เลยนำมาพัฒนาต่อ โดยประดิษฐ์ปลาตะเพียนสานให้มีความสวยงาม
คุณหลวงท่านเป็นคนฉลาด ตอนทำปลาตะเพียนสาน จะแบ่งประเภทของปลาตะเพียนสาน ออกเป็น 2 แบบ แบบที่เขียนเป็นลวดลายตกแต่งสวยงาม สำหรับแขวนเหนือเปลเด็กทารก ผู้มีบรรดาศักดิ์ หรือ ชนชั้นสูง ส่วนปลาตะเพียนสานที่เป็นใบลานสีเรียบๆ ใช้แขวนเปลลูกชาวบ้านธรรมดาสามัญ
...
ปลาตะเพียนของคุณหลวงโยธา เริ่มเป็นที่รู้จัก และขายดิบขายดี กลายเป็นที่มาของโมบายปลาตะเพียน ทั้งยังให้ความหมาย ว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์เพราะช่วงที่ปลาโตเต็มที่กินได้อร่อยเป็นช่วงที่ข้าวตกรวงพร้อมเก็บเกี่ยวพอดี
ปลาตะเพียนสานจึงเป็นของมงคล เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี เชื่อกันว่าบ้านใครแขวนปลาตะเพียนสาน จะมีความรุ่งเรือง ค้าขายร่ำรวย มานับตั้งแต่บัดนั้น
...
นอจากนี้ ปลาตะเพียน ยังถูกนำไปผูกกับความเชื่อในการทำวัตถุมงคล ปลาตะเพียนของมงคล มีเกจิชื่อดังปลุกเสกอยู่หลายที่ แต่ที่เป็นที่นิยม คือ ปลาตะเพียนหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, ปลาตะเพียน หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ และปลาตะเพียน หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม
ก่อนกลับพระนคร ขับรถผ่านพระนอนองค์ใหญ่ ที่ได้ชื่อว่า เป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ที่เดิมคงจะมีวิหารครอบ แต่ถูกทำลายไปในช่วงเสียกรุงครั้งที่สอง
วัดที่ประดิษฐานพระนอนองค์นี้ คือ วัดโลกยสุธาราม ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงเศษซาก ก้มลงกราบองค์พระ จึงได้สังเกตเห็นว่านิ้วพระบาทขององค์พระมีความยาวเท่ากัน จึงเรียกว่า เป็นปางปรินิพพาน ไม่ใช่ปางไสยาสน์ ที่พระบาทและนิ้วพระบาทจะเหลื่อมซ้อนกันอยู่
ใกล้ๆ กันเป็นวัดพระราม เพราะสร้างในสมัยพระราเมศวร และยังเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระเจ้าอู่ทอง ภายในวัดมีบึงน้ำใหญ่ เป็นที่มาของชื่อ บึงพระราม ที่ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะใหญ่สำหรับหย่อนใจของคนเมืองกรุงเก่า
จากทริปตามหาปลาตะเพียน เลยทำให้ได้ทั้งความรู้ประวัติศาสตร์ และความสุข แถมด้วยสิริมงคลจากสัญญะแห่งปลาตะเพียนใบลานด้วย
เที่ยวเมืองไทย...ไม่ไปไม่รู้จริงๆ.....!!!