ไปเชียงรายเที่ยวนี้ หัวหน้าทีมซอกแซกพลาดโปรแกรมไปโปรแกรมหนึ่ง ทั้งๆที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ตั้งแต่ก่อนเดินทางว่าจะต้องแวะไปให้จงได้
นั่นก็คือการขึ้นไปเยือน “ดอยแม่สลอง” ดอยแห่งความทรงจำ อีกดอยหนึ่งของหัวหน้าทีมซอกแซกยุคออกตะลุยชนบทไทย เมื่อ 40 ปีก่อน
เนื่องจากมีเวลาค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นจะต้องเลือกระหว่าง “ดอยแม่สลอง” กับ “ดอยตุง” เพียง 1 ดอยเท่านั้น เพราะเวลาไม่พอที่จะไปเยือนได้ทั้ง 2 ดอย
ปรากฏว่า สมาชิกครอบครัวซอกแซกลงมติเลือก “ดอยตุง” เราจึงไปกันที่ดอยตุง ดังที่เขียนไว้ตั้งแต่สัปดาห์แรกๆที่กลับมาจากเชียงราย
แม้จะไม่ได้ขึ้นดอยแม่สลอง แต่ก็ขับรถผ่านทางขึ้นถึง 2 ครั้ง จึงตัดสินใจที่จะเขียนถึงดอยแม่สลองด้วย เพราะยังจำเช้าวันแรกที่มานอนค้าง คืนที่นี่เมื่อประมาณ พ.ศ.2522-2523 หรือกว่า 40 ปีที่แล้วได้อย่างติดตาตรึงใจ
ช่วงนั้นเรายกทีมจากสภาพัฒน์มาสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในระดับหมู่บ้านของจังหวัดเชียงรายเช่นเคย และหลังจากตระเวนสำรวจในหลายๆอำเภอของเชียงรายจนได้ครบตามเป้าหมายแล้ว คณะสำรวจก็ตัดสินใจขึ้นไปพักค้างคืนบนดอยแม่สลองในคืนสุดท้าย ก่อนตีรถกลับกรุงเทพฯ
เราขึ้นไปพักบนเรือนไม้ที่ทำเป็นโรงแรมที่พักแห่งหนึ่งบนดอยแม่สลอง ซึ่งใน พ.ศ.นั้นยังไม่มีรีสอร์ตหรือโรงแรมที่พักเยอะอย่างสมัยนี้
เรือนที่เราพักมีห้องพักเพียง 7-8 ห้องเท่านั้น เท่ากับว่าเราเหมาเกือบหมด เพราะคณะของเรามี 6 คนบวกคนรถอีก 1 เป็น 7 คน
ช่วงเวลาที่เราขึ้นไปพักน่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ อากาศยังเย็นอยู่และบนดอยแม่สลองนั้นเย็นประมาณ 10 องศาเซลเซียสต้นๆเลยทีเดียวในช่วงเช้าๆ
...
ยังจำภาพแม่สลองเวลาเช้าตรู่ได้ติดตามองจากหน้าต่างบ้านพักออกไปข้างนอกจะเห็นเทือกเขาและยอดเขาต่างๆยาวเหยียดสุดสายตา
พร้อมกับทะเลหมอกที่แผ่กระจายออกไป ท่ามกลางขุนเขาสุดสายตาเช่นเดียวกัน
ยุคนั้นยังไม่มีการเผาป่ายังไม่รู้ว่า PM 2.5 คืออะไรหมอกที่เห็นจึงเป็นหมอกจริงๆ ไม่ใช่หมอกผสมควันอย่างในสมัยนี้ ซึ่งในจังหวัดเชียงรายมีอยู่แทบทุกที่ แม้แต่ในอำเภอเมืองก็ไม่เว้น หรือแถวๆ แม่สลองก็อาจจะมีอยู่ด้วยเหมือนกัน
หลังจากชื่นชมกับความงามและสูดอากาศ เข้าไปเต็มปอดหลายต่อหลายครั้ง เราก็แวะลงไปรับประทานอาหารเช้า ซึ่งเป็นบะหมี่น้ำยูนนานร้อนๆ กับชาอู่หลงร้อนๆอย่างเอร็ดอร่อยและมีรสชาติ
ดังที่ทราบกันแล้วว่าดอยแม่สลองคือถิ่นของ “กองพล 93” นักรบพลัดถิ่นจากจีนที่ถูกกดดัน จนต้อง ถอยร่นลงมาจากยูนนาน ผ่านพม่ามาหยุดที่ดอยแม่สลองประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการปฏิวัติใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยท่านประธานเหมา สามารถยึดแผ่นดินจีนไว้ได้ทั่วประเทศ
จอมพลเจียงไคเช็คแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง หรือจีนฝ่ายขวา ต้องหนีไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน แล้วไปตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นที่นั่น
แต่กองกำลังลูกน้องของท่านที่เหลืออยู่บนแผ่นดินใหญ่ก็มีทั้งที่ยอมมอบตัวแก่กองทัพประชาชนจีน หรือไม่ก็หนีถอยร่นออกไปดังเช่น กองพล 93 ที่หนีมาไกลจนถึงดอยแม่สลอง
ปักหลักปักฐานอยู่ที่นี่ด้วยกำลังทหารและลูกๆเมียๆกว่าหมื่นคนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่และชุมชนใหญ่บนดอยแห่งนี้
ที่สำคัญกลายเป็นหมู่บ้านแบบจีนๆ คล้ายๆ ในประเทศจีน เมื่อเดินทางไปถึงแม่สลองยุคโน้น จึงนึกว่าเราไปเดินอยู่แถวๆยูนนานอย่างไรอย่างนั้น
แม้แต่อาหารก็มีร้านอาหารจีนหลายๆร้าน รวมทั้งในบ้านพักที่เราเข้าพักก็มีร้านอาหารจีนอยู่ข้างๆ จำไม่ได้แล้วล่ะว่าชื่อร้านอะไร จำได้แต่ว่าขาหมูยูนนาน อร่อยอย่าบอกใครเชียว
ช่วงที่หัวหน้าทีมซอกแซกไปเยือนครั้งแรก บรรดาทหารจีนและครอบครัว ซึ่งเป็นบุคคลพลัดถิ่นอยู่นานเพิ่งจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้พักอาศัยในดอยแม่สลองได้ แต่ยังไม่ให้สัญชาติไทย
พยายามจะขอสัญชาติไทยหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนในที่สุดได้ขันอาสาเข้าร่วมกับกองทัพไทยในการปราบ ผกค. ในบริเวณภาคเหนือ รวมทั้ง
ที่เขาค้อเพชรบูรณ์ด้วยต้องสละชีวิตและเลือดเนื้อ บาดเจ็บล้มตายจำนวนไม่น้อย
จนกระทั่ง พ.ศ.2524 รัฐบาลไทยจึงอนุมัติสัญชาติไทยให้แก่สมาชิกกองพล 93 เกือบ 5,000 คน ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย
สำหรับบุคคลสำคัญทางฝ่ายไทยที่กองพล 93 เชิดชูและให้ความเคารพนับถืออย่างสูงยิ่ง ได้แก่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต ผบ.สส.นั่นเอง
พล.อ.เกรียงศักดิ์เข้ามาประสานงานและให้ความช่วยเหลือเจือจานแก่กองพล 93 ตั้งแต่ต้น รวมทั้งสนับสนุนให้ปลูกชาเป็นอาชีพ จนมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศสร้างรายได้แก่ดอยแม่สลองไม่น้อย
กองพล 93 จึงได้สร้าง “ศาลา เกรียงศักดิ์” อันสวยงามขึ้นศาลาหนึ่งเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับท่าน และทุกครั้งที่หัวหน้าทีมซอกแซกแวะไปดอยแม่สลองจะต้องไปนั่งชิลๆ ชมวิวสวยๆที่ศาลาเกรียงศักดิ์อยู่เสมอๆ
...
ถือโอกาสไปรำลึกถึงท่านว่างั้นเถอะ ใน ฐานะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่แม้จะมาจากระบอบเผด็จการ แต่ก็เป็นนักประชาธิปไตยตัวยง กล่าวลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางสภา และต่อมาก็ไปสมัคร ส.ส.ได้รับเลือกตั้งที่ร้อยเอ็ด นับเป็นหนึ่งในตำนานนักการเมืองไทย เจ้าของฉายา “อินทรีบางเขน” เจ้าตำรับ “แกงเขียวหวานเนื้อใส่บรั่นดี” ที่พวกเราชาวสื่อมวลชนยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ
หลังจากมาดอยแม่สลองครั้งแรกแล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกยังมีโอกาสมาอีกหลายครั้ง แต่ไม่ได้พักค้างคืนอีกเลย ครั้งหลังสุดคือ พ.ศ.2538 ซึ่งก็นานพอสมควรย่างเข้า 25 ปีเต็มๆแล้วนะเนี่ย
สรุปว่าขอลงบัญชีเอาไว้ก่อน...มีโอกาสกลับไปเชียงรายอีกเมื่อไรจะต้องจัดโปรแกรมไปจิบชาอู่หลงบนดอยแม่สลอง ตำบลแม่สลอง นอกอำเภอแม่ฟ้าหลวงเป็นโปรแกรมแรกเลยซีน่า.
“ซูม”