ร่วมทริป...พาป้าเที่ยว ที่ผนวกรวมไปกับช่วง “เก๋ายกก๊วน” ของรายการคนสู้โรค คราวนี้ไปเยือนเมืองสุรินทร์ ถิ่นเมืองช้าง ที่มีทั้งผ้าไหมงาม ข้าวหอมอร่อย และประวัติศาสตร์ที่ชวนให้ศึกษาเรียนรู้

พี่หน่อง...ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ รับอาสาพาป้าๆไปสัมผัสของดีเมืองสุรินทร์ แบบบ้านไกล เวลาน้อย จึงต้องเลือกเอาแบบไฮไลต์ล้วนๆ

เปิดทริปกันที่ บ้านท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ฟังชื่อหมู่บ้านอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่า เป็นหมู่บ้านทอผ้าไหมสุรินทร์...ที่มีชื่อเสียงมากๆ โดยเฉพาะผ้าไหมยกทองของที่นี่ แต่ละผืนงามทั้งผ้า ราคาและเรื่องราวหรือ Story ในการทอ

เริ่มจากวัตถุดิบธรรมชาติ คือ เส้นไหม ที่ใช้วิธีการย้อมแบบโบราณด้วยวัตถุดิบย้อมสีจากธรรมชาติ สีแดงจากครั่ง สีน้ำเงินจากคราม สีเหลืองทองจากเปลือกทับทิม และบางสีก็เกิดจากการนำแม่สีมาผสมอีกทีหนึ่ง สีที่ได้เมื่อนำไปย้อมจะไม่ตกและซีดช้า อยู่ได้เป็นร้อยปี

พี่หน่อง บอกว่า การทอผ้าไหมของบ้านท่าสว่าง บางคนเรียกว่า ผ้าทอ 4 ชีวิต เพราะต้องใช้คนทอพร้อมกันถึง 4 คน ใช้ตะกอถึง 1,416 ตะกอ...ตอนที่ขึ้นไปดูกระบวนการทอ ป้าๆตื่นเต้นกันมาก ไม่เฉพาะกับกี่ทอผ้ามโหฬาร แต่ลวดลายอันวิจิตรงดงามของผ้าไหมยกทองของสุรินทร์ ก็ทำให้ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

...

ผ้าไหมยกทองบ้านท่าสว่างแห่งนี้ เน้นผ้าทอลวดลายโบราณ อย่าง ลายเทพนม ลายครุฑยุดนาค ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ซึ่งแน่นอนว่าคนทอต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษล่ะ...

ส่วนสนนราคาไม่ต้องพูดถึงมีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน ราคากลางๆก็อยู่ที่ประมาณ 250,000-600,000 ต่อผืน...ที่สำคัญคือ ผ้าทอที่นี่ส่วนใหญ่แล้วจะ Made to order คือ ทำตามสั่ง และเป็นงานทอสำหรับงานราชพิธีและงานระดับประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ละผืนใช้เวลาทอนานหลายเดือน เพราะทอได้แค่วันละ 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น

ออกจากบ้านท่าสว่าง ไปต่อกันที่ บ้านช่างปี่...แหล่งรวมวัฒนธรรมพื้นบ้าน ในเขตอำเภอศีขรภูมิ ไฮไลต์ของหมู่บ้านนี้ นอกจากวัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิม และข้าวหอมสุรินทร์เลื่องชื่อที่มีทั้งข้าวขาวธรรมดาและข้าวไรซ์เบอร์รีแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของ ปราสาทช่างปี่ หนึ่งอโรคยาศาลจำนวน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โปรดให้สร้างขึ้นตามประวัติบอกว่า ปราสาทช่างปี่ น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ผังของการก่อสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวปราสาทก่อด้วยศิลาแลง และหินทราย

กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะปราสาทช่างปี่ เมื่อปี 2553 พบโบราณวัตถุจำนวนมาก ส่วนหนึ่งนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ อีกส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านช่างปี่ ตัวปราสาทประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง คือ ปราสาทประธาน วิหารกำแพงแก้ว ซุ้มประตู สระน้ำ

ชาวบ้านช่างปี่ ต้อนรับคณะของเราด้วยการร่ายรำพื้นบ้านแบบเขมรโบราณ พร้อมอาหารคาวหวาน เมนูเด็ดสุด เห็นจะเป็น แกงคั่วปูนา หรือ อ่อมปู ที่ชื่อว่า ละแวกะดาม

แม่ครัวหัวป่าก์ของบ้านช่างปี่ เล่าว่า ช่วงเดือนอ้าย เดือนยี่ ปูนาจะมีมันมาก มันปูจะมีสีเหลืองเข้ม หอม พอเกี่ยวข้าวเสร็จชาวบ้านก็จะไปหาปูนาเอามาทำแกงละแวกะดาม...วิธีทำก็ง่ายๆ แค่เอาปูมาโขลกคั้นกับน้ำ และนำน้ำเนื้อปูไปคั่วในหม้อ จะได้น้ำข้นๆ จากนั้นก็ตำตะไคร้ หอมแดง พริกสดใส่ปรุงลงไป แล้วก็ใส่ผัก จะเป็นผักแขยง หรือผักอีออมที่บานในช่วงนี้ หรือจะใส่บวบให้ออกรสหวานๆ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า บางคนอาจจะใส่ข้าวคั่วเพิ่มความหอมด้วยก็ได้ ส่วนมันปูที่ติดอยู่กับกระดอง

...

ก็แคะเอาส่วนมันมาโรยไว้ให้ดูน่ากิน ตอนกินก็กินกับผักลวก ผักอะไรก็ได้ แต่ถ้าให้แซ่บสุดๆ ป้าบอกว่า...สะเดานี่ละ แซ่บนัวๆ กินกับข้าวหอมสุรินทร์หุงใหม่ๆร้อนๆ

โอ๊ย! เอาอะไรมาแลกก็บ่ยอมกันละ

อรุณโซสะได...สวัสดีเช้าวันใหม่ในเมืองสุรินทร์ ด้วยใจอิ่ม นอนอุ่น วันนี้...ผอ.ททท.สุรินทร์ จะพาทุกคนไปสัมผัสกับแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของสุรินทร์...ที่ใครมาถึงสุรินทร์ ไม่ได้เช็กอินที่นี่...ถือว่ามาไม่ถึง

...

นั่นก็คือ... ซแรย์ อทิตยา ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำอำปึล ต.เทนมีย์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ หนึ่งในโครงการพิเศษในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ที่ทรงตั้งพระทัยให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรในพระดำริภายใต้การดูแลของ “โครงการเกษตรอทิตยาทร”

ป้าๆกระโดดลงจากรถแบบลืมวัย ประมาณว่าสังขารกับใจไม่ตรงกัน...ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่เต็มไปด้วยความงดงามของทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา และทุ่งดอกไม้หลากสี

ซแรย์ อทิตยา เป็นภาษาเขมรท้องถิ่น ซแรย์ แปลว่า “นา” ส่วนอทิตยา คือ พระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ซแรย์ อทิตยา จึงหมายถึง นาของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ...นั่นเอง

ภายในโครงการมีโรงเรียนชาวนา ที่จัดแสดงความรู้เรื่องข้าว ประเพณีวัฒนธรรม และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การเรียนรู้ทรัพยากรดิน การรักษาและการฟื้นฟูดิน โดยแบ่งเป็น ฐานเรียนรู้ต่างๆ น่าสนใจทีเดียว

...

แดดเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ ป้าๆ จำเป็นต้องลาจากเมืองสุรินทร์ เพื่อไปบุรีรัมย์ต่อ หลายคนบอกว่า ถ้ามีเวลา อยากจะกลับมาเที่ยวอีก...เพราะอยากสัมผัสสุรินทร์...ให้ลึกซึ้งกว่านี้

รอบนี้แค่มาจีบไว้ก่อน...คราวหน้ายกขันหมากมาขอแต่งแน่ๆ

...รักนะ...สุรินทร์...!!!!