ใครไปเที่ยวงาน "อุ่นไอรัก" มาแล้ว ยกมือขึ้น! เชื่อว่าคนที่ไปมาแล้ว คงจะเต็มอิ่มไปกับการถ่ายรูปกับฉากสวยๆ พร้อม "ชุดไทย" งดงาม ท่ามกลางบรรยากาศย้อนยุค แถมได้อิ่มอร่อยไปกับ "อาหารไทย" มากมาย ส่วนคนที่ยังไม่ได้ไป ขอบอกเลยว่า...ต้องหาเวลาว่างไปให้ได้นะ เพราะของอร่อยๆ รออยู่เพียบ!..(รีวิว "ร้านอาหาร" อร่อยเจ้าเด็ด "ตลาดพลู" 7 เมนู 300 บาท)

สำหรับนักชิม คงอยากรู้แล้วว่าของอร่อยในงานอุ่นไอรักปีนี้ จะมีเมนูอะไรบ้าง? ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ ไม่รอช้า ไปเสาะหาเมนูโบราณ หาทานยาก รวบรวมเอามาให้ชมกัน พร้อมแล้วไปดูกันเลย...

1. ค้างคาวเผือก

ค้างคาวเผือกเป็นอาหารว่างไทยโบราณชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งที่มีส่วนผสมของเผือกเป็นหลัก นำมาห่อไส้แล้วปั้นเป็นสามเหลี่ยมมีปีกยื่นออกมาคล้ายค้างคาว คนโบราณจึงเรียกเมนูนี้ว่า "ค้างคาวเผือก" โดยจะใช้เผือกผสมหัวกะทิและแป้งนวดให้เข้ากัน ห่อด้วยไส้ที่ทำจาก กุ้งสับกับมะพร้าวขูดขาว ปั้นเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมทรงพีระมิด แล้วนำไปชุบแป้งทอดกรอบ ทานคู่กับน้ำอาจาด

...

2. สะเต๊ะลือ

สะเต๊ะลือ เป็นเมนูโบราณ ต้นตำรับสูตรมาจาก ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ สมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะคล้ายกับสะเต๊ะปกติ แตกต่างตรงที่ไม่มีน้ำจิ้ม เพราะสูตรนี้หมักเครื่องปรุงกับเนื้อสัตว์จนได้รสชาติที่เข้มข้น ซึ่งเครื่องปรุงที่นำมาหมัก ได้แก่ ยี่หร่า เม็ดกระวาน กะทิ ขมิ้น ถั่วลิสงคั่วป่น น้ำปลา น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ ส่วนเนื้อสัตว์นิยมใช้เนื้อวัว เนื้อไก่ หรือเนื้อหมู

และสาเหตุที่เมนูนี้ชื่อว่า "สะเต๊ะลือ" นั้น สืบเนื่องจากทุกคนได้กินสะเต๊ะฝีมือของ ม.ล.เนื่อง แล้วอร่อยมากจนร่ำลือไปทั่วบ้านทั่วเมืองนั่นเอง

3. ม้าฮ่อ

ส่วนเมนูนี้ เป็นของว่างไทยโบราณ แต่เดิมเป็นขนมเคียงกินแกล้มผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจัด นิยมทำในเทศกาลงานบุญและเป็น "อาหาร" ในพิธีต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชน ชาวไทยเชื้อสายมอญ

โดยนำมารับประทานคู่กับไส้ขนม ที่คล้ายกับไส้ของสาคูไส้หมู ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ หมูสับ กุ้งสับ ถั่วลิสงคั่ว หอมแดง ผัดกับเครื่องเทศ ปรุงรสหวานเค็ม โดยกวนให้เหนียว แล้วปั้นเป็นก้อนกลม จากนั้นนำมาวางไว้บนชิ้นสับปะรดที่หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ

4. ล่าเตียง

อาหารไทย
อาหารไทย

ล่าเตียง เป็นเครื่องเคียงในสำรับกับข้าวโบราณ ใช้ไข่เป็ดตีจนแตก นำทอดบนกระทะ โดยการมาสะบัดขวางไปขวางมาเป็นตาตาราง ห่อหุ้มไส้ที่ทำจากกุ้งนาง พริกไทย กระเทียม เกลือ และรากผักชี

5. บุหลันดั้นเมฆ

...

บุหลันดั้นเมฆ เป็นขนมไทยชาววังที่เลื่องชื่ออีกชนิดหนึ่ง มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธ เลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

มีความเป็นมา คือ พระองค์ได้ทรงพระสุบินว่า เสด็จฯ ไปสถานที่สวยงามแห่งหนึ่ง ซึ่งพระจันทร์เต็มดวงค่อยๆ ลอยเลื่อนเข้ามาใกล้ ส่องแสงไปทั่ว พร้อมมีเสียงทิพยดุริยางค์กังวาน จากนั้นดวงจันทร์ก็ค่อยๆ ลอยเคลื่อนห่างออกไปในท้องฟ้า พร้อมเสียงดนตรีก็ค่อยๆ เบาจางห่างหายไป 

ขนมบุหลันดั้นเมฆ จึงทำเลียนแบบเสมือนความงดงามของดวงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน มีลักษณะคล้ายขนมน้ำดอกไม้ ใช้น้ำดอกอัญชันสีฟ้าครามแทนสีของเมฆในเวลากลางคืน และวางขนมทองหยอดตรงกลางแทนดวงจันทร์

6. ข้าวเกรียบปากหม้อ

ส่วนเมนูนี้ เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งทำด้วยแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน และแป้งเท้ายายม่อม ผสมน้ำให้เหลว ละเลงบนผ้าที่ขึงปากหม้อน้ำเดือด ใส่ไส้ทำจากกุ้งหรือหมู ที่นำมาผัดกับหัวไชโป๊สับ ถั่วลิสง น้ำตาลปี๊บ เกลือ จนสุกและมีเนื้อเหนียว ปั้นเป็นก้อนได้ แล้วพับแป้งปิด กินกับผักกาดหอม

...

7. นำ้พริกลงเรือโบราณ

น้ำพริกลงเรือ เป็นน้ำพริกกะปิชนิดหนึ่งในตำรับอาหารชาววัง ที่มีรสชาติเปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวาน อย่างกลมกลืน รับประทานเคียงกับทั้งผักต้มและผักสด คิดค้นโดยเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 โดยมีส่วนผสม คือ กะปิ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล มะนาว กระเทียมดอง ไข่เค็ม (เฉพาะไข่แดง) ปลาดุกฟู และหมูหวาน

...

ตำเหมือนน้ำพริกกะปิทั่วไป แต่จะมีการเพิ่มหมูหวานลงไปคลุกเคล้าในตอนท้าย คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นตักใส่ชามแล้วโรยด้วยปลาดุกฟูกรอบ ไข่เค็ม และกระเทียมดอง ตกแต่งให้สวยงาม เคียงด้วยผักต้มหรือผักสดตามชอบ

8. ขนมเบื้องญวณโบราณ

ขนมเบื้องญวน เป็นอาหารเวียดนามลักษณะคล้ายแพนเค้ก ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำ ผงขมิ้น และกะทิ นำมาทอดในกระทะ กรอกให้มีแผ่นบางและกรอบ แล้วยัดไส้ที่ทำด้วย มันหมูผัดกับกุ้ง กุ้งแห้ง ถั่วงอก ทานคู่กับอาจาด ช่วยเสริมรสชาติและแก้เลี่ยน

9. ขนมไทย “ทอง” มงคล

ปิดท้ายด้วยขนมไทยความหมายมงคล เป็นขนมโบราณที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบไปด้วย ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองเอก, เม็ดขนุน, จ่ามงกุฎ, เสน่ห์จันทร์, สัมปันนี, กลีบลำดวน 

ส่วนใหญ่ตัวขนมจะมีสีเหลืองทอง ชื่อขนมมีความหมายดี จึงนิยมนำมาใช้เลี้ยงคนในงานมงคลต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ขอยกตัวอย่างความหมายของขนมมงคลบางชนิด เช่น 

ทองหยิบ : ความมั่งคั่งร่ำรวย มีเงินมีทองใช้ไม่ขาดมือ หมายถึงการหยิบเงินหยิบทองเพื่อความรุ่งเรือง 

ทองหยอด : มีลักษณะเหมือนหยดน้ำ ความหมายสื่อถึงทอง อวยพรให้คู่บ่าวสาวร่ำรวยเงินทอง

ฝอยทอง : ทำเป็นเส้นยาวๆ สื่อความหมายถึงการครองรักครองเรือนที่ยาวนาน มีชีวิตที่ยืนยาวเหมือนเส้นของฝอยทอง เป็นต้น