กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกไปแล้ว สำหรับ ‘อุทยานธรณีสตูล’ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ยูเนสโก ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ให้อุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) แห่งแรกของประเทศไทย ถือเป็นแห่งที่ 5 ของอาเซียน
ไทยรัฐออนไลน์ จะพาคุณไปเจาะลึกเรื่องนี้กัน ทริปหน้าเผื่ออยากหาที่เที่ยวใหม่ น่าสนใจ เราว่าหลายคนคงอยากปักหมุดการเดินทางไว้ที่อุทยานธรณีสตูลแน่ๆ
1. สมาชิกอุทยานธรณีโลก
วันที่ 18 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบเสนอให้ ‘อุทยานธรณีสตูล’ เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เมื่อปี 2559 และทางยูเนสโกได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาทำการประเมินในปี 2560
ล่าสุดทางยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีโลก หรือ Satun Unesco Global Geopark แห่งแรกของประเทศไทย
2. อุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย
อุทยานธรณีสตูล ยูเนสโกประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลกแหล่งแรกของประเทศไทย ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งธรณีของ จ.สตูล
...
ถือเป็นการเริ่มต้นแหล่งท่องเที่ยวในเวทีโลก ที่จะต้องทำต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน
3. อุทยานธรณี คืออะไร?
อุทยานธรณี (Geopark) หมายถึง พื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งธรณีวิทยา แหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา ที่มีคุณค่าต่อประเทศ/โลก ในทางด้านโบราณคดี (Archeology) นิเวศวิทยา (Ecology) และศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่มีคุณค่าของโลก (Culture), ข้อมูลจาก : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. UNESCO Global Geoparks
สำหรับอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก หรือ UNESCO Global Geoparks เป็นโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก
อุทยานธรณีโลก จะต้องเป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ทั้งการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้น
5. มี 120 แห่งทั่วโลก
ปัจจุบัน 'อุทยานธรณีโลก' ของยูเนสโก มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 120 แห่ง ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแล้วจำนวน 5 แห่ง ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย 1 แห่ง, เวียดนาม 1 แห่ง, อินโดนีเซีย 2 แห่ง และประเทศไทย เพิ่งได้รับการประกาศให้มีอุทยานธรณีโลกเป็นแห่งล่าสุด
6. โดดเด่นระดับสากล!
...
สำหรับ อุทยานธรณีสตูล ครอบคลุมพื้นที่ 2,597.21 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาระดับสากล และได้รับการบริหารจัดการโดยใช้กรอบแนวคิดการอนุรักษ์ธรณีวิทยา การให้ความรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
7. ลำดับที่ 36 ของโลก
อุทยานธรณีสตูล ได้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกเป็นประเทศที่ 36 เป็นแหล่งที่ 5 ของอาเซียน และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ทางยูเนสโกจะโปรโมตที่นี่ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คาดว่าจะส่งสัญลักษณ์มาให้ในต้นเดือน พ.ค. 2561 โดยจะนำมามอบให้นายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม.
...
8. สร้างโอกาสให้ชุมชน
อุทยานธรณีโลก ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เชื่อมโยงความสำคัญของมรดกทางธรณีวิทยา มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นไกด์พาเที่ยว ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร การบริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ
9. ที่เที่ยวน่าไป 28 แหล่ง
อุทยานธรณีสตูล มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจทั้งหมด 28 แหล่ง ใน 4 อำเภอของสตูล ทางจังหวัดก็ได้เตรียมรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่สนใจมาเที่ยวปักหมุดที่นี่ การประกาศในครั้งนี้สร้างความยินดีให้กับชาว จ.สตูล เป็นอย่างมาก
10. ไฮไลต์ที่ต้องชม!
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในพื้นที่อุทยานธรณีสตูล ที่ไม่ควรพลาดชม ได้แก่
- ถ้ำวังกล้วย : ตั้งอยู่ในเขตบ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล พบกับซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนักประมาณ 5.3 กก. ยาวประมาณ 44 ซม. สูงประมาณ 16 ซม. เมื่อนำมาตรวจสอบพบว่าเป็นกระดูกฟันกรามของ ‘ช้างสเตโกดอน’ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคไมโอซีนตอนปลายถึงต้นยุคไพลสโตซีน มีอายุประมาณ 1.8 ล้านปีมาแล้ว เป็นช้างรุ่นที่ 6 ในวิวัฒนาการของสัตว์ตระกูลช้างที่มีอายุเก่าแก่กว่าช้าง ‘แมมมอธ’ (รุ่นที่ 8-อายุราว 20,000 ปีก่อน)
...
- โรงเรียนกำแพงวิทยา : ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล เด็กในชุมชนนำลักษณะต่างๆ ของซากฟอสซิล มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะวาดลวดลายลงบนผ้าบาติกผืนงาม
- เขาน้อย : ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเสม็ด ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล เป็นเนินเขาเตี้ยๆ ที่มีซากฟอสซิลหลากหลายอยู่ในเนื้อหินแทบทุกตารางเมตร เช่น พลับพลึงทะเล แบรคิโอพอด (หอยกาบคู่) ไทรโลไบต์ (สัตว์ต้นตระกูลแมงดาทะเลโบราณ) และแกรปโตไลต์ สัตว์ทะเลขนาดเล็กมีลักษณะเป็นเส้น เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายจะเห็นเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม
- ศาลทวดโต๊ะสามยอด : ตั้งอยู่ที่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ค้นพบซากหอยกาบคู่ และซากหอย “นอติลอยต์” (สัตว์ในชั้นเดียวกับหมึก หมึกยักษ์ และนอติลุส) ขนาดใหญ่และชัดเจนมาก.
ที่มาภาพ : Satun-Geopark