ถึงแม้ว่ามหานครอิสตันบูล (Istanbul) หรืออดีตกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) จะไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศตุรกี แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า มหานครแห่งสองทวีปริมช่องแคบบอสฟอรัส (Bosphorus) แห่งนี้อัดแน่นไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญทั้งจากยุคไบแซนไทน์ (Byzantine) และออตโตมัน (Ottoman) ให้เดินเที่ยวชมกันได้ไม่รู้เบื่อ โดยที่ไฮไลต์สำคัญของอิสตันบูลก็คงจะหนีไม่พ้นพิพิธภัณฑ์ “ฮาเยีย โซเฟีย” (Hagia Sophia) ซึ่งได้รับการขนานนามให้เป็น “สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่แปดของโลก” เป็นแน่แท้

แน่นอนว่า วันนี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จะพาทุกท่านไปชมกันครับ

พิพิธภัณฑ์ “ฮาเยีย โซเฟีย” ตั้งอยู่ในย่านจัตุรัสสุลต่านอาห์เหม็ด (Sultan Ahmed Square) ซึ่งเป็นโซนท่องเที่ยวสำคัญของมหานครอิสตันบูล โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของฮาเยีย โซเฟีย มีความงดงามตระการตา อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่โตมหึมา ดึงดูดสายตาของนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปผ่านมาในย่านจัตุรัสสุลต่านอาห์เหม็ดให้เอี้ยวคอหันไปมองได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

แต่ถึงอย่างนั้น “ฮาเยีย โซเฟีย” ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้งดงามเช่นนี้มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มหรอกนะครับ ผลงานชิ้นโบแดงนี้เกิดขึ้นจากการบูรณะต่อเติมหลักๆถึงสามครั้งสามครา เริ่มต้นจากวิหารบูชาเทพเจ้าของชาวกรีกโบราณ ก่อนที่จะถูกดัดแปลงมาเป็นโบสถ์ ตามด้วยมัสยิด แล้วถึงลงเอยด้วยการเป็นพิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่าอย่างที่ได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้

ฮาเยีย โซเฟียชั้นบนโดดเด่นด้วยภาพโมเสก หนึ่งในนั้นคือภาพพระเยซู (กลาง) พระแม่มารีย์ (ซ้าย) และนักบุญจอห์น (ขวา)
ฮาเยีย โซเฟียชั้นบนโดดเด่นด้วยภาพโมเสก หนึ่งในนั้นคือภาพพระเยซู (กลาง) พระแม่มารีย์ (ซ้าย) และนักบุญจอห์น (ขวา)

...

นักโบราณคดีเสนอว่า แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่อันเป็นสถานที่ตั้งของฮาเยีย โซเฟีย คือซากปรักหักพังของวิหารแห่งเทพเจ้าอาร์เทมิส (Artemis) แล้วจึงถูกดัดแปลงให้มาทำหน้าที่ “โบสถ์” ซึ่งได้รับการขนานนามกันในชื่อ “เมกาเล เอกเคลสเซีย” (Megale Ekklesia) หรือ “มหาวิหารอันยิ่งใหญ่” (Great Church) สร้างขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ.360 ในช่วงรัชสมัยการครองราชย์ของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 2 (Constantine II) ด้วยลักษณะของ “มหาวิหาร” (Basilica) ขนาดใหญ่ ก่อกำแพงด้วยหิน ทว่าโครงสร้างของหลังคาทำจากไม้ สุดท้ายแล้วมหาวิหารแห่งนี้ได้ถูกเผาทำลายลงไปในช่วงของการประท้วงขับไล่นักบุญจอห์น คริสซอสตอม (St.John Chrysostom) เมื่อปี ค.ศ.404 แต่ถึงอย่างนั้น นักโบราณคดีก็ได้ค้นพบหลักฐานของแผ่นอิฐที่มีตราประทับสลักคำว่า “เมกาเล เอกเคลสเซีย” ปรากฏอยู่บนนั้นด้วย ทำให้เสนอกันว่านี่อาจจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่จริงของ “มหาวิหาร” แห่งนี้ก่อนที่จะถูกทำลายลงก็เป็น ได้ครับ

หลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ.415 มหาวิหารแห่งที่สองได้ถูกรังสรรค์ขึ้นบนพื้นที่เดิม และสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมเฉกเช่นมหาวิหารแห่งแรก คงอยู่มาได้ราวหนึ่งร้อยปีเศษ ถึงช่วงปี ค.ศ.532 ก็ไม่วายต้องถูกทำลายลงอีกจนได้ครับ ครั้งนี้เป็นผลพวงมาจาก “กบฏนิก้า” (Nika Riots) ในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) ที่เข้ามาสั่นคลอนบัลลังก์ของพระองค์

ตอนแรกจัสติเนียนคิดจะยอมยกธงขาวแล้วหนีออกไปจากนคร ทว่าผู้ที่ดึงพระองค์ไว้ให้ฮึดสู้ต่อไปก็คือ ธีโอโดร่า (Theodora) มเหสีของจัสติเนียนนั่นเองล่ะครับ ธีโอโดร่าไม่เคยคิดหนี นางกล่าวกับจัสติเนียนว่า “ท่านจะหนีก็ได้ถ้าท่านต้องการ ทางสะดวก ท่านมีเงินและเรือมากมาย ทางออกสู่ทะเลเปิดแก่ท่านแล้ว แต่ข้าจะอยู่ เพราะอาภรณ์สีม่วงแห่งจักรพรรดิคือชุดคลุมอันสง่างามที่สุด” เมื่อได้ยินคำมเหสีตรัสดังนั้น จัสติเนียนก็ฮึกเหิมสิครับ พระองค์สลัดความคิดที่จะหนีออกไปจนสิ้นแล้วรวบรวมกองทัพบุกเข้าสังหารเหล่ากบฏจนสิ้นชีพไปสามหมื่นศพ!! ผลของการกบฏในครั้งนี้คือ ความเสียหายของฮาเยีย โซเฟีย แต่ถึงอย่างนั้นก็ถือเป็น “ปฐมบท” ที่แท้จริงของโบสถ์รุ่นที่สาม ซึ่งเป็นโบสถ์อันสง่างามที่พวกเราได้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ด้วยเช่นกันครับ

“เสาร่ำไห้” เสาศักดิ์สิทธิ์ภายในฮาเยีย โซเฟีย.
“เสาร่ำไห้” เสาศักดิ์สิทธิ์ภายในฮาเยีย โซเฟีย.

จักรพรรดิจัสติเนียนมอบหมายหน้าที่ออกแบบให้กับสองสถาปนิกใหญ่นามว่า “แอนธีมิอุส” (Anthemius) และ “อิสิโดเรผู้ชรา” (Isidore the Elder) พร้อมกับเหล่าสถาปนิกและช่างฝีมืออีกร่วม 200 ชีวิต และเพื่อเป็นการ “เร่ง” ให้มหาวิหารแห่งนี้สำเร็จโดยเร็ว จักรพรรดิจัสติเนียนจึงได้มีการเสนอรางวัลอย่างงามแก่เหล่าคนงานที่สามารถทำงานได้เสร็จรวดเร็วทันใจ นั่นจึงทำให้ “ฮาเยีย โซเฟีย” เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี ค.ศ.537 โดยใช้เวลาสร้างเพียง 5 ปีกับอีก 10 เดือนเท่านั้นเอง

และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 นี่เองครับที่ฮาเยีย โซเฟียได้รับการยกย่องให้เป็น “สิ่งมหัศจรรย์ อันดับที่แปดของโลก” สถาปัตยกรรมของโบสถ์แห่งนี้แตกต่างออกไปจากโบสถ์ดั้งเดิมที่เคยสร้างขึ้นมาก่อนหน้าทั้งสองครั้งอย่างสิ้นเชิง นอกจากความใหญ่โตอลังการแล้ว โบสถ์แห่งนี้ยังมี “โดม” ครึ่งทรงกลมขนาดยักษ์ที่รับน้ำหนักด้วยผนังรูปสามเหลี่ยมโค้ง (Pendentive) ตั้งอยู่บนเสาสูงจำนวนสี่ต้น ถือเป็นจุดเด่นทางสถาปัตยกรรมของฮาเยีย โซเฟียเลยก็ว่าได้ครับ

...

แต่หลังจากนั้นเมื่อจักรวรรดิออตโตมันพร้อมกับศาสนาอิสลามเข้ามายึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ในช่วงปี ค.ศ.1453 โบสถ์คริสเตียนที่มีทั้งหน้ามุขและภาพโมเสกของพระเยซูคริสต์ พระแม่มารีย์ และทูตสวรรค์ต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ไปเป็น “มัสยิด” แต่ถึงอย่างนั้นชาวมุสลิมในยุคหลังก็ไม่ได้ “ทำลาย” ภาพโมเสกดั้งเดิม พวกเขาเพียงแค่โบกปลาสเตอร์บางๆ ทับภาพเหล่านั้นเอาไว้ แล้วปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในด้วยสิ่งที่จำเป็นในทางศาสนาของชาวมุสลิมเช่น “มิหร็อบ” (Mihrab) อันเป็นสถานที่ให้อิหม่ามเข้าไปนำละหมาด รวมถึง “มินบาร์” (Minbar) หรือธรรมาสน์สำหรับใช้เทศนาและบันไดสูงที่นำพาไปสู่ปะรำด้านบนก็ถูกเพิ่มเข้ามาอย่างลงตัว ทว่าชาวมุสลิมไม่ได้ทำการปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมโครงสร้างของโบสถ์แห่งนี้ไปเลยแม้แต่น้อย

ภาพโมเสก จักรพรรดิจอห์นที่ 2 และราชินีไอรีน.
ภาพโมเสก จักรพรรดิจอห์นที่ 2 และราชินีไอรีน.

...

การเปลี่ยนแปลงเชิงบทบาทครั้งสุดท้ายของฮาเยีย โซเฟีย เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1935 เมื่อมัสยิดแห่งนี้ได้กลายเป็น “พิพิธภัณฑ์” ที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันของสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของไบแซนไทน์กับออตโตมันอย่างลงตัว ออกมาเป็นอาคารสีออกน้ำตาลแดงปกคลุมด้วยหลังคาทรงโดมขนาดยักษ์รายล้อมด้วย “เสาทรงดินสอ” (Minarets) สูงร่วม 60 เมตร จำนวน 4 ต้น ตั้งอยู่ทั้ง 4 มุมอย่างสมดุล ดังที่ปรากฏต่อสายตาของพวกเราในปัจจุบันนี่ล่ะครับ

ลองเข้าไปชมบรรยากาศด้านในกันบ้างดีกว่าครับ ทางเข้าฮาเยีย โซเฟีย อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ประกอบไปด้วย “โถงทางเข้า” (Narthex) สองชั้นด้วยกัน โถงชั้นนอกตกแต่งแบบหยาบๆ มีเพดานโค้ง ไม่มีลวดลายประดับใดๆ แต่ในปัจจุบันจุดเด่นของโถงทางเข้าชั้นนอกอยู่ที่โบราณวัตถุหลากหลายชนิดที่ทางการตุรกีนำมาจัดแสดงเอาไว้ ส่วนโถงทางเข้าชั้นถัดไปยังคงมีลักษณะเพดานโค้งเช่นเดิม แต่ว่าไม่ได้มีโบราณวัตถุวางเรียงรายอีกต่อไปแล้ว ผนังและเพดานได้รับการตกแต่งด้วยลวดลายต่างๆอย่างงดงาม โดยเฉพาะลวดลายจากเนื้อหินอ่อนธรรมชาติ ที่ช่างฝีมือจงใจ “ผ่า” หินอ่อนออกเป็นสองส่วน เผยให้เห็นลวดลายเนื้อหินด้านใน แล้วนำมาใช้ประดับตกแต่งผนังด้วยการแผ่หินออกคล้ายการกางหน้าหนังสือดูแปลกตาทีเดียวครับ

พิพิธภัณฑ์ฮาเยีย โซเฟีย.
พิพิธภัณฑ์ฮาเยีย โซเฟีย.

...

ถัดเข้ามาด้านในคือ ส่วนกลางของโบสถ์ซึ่งถือได้ว่าอลังการงานสร้างเป็นอย่างยิ่ง เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปมองจะพบกับโดมครึ่งทรงกลมขนาดยักษ์เส้นผ่าศูนย์กลาง 32.5 เมตรในแกนเหนือ-ใต้ และกว้าง 31 เมตรในแกนตะวันออก-ตะวันตก อยู่สูงจากพื้นขึ้นไปประมาณ 56 เมตร เทียบได้กับตึกยุคใหม่ที่มีจำนวนชั้นถึง 20 ชั้นเลยทีเดียวล่ะครับ เงยหน้าเลยไปอีกเล็กน้อย บริเวณปลายสุดของห้อง เหนือมุขโค้ง (Apse) ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นมิหร็อบของชาวมุสลิมยังคงปรากฏภาพโมเสกของพระแม่มารีย์อุ้มพระเยซูอยู่บริเวณเพดานโค้งด้านบนอย่างชัดเจน ในขณะที่โดยรอบของโถงกลางประดับไปด้วยข้อความสรรเสริญพระนามของพระอัลลอฮ์ บ้างก็ปรากฏบนผืนผ้าใบวงกลมขนาดยักษ์ เป็นการผสมผสานกันของศิลปะจากสองศาสนาที่งดงามลงตัวทีเดียว

รอยขีดเขียนอักษรรูนที่พวกไวกิ้งสลักเอาไว้.
รอยขีดเขียนอักษรรูนที่พวกไวกิ้งสลักเอาไว้.

นอกจากความงดงามในเชิงศาสนาแล้ว เสาสูงที่ประดับด้านในห้องโถงก็งดงามไม่แพ้กัน อีกทั้งยังเป็นเสาที่ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนอีกด้วยล่ะครับ เสาส่วนใหญ่สกัดมาจากหินอ่อน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเรื่องเล่าสนุกๆอยู่เหมือนกันว่าแท้ที่จริงแล้วจักรพรรดิจัสติเนียนไม่ได้ต้องการใช้หินอ่อนมาประดับตกแต่งฮาเยีย โซเฟียหรอกครับ พระองค์ปรารถนาจะประดับโบสถ์แห่งนี้ด้วย “โลหะเงิน” มากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้มีนักปรัชญาท่านหนึ่งมาดึงสติจัสติเนียนเอาไว้ว่า เมื่อถึงวันที่อาณาจักรของท่านล่มสลาย แผ่นโลหะเงินเหล่านี้ก็ไม่วายต้องถูกแซะออกมาอยู่ดี จัสติเนียนจึงเปลี่ยนใจหันมาใช้หินอ่อนแทน ซึ่งวัสดุต่างๆที่พระองค์นำมาใช้ประดับตกแต่งภายในฮาเยีย โซเฟียก็มาจากหลากหลายพื้นที่ของโลก ทั้งอียิปต์, กรีกและอิตาลีด้วยเช่นกัน

การผสมผสานศิลปะจากสองศาสนาอย่างลงตัว.
การผสมผสานศิลปะจากสองศาสนาอย่างลงตัว.

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญของห้องโถงฮาเยีย โซเฟีย ที่มีความโดดเด่นโดยเฉพาะทางด้าน “ความเชื่อ” ก็คือ “เสาร่ำไห้” (Weeping Column) ซึ่งเชื่อกันว่า มีพลังทางด้านการเยียวยารักษาอันน่าทึ่ง!! มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง จักรพรรดิจัสติเนียนปวดศีรษะมาก แต่เมื่อพระองค์พิงศีรษะเข้ากับเสานี้ก็หายดีเป็นปลิดทิ้ง!! น่าทึ่งไหมล่ะครับ? เสาต้นนี้ยังคงโด่งดังมาจนถึงปัจจุบันด้วยว่ามี “รู”ขนาดเล็กที่มาพร้อมกับตำนานว่าถ้าใครนำเอานิ้วโป้งสอดเข้าไปในรูที่ว่านี้แล้วหมุนข้อมือได้ครบรอบ ก็จะทำให้ความปรารถนาเป็นจริง นั่นจึงไม่แปลกเลยครับ ที่ทุกวันนี้เสาต้นนี้จะเนื้อหอมเป็นอย่างยิ่ง เพราะนักท่องเที่ยวทุกคนต่างก็ไปยืนรอต่อแถวเพื่อที่จะขอพรกันดูสักครั้ง

ไม่ไกลจากเสามหัศจรรย์คือ ทางลาดคล้ายบันไดวนขนาดยักษ์ที่นำพานักเดินทางขึ้นไปยังชั้นสองซึ่งเดิมทีจัดไว้ให้สำหรับสตรีในยุคไบแซนไทน์ ความโดดเด่นของฮาเยีย โซเฟีย ชั้นสอง อยู่ที่อักขระปริศนาบนกำแพงหินอ่อนที่ดูแล้วไม่ค่อยเข้ากับบรรยากาศของไบแซนไทน์และออตโตมันสักเท่าใดนัก เพราะเป็นอักขระที่เขียนด้วย “อักษรรูน” (Runes) ของพวกไวกิ้ง (Viking) น่ะสิครับ!!

มิหร็อบและมินบาร์ (ล่าง) อยู่ร่วมกับภาพโมเสกของพระแม่มารีย์และพระเยซู (บน)
มิหร็อบและมินบาร์ (ล่าง) อยู่ร่วมกับภาพโมเสกของพระแม่มารีย์และพระเยซู (บน)

นักวิชาการเสนอว่า ข้อความเหล่านี้ไม่ใช่ของเก๊หรอกครับ แต่เป็นฝีมือของชาวไวกิ้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งรับหน้าที่เป็นทหารรับจ้างให้กับจักรวรรดิไบแซนไทน์ก็เท่านั้นเอง นอกจากนั้นไฮไลต์สำคัญของฮาเยีย โซเฟีย ชั้นสอง อยู่ที่บรรดาภาพโมเสกของพระเยซูกับจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์หลากหลายพระองค์ ระบุอายุได้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึง 12 เช่น จักรพรรดิจอห์นที่ 2 กับราชินีไอรีน หรือจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 9 กับราชินีโซอี รวมถึงภาพโมเสกของพระแม่มารีย์กับนักบุญจอห์นที่แม้จะเสียหายไปบ้างแต่ก็ยังคงงดงามทีเดียวล่ะครับ

นอกจากความอลังการภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว พื้นที่ด้านนอกก็ยังมีโครงสร้างต่างๆที่น่าสนใจให้ได้ชมด้วยเช่นกันครับ ทั้งน้ำพุสำหรับให้ชาวมุสลิมชำระล้างทำความสะอาดก่อนเข้าไปในมัสยิด รวมถึงสุสานของสุลต่าน 3 พระองค์ที่ปกคลุมด้วยหลังคาโดมครึ่งทรงกลมก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน นั่นจึงไม่แปลกเลยครับที่สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่แปดของโลกอย่างฮาเยีย โซเฟีย จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาเยือนมหานครอิสตันบูลได้อย่างไม่ขาดสาย

ภาพโมเสก จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 9 และราชินีโซอี.
ภาพโมเสก จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 9 และราชินีโซอี.

นอกจากนั้น “พื้นที่ประวัติศาสตร์อิสตันบูล” (Historic Areas of Istanbul) อันเป็นสถานที่ตั้งของฮาเยีย โซเฟีย ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 อีกด้วยล่ะครับ.


โดย : เคเมต เซช
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน