เมื่อเอ่ยนาม ธีโอดอร์ รูสเวลต์ แฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีม งานนิตยสารต่วย’ตูน คงพอจะคุ้นเคยกับนามนี้อยู่บ้างว่าเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาหลายสมัย
ธีโอดอร์เกิดในครอบครัวมั่งคั่ง แต่สุขภาพไม่ดีนักเพราะเป็นโรคหอบหืดแต่เล็ก แต่ด้วยความทรหดในสายเลือดทำให้ผ่านเวลาอันอ่อนแอนั้นมาได้ เขานิยมการใช้ชีวิตในทุ่งกว้าง ชอบศึกษาเรื่องสัตว์ สะสมซากสตัฟฟ์ และเขียนเรื่องราวของมันเป็นบันทึก ไม่แปลกที่เขาจะยึดติดกับชีวิตลูกผู้ชายมีปืนและม้าเป็นเพื่อนเกลออีกอย่างหนึ่งด้วย
เขาเข้าร่วมรบกับทัพอเมริกันในหน่วยทหารม้าทุรกันดาร สามารถนำทัพเข้ารบในสงครามสเปน-อเมริกันได้ชัยชนะ กลายเป็นวีรบุรุษในทันที ความโดดเด่นทำให้เขาถูกดันสู่วงการการเมือง จนได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้วยวัยน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ เพียง 43 ปี ธีโอดอร์สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ชาติอย่างมากมาย เป็นหนึ่งในสี่ประธานาธิบดีที่ได้รับการสลักใบหน้าไว้ที่ภูเขารัชมอร์
ผลงานอีกอย่างของธีโอดอร์ รูสเวลต์ ที่จะเล่าในวันนี้คือ การออกสำรวจแม่น้ำสาขาของแม่น้ำอเมซอนในอเมริกาใต้ การเดินทางครั้งนี้ก็เกือบทำให้อดีตประธานาธิบดีสิ้นชื่อ
...
หลังจากผิดหวังในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1912 รูสเวลต์ได้รับจดหมายเชิญให้ไปทัวร์บรรยายที่อาร์เจนตินาและบราซิล รูสเวลต์กระตือรือร้นขึ้นมาอีกครั้ง คิดว่าไหนๆก็ไปถึงอเมริกาใต้ก็ควรตามด้วยการล่องเรือเที่ยวแม่น้ำอเมซอน ซึ่งหลวงพ่อจอห์น ออกัสติน ซาห์ม (John Augustine Zahm) สหายเก่าเคยชวนเอาไว้หลังจากติดต่อแลกเปลี่ยนความคิด รัฐบาลบราซิลเสนอโครงการเดินทางผจญภัยแบบที่รูสเวลต์ชอบ โครงการนี้คือเดินทางร่วมไปกับนักสำรวจชาวบราซิลชื่อ คานดิโด รอนดอน (Cândido Rondon) เพื่อสำรวจสายน้ำที่ยังไม่มีใครรู้จัก เรียกกันว่า แม่น้ำปริศนา (the River of Doubt) ซึ่งต้นแม่น้ำเพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานก่อนหน้า
ก่อนที่จะออกเดินทางในเดือนตุลาคม อดีตประธานาธิบดีนักผจญภัยวัย 55 ปี จึงติดต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกันขอทุนสนับสนุนเพิ่ม แลกกับการเก็บตัวอย่างสัตว์ในระหว่างการเดินทางมาให้และยังขอให้พิพิธภัณฑ์คัดเลือกนักธรรมชาตินิยมสองคนไปด้วยรูสเวลต์จินตนาการว่า การเดินทางนี้เป็นการพักผ่อนส่วนหนึ่ง และความพยายามทางวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง และเส้นทางป่าชัฏที่ไม่เคยมีคนขาวคนใดเคยไปมาก่อนนี้คือ การเสี่ยง จนแม้แต่หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกันที่ไปด้วยก็พยายามเตือนถึงความเสี่ยง แต่รูสเวลต์ปัดกังวล
“สำหรับผม...หากจำเป็นก็จะทิ้งกระดูกไว้ในอเมริกาใต้” รูสเวลต์ว่า “ผมพร้อมที่จะทำเช่นนั้น” รูสเวลต์รู้ดีว่าการผจญภัยอเมซอนคราวนี้เป็น “โอกาสสุดท้ายที่จะได้เป็นเด็กผู้ชาย” และมันอาจกลายเป็นรางวัลชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
ปลายปี 1913 หลังจากรูสเวลต์เสร็จสิ้นการบรรยายที่อาร์เจนตินาและบราซิล การเดินทางของรูสเวลต์และรอนดอนก็เริ่มขึ้น ลูกทีมขบวนสำรวจประกอบด้วย หลวงพ่อซาห์มสหายเก่าของรูสเวลต์ เคอร์มิทลูกชายของรูสเวลต์ นายพันรอนดอน นักธรรมชาตินิยมชาวบราซิล จอร์จ ครุค เชอร์รี (George Kruck Cherrie) และแอนโทนี ฟิอาลา นักสำรวจผู้มีฝือในการวาดภาพชาวอเมริกัน เป็นตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน ฌวล ลีรา (João Lira) ร้อยโทชาวบราซิล แพทย์ของทีม หมอจูเซ แอนโทนิโอ คาจาเซรา (Dr.José Antonio Cajazeira) และลูกหาบอีกจำนวนหนึ่ง
การเดินทางเริ่มต้นขึ้นในกาเซเรส (Cáceres) เมืองเล็กๆ บนแม่น้ำปารากวัยในเดือนธันวาคมปี 1913 แล้วต่อไปทาพิราปัว (Tapirapuã) ซึ่งรอนดอนเคยค้นพบต้นแม่น้ำปริศนามาแล้วก่อนหน้านี้ จากที่นั่นก็เดินทางมุ่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านป่าทึบ
และที่ราบสูง กระทั่งถึงแม่น้ำปริศนาเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 1914 ตลอดเส้นทางนั้น รูสเวลต์กระฉับกระเฉง แม้ยังมีหัวกระสุนที่ถูกคนร้ายลอบยิงค้างอยู่ในอกของตน จากการพยายามลอบสังหารระหว่างการหาเสียงในปี 1912 รูสเวลต์รอด แต่หมอก็ผ่ากระสุนออกมาไม่ได้ เนื่องจากตำแหน่งนั้นเสี่ยงเกินไป
การเดินทางไม่ได้เป็นไปตามแผนนัก คนในคณะเริ่มล้มป่วยระนาวด้วยโรคเขตร้อนขณะข้ามที่ราบสูงทุรกันดารของบราซิล สัตว์ต่างสัมภาระกว่าครึ่งตายจากอาการอ่อนเพลีย เมื่อมาถึงแม่น้ำปริศนา เสบียงก็เริ่มร่อยหรอ รูสเวลต์และรอนดอนต้องแยกทีมออกเป็นสองกลุ่ม ไปคนละทาง กลุ่มหนึ่งมีหลวงพ่อซาห์ม และแอนโทนี ฟิอาลานำ เดินทางตามแม่น้ำพารานา (the Paraná River) ไปถึงจุดนัดพบแม่น้ำมาเดรา (the Madeira River)
...
ส่วนทีมของรูสเวลต์ก็เหลือเพียงรูสเวลต์ พันเอกรอนดอน จอร์จ ครุค เชอร์รี นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกัน เคอร์มิทลูกชายของรูสเวลต์ และลูกหาบชาวบราซิล 15 คนยังคงมุ่งหน้าที่จะล่องไปตามลำน้ำปริศนา
การเดินทางต่อจากนั้นยิ่งยากลำบากกว่าอีกหลายเท่า พวกเขาล่องไปตามกระแสน้ำด้วยเรือแคนูที่ขุดจากต้นไม้ เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากทุกสิ่ง ตั้งแต่จระเข้ ปลาปิรันย่า ไปจนถึงชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่เป็นมิตรกับใคร เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาหยุดตั้งแคมป์พักบนริมฝั่งน้ำ พวกเขายังถูกสิ่งที่รูสเวลต์เรียกว่า “การทรมานและการคุกคาม” จากยุงและแมลงอื่นๆเข้าโจมตีอีก อดีตประธานาธิบดีก็เกือบถูกงูพิษกัด งูนั้นฝังเขี้ยวเข้าที่น่อง ดีแต่ว่ารูสเวลต์สวมบูต เขี้ยวงูจึงจิกลงได้แค่หนังรองเท้า
ประสบการณ์ที่พบในแต่ละโค้งแม่น้ำคือการล่วงเข้าสู่ดินแดนใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำแผนที่มาก่อน “ที่นี่ไม่มีมนุษย์อารยะ ไม่มีคนผิวขาวเคยล่องไปตามแม่น้ำสายนี้ หรือเห็นภูมิประเทศที่เราผ่านไป” รูสเวลต์บันทึกไว้ในเวลาต่อมา “ป่าอันสูงตระหง่านเหยียดตัวขึ้นเหมือนกำแพงสีเขียวทั้งสองข้าง”
...
ถึงต้นเดือนมีนาคม เส้นทางกลับกลายเป็นคดเคี้ยวและสายน้ำเชี่ยว แก่งน้ำแต่ละแห่งทำให้ต้องวิดน้ำออกจากเรือแคนู หรือไม่ก็ต้องพาเรือเทียบฝั่ง แบกเรือขึ้นหลังข้ามป่าไปลงแม่น้ำในแก่งถัดไป การเดินทางช้าลงเป็นเจ็ดไมล์ต่อวัน บ่อยครั้งที่ต้องหยุดเพื่อซ่อมหรือสร้างเรือลำใหม่ เพราะหลายลำแตกเสียหายระหว่างการข้ามแก่ง อุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรง เกิดเมื่อ 15 มีนาคม เรือแคนูของเคอร์มิทถูกดูดเข้าไปในวังน้ำวน ก่อนที่เรือเปล่าจะไปโผล่เหนือน้ำตกและไหลร่วงตามน้ำลงไป เคอร์มิทกับเพื่อนในเรือสามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ แต่ซิมพลิซิโอ (Simplicio) ลูกหาบชาวบราซิลจมหายในสายน้ำเชี่ยว
นอกจากปัญหาเรื่องอาหารที่ยังแก้ไขไม่ได้ นักสำรวจเริ่มรู้ว่ามีชนป่าเผ่าซินตา ลาร์กา (Cinta Larga) คอยติดตามเป็นเงา เมื่อรอนดอนพบว่าสุนัขของเขาถูกยิงด้วยลูกธนูก็รู้ว่ากลุ่มชาวอินเดียนกำลังสะกดรอย อินเดียนแดงเถื่อนเผ่านี้สามารถฆ่าล้างคณะเดินทางได้ในพริบตา แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คนป่านั้นก็ปล่อยให้พวกเขาผ่านไปโดยไม่ทำอันตราย (แต่กลุ่มนักสำรวจในปี ค.ศ.1920 ไม่โชคดีอย่างนั้น)
...
ขวัญกำลังใจมาถึงจุดต่ำสุดเมื่อต้นเดือนเมษายน เมื่อลูกหาบชื่อจูลิโอสังหารลูกหาบชาวบราซิลอีกคนซึ่งเขาจับได้ว่าขโมยอาหาร แต่เมื่อรู้ตัวว่าทำโดยไม่ทันยั้งคิด ลูกหาบซึ่งกลายเป็นฆาตกรก็หนี คณะสำรวจซึ่งแสนจะเหนื่อยล้าหมดปัญญาจะติดตามจับตัว จึงทิ้งเขาไว้ในป่า (เชื่อว่าน่าจะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน)
การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ตอนนี้เปลี่ยนเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดไปพลาง สภาพของแต่ละคนเหมือนผ่านสงคราม เสื้อผ้าขาดวิ่นราวกับผ้าขี้ริ้ว เหนื่อยล้าจากความอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ และหมดแรงจากการบังคับเรือให้ล่องไปตามกระแสน้ำไหลเชี่ยว ต้องจับปลาและกินยอดปาล์มเป็นอาหาร (คล้ายที่ไทยเรากินยอดมะพร้าว) สุดท้ายคณะเดินทางทุกคน ยกเว้นพันเอกรอนดอนก็ป่วย หรือไม่ก็บาดเจ็บ หรือทั้งสองอย่าง แม้แต่คนทรหดอย่างรูสเวลต์ก็เริ่มทนทุกข์ทรมาน เพราะประสบอุบัติเหตุที่ขาเขากระโดดลงน้ำพยายามกันไม่ให้เรือแคนูสองลำชนกับก้อนหิน แต่กลายเป็นขาของรูสเวลต์กระแทกกับหินเสียแทน เนื้อฉีกจนเป็นแผลเบ้อ พอแผลอักเสบเขาเป็นไข้เพราะติดเชื้อ
สุขภาพของรูสเวลต์ค่อยๆแย่ลง หลังจากประสบอุบัติเหตุไม่กี่วัน เขาก็เดินไม่ได้ นอกจากขาข้างที่บาดเจ็บจะติดเชื้อ ขาอีกข้างซึ่งก็ไม่ค่อยดีนักเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อสิบปีก่อน ไหนจะกระสุนในอกที่ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกตลอดเวลา เขาต้องต่อสู้กับไข้ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 103°F (39°C) จนบางครั้งถึงกับเพ้อ แต่ในยามที่มีสติ เขากังวลเสมอว่าจะเป็นตัวถ่วงความอยู่รอดของผู้อื่น จนขอร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ทิ้งเขาไว้ในป่าเพื่อให้ทุกคนเดินทางได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่
“มีวันดีๆอยู่หลายวัน และวันดีๆเหล่านั้นก็เริ่มต้นเมื่อผมเห็นรูสเวลต์ยังมีชีวิต ผมบอกตัวเองว่าเขาอาจอยู่ไม่พ้นคืนนี้” จอร์จ เชอร์รี นักธรรมชาติวิทยาเล่าในภายหลัง “และผมก็นึกในใจในตอนเย็นอีกว่า เขาอาจอยู่ไม่ถึงเช้าพรุ่งนี้”
รูสเวลต์ผอมลงเรื่อยๆ น้ำหนักลดไปหนึ่งในสี่ และแล้วในเวลาที่รูสเวลต์ปริ่มความตาย นอนอิดโรยไร้แรงอยู่ในเรือแคนู รอนดอนนำนักสำรวจลงไปในน่านน้ำซึ่งเริ่มใกล้กับหมู่บ้านคน ในที่สุดโชคก็ช่วยให้พวกเขาพบคนกรีดยาง เซริงเกโรส (seringueiros-ผู้บุกเบิกชาวบราซิลที่อาศัยอยู่ในป่าและทำสวนยาง) พวกเขาแบ่งอาหารให้คณะสำรวจและให้เรือแคนูใหม่ ชี้ทางให้ทีมล่องไปตามแม่น้ำในเส้นทางตามแผนที่เหลือ ในที่สุดเมื่อวันที่ 26 เมษายน ทีมสำรวจก็ได้พบกับคณะแยกซึ่งรอนดอนนัดให้ไปพบกันที่จุดบรรจบของแม่น้ำปริศนากับแม่น้ำอริปัวนา (Aripuana)
พวกเขามาถึงเส้นชัยด้วยระยะเวลาสองเดือนและผ่านเส้นทางหลายร้อยไมล์ คณะสำรวจซึ่งเคยแบ่งเป็นสองกลุ่มก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง รูสเวลต์แม้ว่าจะยังป่วยและอ่อนแอแต่ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส และตามสไตล์ความทรหด เขาอดทนสั่งให้ส่งโทรเลขไปยังรัฐบาลบราซิลแจ้งข่าวสารของคณะเดินทางว่า
“เป็นการเดินทางที่ยากลำบากและค่อนข้างอันตราย แต่ประสบความสำเร็จอย่างมาก”
ธีโอดอร์ รูสเวลต์ได้รับการรักษาเมื่อมาถึงโลกศิวิไลซ์ เมื่อกลับบ้าน เขาเป็นที่ต้อนรับราวกับวีรบุรุษอีกครั้ง รัฐบาลบราซิลก็ตั้งนามแม่น้ำปริศนาเสียใหม่ว่า แม่น้ำรูสเวลต์ (the Roosevelt River) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
รูสเวลต์เขียนหนังสือ “ผ่านป่าชัฏในบราซิล (Through the Brazilian Wilderness)” เล่าถึงการเดินทางของเขาในป่าบราซิลไว้เป็นการยืนยันความทรงจำช่วงเวลาในอเมซอนว่าเป็นหนึ่งในการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา และมันก็เป็นการผจญภัยครั้งสุดท้ายด้วย เชื้อโรคที่ติดกลับมาจากป่าและสภาพร่างกายที่เสื่อมทรุดตามวัยส่งผลกระทบในช่วงเวลาที่เหลือ แม้เขาจะยังคงทำงานและพยายามเป็นอาสาสมัครไปร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอีก แต่ในที่สุดเขาก็เสียชีวิตโดยหลับไปเฉยๆ เมื่อปี 1919 สิริรวมอายุ 60 ปี
“ความตายรับเขาไปในยามหลับ” รองประธานาธิบดีโธมัส มาร์แชลกล่าว “เพราะหากยังตื่นอยู่ก็ไม่มีทางยอมตาย”.
โดย : ภัสวิภา
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน