แฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน คงเคยเห็นต้นไม้ยักษ์ที่มีรูปร่างอ้วนใหญ่คล้ายกับขวดขนาดยักษ์ แถมยังมีกิ่งก้านโกร๋นๆอยู่ตรงปลายยอด เหมือนกับต้นไม้ที่มีรากชี้ฟ้า ซึ่งมักจะปรากฏให้เห็นอยู่ในภาพยนตร์และการ์ตูนหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งนั่นก็คือต้นบาวบับ (Baobab tree) อันเป็นชื่อเรียกรวมๆ ของพืชในสกุล Adansonia คำว่า “Baobab” นั้น มีที่มาจากภาษาอาหรับว่า “bu hibab” ซึ่งหมายถึง ผลไม้ที่มีเมล็ดจำนวนมาก
มีตำนานท้องถิ่นเล่าถึงที่มาของรูปร่างประหลาดเหมือนเอารากชี้ฟ้าของต้นบาวบับอยู่หลายต่อหลายเรื่อง เช่น เมื่อพระเจ้าสร้างต้นบาวบับขึ้นมา มันก็เรียกร้องว่าอยากสูงลิ่วแบบต้นปาล์ม พระเจ้าก็ประทานให้ มันอยากมีดอกที่สวยงาม อ่ะ พระเจ้าก็จัดให้ แต่ก็ยัง...ยังไม่พอ มันขอให้มีผลสีแดงสวยอีก พระเจ้ากริ้วขึ้นมาก็เลยจับมันเอายอดปักดินให้รากชี้ฟ้าซะ!
อีกตำนานหนึ่งบอกว่าพระเจ้ามอบต้นไม้ให้สัตว์ชนิดต่างๆนำไปปลูกบนโลก เจ้าบาวบับโชคร้ายเพราะตกไปอยู่ในมือของไฮยีน่าที่เซ่อซ่าปลูกต้นไม้กลับหัวซะอย่างนั้น หรือบางท้องถิ่นก็บอกว่าเกิดจากการที่ปีศาจถอนต้นบาวบับขึ้นมา แล้วตอนปลูกกลับคืนก็เป็นอย่างที่ทุกท่านทราบ คือโดนปลูกกลับหัว
...
อีกตำนานเล่าว่า บาวบับนั้นเย่อหยิ่งอวดโอ่ถึงความยิ่งใหญ่ดีเด่นเหนือต้นไม้อื่นๆ จนเทพเจ้าให้บทเรียนแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนกับมันด้วยการจับเอาหัวทิ่มลง ยังมีอีกตำนานสาธยายว่า เมื่อบาวบับต้นแรกกำเนิดขึ้นและมันได้เห็นภาพตัวเองผ่านเงาสะท้อนบนผิวน้ำในทะเลสาบ มันก็พร่ำบ่นไม่ขาดปากว่าตัวเองนั้นทั้งอ้วนทั้งมีริ้วรอยยับย่นบนผิวมากมาย พระผู้สร้างก็เลยทำให้มันเงียบปากด้วยการจับยอดมันมุดดินเสียเลย ซึ่งมันก็สงบปากเงียบกริบเรื่อยมานับแต่นั้น
แน่นอนว่าเรื่องที่เล่ามานี้เป็นแค่ตำนานหรือนิทานพื้นถิ่น ความจริงแล้วบาวบับก็มีกิ่ง ก้าน ใบ แบบต้นไม้ทั่วๆไปนี่แหละ แต่มันเป็นไม้ผลัดใบ ในฤดูแล้งเมื่อใบมันร่วงหล่นไปหมดต้นก็เลยดูเหมือนรากไม้เท่านั้นเอง แต่นั่นก็ทำให้มันได้ชื่อ “ต้นไม้กลับหัว” (upside down tree) มาเป็นฉายา นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายชื่อ เช่น
“ต้นขนมปังลิง” (monkey bread tree) เพราะผลของมันมีเปลือกสีน้ำตาลมีเนื้อในสีขาวแบบก้อนขนมปัง ซึ่งลิงรวมทั้งสัตว์อื่น เช่น ช้าง ยีราฟ ก็ชอบกินซะด้วย
“ต้นหนูตาย” (dead rat tree) ด้วยผิวของผลที่มีขนแบบกำมะหยี่สีน้ำตาลและรูปทรงที่เหมือนหนูตายโดนหิ้วหางห้อยต่องแต่ง
“ต้นน้ำมะนาว” (lemonade tree) เพราะเนื้อในผลมีรสเปรี้ยว นำไปทำเครื่องดื่มได้
“ต้นไม้แห่งชีวิต” (the tree of life) เพราะมันมีประโยชน์อย่างมหาศาล และนอกจากนี้บาวบับยังมีชื่อในภาษาท้องถิ่นต่างๆอีกมากมาย
บาวบับอยู่วงศ์เดียวกับต้นงิ้วและต้นนุ่น ซึ่งทั้งงิ้วและนุ่นก็เป็นไม้เนื้ออ่อนมีลำต้นสูงใหญ่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นยักษ์อ้วนแบบบาวบับหรอกครับ บาวบับหรือพืชสกุล Adansonia นั้นนับรวมทั่วโลกมีอยู่ 9 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีลักษณะแตกต่างกันไปบ้าง โดย 2 ชนิดพบในแอฟริกา คือ Adansonia digitata และ Adansonia kilima ถ้าอ่านจากข้อมูลเก่าๆจะพบว่าในแอฟริกามีบาวบับแค่ชนิดเดียว (ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นบรรพบุรุษของบาวบับทุกชนิด) คือ Adan– sonia digitata เพิ่งมาจำแนกว่ามีอีกชนิดคือ Adansonia kilima เมื่อปี ค.ศ.2012 นี้เองครับ
...
ที่เกาะมาดากัสการ์มีอยู่ถึง 6 ชนิด คือ Adansonia grandidieri, Adansonia madagascariensis, Adansonia perrieri, Adansonia rubrostipa, Adansonia suarezensis และ Adansonia za มาดากัสการ์นี่เป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่มีพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นแปลกประหลาดเยอะมากเลยครับ
บาวบับอีกชนิดเรียกได้ว่าอยู่ห่างพี่ห่างน้องไปไกลสุดกู่ เพราะอยู่ถึงทวีปออสเตรเลีย คือ Adansonia gregorii (หรือ Adansonia gibbosa) วิเคราะห์กันว่าการที่มีบาวบับบนแผ่นดินต่างทวีปห่างไกลกันได้ก็เพราะในอดีตหลายร้อยล้านปีก่อน ทวีปแอนตาร์กติกา, ทวีปอเมริกาใต้, ทวีปแอฟริกา, ประเทศมาดากัสการ์ และทวีปออสเตรเลีย เคยรวมกันอยู่ในมหาทวีปกอนด์วานา ก่อนที่แผ่นเปลือกโลกจะเคลื่อนตัวแยกห่างออกจากกันเมื่อราวๆ 80 ล้านปีก่อน เป็นเหตุให้พืชพันธุ์จากมหาทวีปนั้นแยกกันไปตามแผ่นดินที่แยกตัวและต่อมาก็มีวิวัฒนาการเป็นชนิดพันธุ์ที่มีลักษณะแตกต่างกันไปในปัจจุบัน
แต่เมื่อไม่กี่ปีก่อน ก็มีรายงานใหม่มาแย้งว่า เมื่อศึกษา DNA ของบาวบับออสเตรเลียแล้วพบว่ามีวิวัฒนาการต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในแอฟริกาเมื่อประมาณ 2.4 ล้านปีเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่ามันอาจจะไม่ใช่สายพันธุ์ที่ติดไปกับแผ่นดินตั้งแต่เมื่อยุคที่ทวีปยังแนบชิดกันอยู่ แต่บาวบับเพิ่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงทวีปออสเตรเลียในยุคหลังจากนั้น แต่ก็ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์หรอกนะครับที่พามันไป
...
เพราะยุคนั้นมนุษย์ยังอพยพไปไม่ถึงออสเตรเลีย จึงคาดเดากันว่ามันอาจติดไปกับพาหนะทางธรรมชาติมากกว่า หรืออาจเป็นไปได้กระทั่งว่าเมล็ดหรือผลของมันนั้นลอยน้ำข้ามทวีปไปเอง ซึ่งก็ต้องรอดูผลการศึกษาด้านอื่นๆต่อไปในอนาคตครับ
ทีนี้เรามาดูกันซิว่าความอ้วนท้วนของมันมีประโยชน์อย่างไร บาวบับกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง มันจึงวิวัฒนาการให้สามารถเก็บน้ำไว้ในลำต้นได้เป็นจำนวนมาก ต้นใหญ่ๆสามารถเก็บน้ำไว้ได้ถึง 120,000 ลิตรเลยล่ะครับ ด้วยลักษณะของเนื้อไม้ที่คล้ายฟองน้ำ ทำให้ลำต้นของมันขยายออกได้ในฤดูฝนและหดตัวลงในฤดูแล้ง ในยามที่แห้งแล้งจนหาน้ำไม่ได้ ชนพื้นเมืองจะเจาะลำต้นเข้าไปเพื่อหาน้ำ แม้แต่ช้างก็ยังใช้งาแทงลำต้นบาวบับ ลอกเปลือกออก เอาเนื้อไม้ที่ชุ่มน้ำออกมาเคี้ยวกิน บางทีก็แทงเจาะลำต้นเข้าไปเป็นโพรงใหญ่เพื่อดื่มน้ำที่ขังอยู่ในลำต้น แม้ว่าบาวบับจะสร้างเนื้อไม้และเปลือกได้ใหม่ แต่บางครั้งถูกเจาะเข้าไปมากๆเข้าก็ทำเอาบาวบับถึงกับตายได้เหมือนกัน
เปลือกของต้นบาวบับนั้นสามารถทนไฟได้ ช่วยให้มันรอดพ้นจากการคุกคามของไฟป่า และการสร้างเปลือกและเนื้อไม้ใหม่ได้เรื่อยๆก็ช่วยให้มันไม่ล้มตายลงง่ายๆเมื่อถูกสัตว์และคนทำร้าย บาวบับบางต้นมีอายุยืนยาวมานาน 2,000-3,000 ปีเลยทีเดียว บางต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 10 เมตร จึงมีผู้ที่เจาะต้นบาวบับทำเป็นที่พักอาศัย ในอดีตบางชนเผ่าจะประกอบพิธีฝังศพบุคคลสำคัญหรือกษัตริย์ด้วยการเจาะต้นบาวบับเป็นช่องแล้วฝังศพเข้าไป ซึ่งเนื้อไม้ก็จะงอกออกมาสมานแผลเก็บหุ้มศพไว้ภายในลำต้นจนกว่าจะสิ้นอายุขัยอันยาวนานของบาวบับต้นนั้น
...
บางครั้งชนพื้นเมืองเจาะโพรงในลำต้นให้ผึ้งเข้าไปทำรัง เพื่อเก็บน้ำผึ้ง เปลือกบาวบับให้เส้นใยเหนียวทนทาน ใช้ทำเชือก ทอผ้า ทอเสื่อ ถักแห อวนจับปลา เนื้อไม้ใช้ทำกระดาษ มีความเชื่อกันว่าถ้าดื่มน้ำยาที่ทำจากเปลือกบาวบับจะทำให้ร่างกายแข็งแกร่ง เสริมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งยังเชื่อว่าหากเด็กทารกได้อาบน้ำแช่เปลือกบาวบับก็จะแข็งแรง แต่ต้องไม่แช่น้ำนี้นานนักเพราะเชื่อว่าเด็กจะอ้วนเกินไป
ดอกบาวบับมีขนาดใหญ่ประมาณฝ่ามือ ประกอบด้วยกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ มีกลุ่มเกสรขนาดใหญ่ มีก้านดอกยาวห้อยลงมาดูสวยงาม ดอกเริ่มบานในยามบ่ายไปจนถึงกลางคืน มีกลิ่นแรงล่อแมลงและค้างคาวมาช่วยผสมเกสร คนพื้นเมืองบางกลุ่มเชื่อว่าในดอกของบาวบับเป็นที่สถิตของวิญญาณ และคนที่บังอาจไปเก็บดอกบาวบับจะถูกสิงโตเขมือบ!
ผลบาวบับมีขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายผลนุ่น เปลือกนอกแข็ง เนื้อหุ้มเมล็ดสีขาวนุ่ม เมล็ดมีเปลือกแข็งหนา เนื้อในผลบาวบับมีรสเปรี้ยวอมหวาน มีสารอาหารมากมาย อาทิ แคลเซียม โปแตสเซียม เหล็ก วิตามินซี โดยมีแคลเซียมสูงกว่าผักโขม และมีวิตามินซีสูงกว่าส้มและกีวีเสียอีกนำไปรับประทานได้หลายรูปแบบทั้งเป็นอาหารและเครื่องดื่ม
ส่วนเมล็ดนั้นก็สามารถนำไปคั่วแทนเมล็ดกาแฟ นำไปสกัดน้ำมันทำเครื่องสำอางบำรุงผิว เมล็ดเพาะให้งอก กินได้แบบถั่วงอกหรือหน่อไม้ฝรั่ง
ใบบาวบับใช้กินเป็นผักทั้งแบบผักสดและนำไปต้มสุก ใบที่นำไปป่นเป็นแป้งใช้ปรุงซุปแบบพื้นเมืองไนจีเรียที่เรียกว่า คูก้าซุป (Kuka soup) มีส่วนผสมของใบบาวบับป่น เนื้อซี่โครงวัว ปลาแห้ง กุ้งแห้ง หัวหอม พริก และเครื่องปรุงอื่นๆ ปรุงเสร็จแล้วหน้าตาคล้ายๆแกงกะหรี่ แต่รสชาติเป็นอย่างไรผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้ลองชิมครับ
หลายส่วนของต้นบาวบับยังใช้ทำยาได้หลากหลายชนิด นับเป็นต้นไม้ที่มีคุณประโยชน์มากมาย แต่น่าเป็นห่วงว่าเจ้ายักษ์พันปีถูกคุกคามมากขึ้นทุกที ทั้งการทำลายโดยสัตว์ มนุษย์ และจากภัยธรรมชาติ มีรายงานว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บาวบับยักษ์หลายต้นที่มีอายุนับพันปีพากันยืนต้นตายอย่างน่าฉงน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนและความแห้งแล้ง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เราคือส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพแวดล้อมของโลกนี้เปลี่ยนแปรไปในทางเลวร้าย พืชสัตว์มากมายล้มตายเพราะการใช้ชีวิตอันสุขสมของพวกเรา หันมาช่วยกันสักนิดเถอะครับ ทำร้ายธรรมชาติให้น้อยลง เพื่อวันข้างหน้าของเราที่ทุกเผ่าพันธุ์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข.
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน
โดย : ปุณณ์