ณ ปัจจุบันถือเป็นความสำเร็จอย่างสูงของคณะพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย–เนปาล ที่มีพระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย เป็นหัวหน้าคณะ
เพราะชาวพุทธจากประเทศไทยเดินทางเข้าสู่สังเวชนียสถาน 4ตำบล บนแผ่นดิน อินเดีย–เนปาล ไม่ขาดสาย และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการไปบรรพชา อุปสมบท และการไปปฏิบัติธรรม
ไม่เว้นแม้จะเป็นช่วงฤดูร้อนที่อินเดียซึ่งมีสภาพอากาศร้อนจัด ในอดีตมักจะไม่มีผู้เดินทางไป แต่จากกิจกรรมอันหลากหลายส่งผลให้วันนี้ได้เห็นชาวพุทธไทยไปปฏิบัติธรรมกันตลอดทั้งปี
...
สถานที่สำคัญ ที่ทุกคนไปแล้วต้องไปให้ถึงได้แก่ “ลุมพินีวัน”แผ่นดินแห่งการประสูติ, “พุทธคยา” แผ่นดินแห่งการตรัสรู้, “สารนาถ” แผ่นดินแห่งการปฐมเทศนา และ “กุสินารา” แผ่นดินแห่งการปรินิพพาน
สำหรับ แผ่นดินแห่งการปรินิพพาน ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญสูงสุดหนึ่งใน 4 สังเวชนียสถาน อยู่ใน เมืองกุสินารา จังหวัดกุศินาคาร์รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
โดยกึ่งกลางระหว่าง สาลวโนทยา สถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับ มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ในเมืองกุสินารานั้นเป็นที่ตั้งของ “วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์”
...
ปัจจุบัน พระธรรมโพธิวงศ์ มอบหมายให้ พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ (สมพงศ์) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลภายในวัดทุกด้าน ทั้งการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์-ผู้ไปแสวงบุญ รวมไปถึงการผูกสัมพันธ์กับคณะสงฆ์นานาชาติ และชาวอินเดียท้องถิ่น
วัดไทยกุสินาราฯ ถือเป็นวัดที่สำคัญยิ่งวัดหนึ่งของปวงชนชาวไทยบนแผ่นดินพุทธภูมิ สิ่งก่อสร้างภายในวัดทั้งพระอุโบสถ สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ที่พัก ที่อำนวยความสะดวกทั้งพระสงฆ์และผู้แสวงบุญ ล้วนแต่สร้างด้วยศิลปะที่แสดงถึงความเป็นไทยในต่างแดนอย่างแท้จริง
ที่สำคัญใน วัดไทยกุสินาราฯ ยังมี “พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา” เป็น พระมหาเจดีย์พระพุทธศาสนา ที่ได้สร้างขึ้นที่เมืองกุสินารา ด้วยพระราชศรัทธาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ผู้ทรงประกอบด้วยพระราชศรัทธาอย่างยิ่ง
...
ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระมหาเจดีย์นี้ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบูรพมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่จารึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้ในแดนพุทธภูมิ
พร้อมการโปรดเกล้าฯพระราชทานแบบแปลนพระมหาเจดีย์ที่สร้างขึ้นนี้มีขนาดกว้าง 9.73 เมตร ยาว 9.73 เมตร พระมหาเจดีย์ 9ยอดเจดีย์องค์ประธานสูง 19 เมตร มีเรือนซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 9 รัชกาล
...
ออกแบบเบื้องต้นโดย อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี)
พระมหาธาตุเจดีย์ องค์นี้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมประสมประสานลักษณะเด่นของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยนับแต่ สมัยสุโขทัย ลงมา จวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
โดยมีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ส่วนปลายยอดเป็นฉัตรโลหะหล่อ 9 ชั้น ล้อมรอบด้วยเจดีย์ขนาดเล็กบนมุขหลังคาซุ้มพระ8ยอด รวมเป็นพระเจดีย์เก้ายอด องค์ระฆังของเจดีย์ทั้งเก้ายอดประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งหมด
พระมหาธาตุองค์นี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางด้าน ศิลปะสถาปัตยกรรมไทย โดยในขั้นตอนการออกแบบนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยในการเลือกแบบเจดีย์จากแบบร่างที่สถาปนิกได้ทูลเกล้าฯถวาย และได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเพิ่มเติมเป็นลำดับ
ตั้งแต่เริ่มการออกแบบกระทั่งมีการพัฒนามาเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์เป็นที่พอพระราชหฤหัย สมดังพระราชดำรัสที่ทรงมีกับผู้ออกแบบว่า “เจดีย์ของฉัน” พร้อมพระราชทานลายพระหัตถ์ปรับแก้ไขขนาดเรือนธาตุยอดกลางให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
โครงสร้างพระมหาธาตุแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง เป็นส่วนที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเส้นพระเจ้า (เส้นผม) ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงผนวช ประกอบเครื่องบูชาซึ่งจะอยู่ในแกนกลางพระมหาเจดีย์
ส่วนที่สอง คือ พื้นที่ใช้งานของพุทธบริษัท ซึ่งมีพื้นที่ส่วนที่มีหลังคาคลุม สามารถปฏิบัติบูชาสักการะ แม้ในขณะเวลากลางวันที่มีอากาศค่อนข้างร้อน และพื้นที่ส่วนเปิดโล่งรอบนอกที่ใช้เป็นลานประทักษิณเมื่อมีคนจำนวนมาก
เมื่อได้พระราชทานแบบแปลนพระมหาเจดีย์แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 5,050,000 บาท เป็นกองทุนปฐมฤกษ์ในการก่อสร้าง พร้อมพระราชทาน พระบรมสารีริกธาตุ และ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อฉัตรทองคำ 9 ชั้น และ ทรงเจิมฉัตรจำลอง เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ที่ยอดพระมหาเจดีย์
พุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก ต่างปีติที่ได้มากราบไหว้ และร่วมประกอบพิธีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ณ พระมหาเจดีย์ แห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้มีบางส่วนของพระมหาธาตุเจดีย์เริ่มมีการชำรุดบ้างไปตามกาลเวลา และเพื่อให้พระมหาธาตุเจดีย์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อจิตวิญญาณของชาวไทยนี้คงอยู่อย่างสง่างามไปตราบชั่วนิรันดร์
พระธรรมโพธิวงศ์ จึงมอบหมายให้ พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมทุกจุดที่เริ่มชำรุด โดยเฉพาะกระเบื้องมุงหลังคา จำนวน 22,831 แผ่น ให้เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
การบูรณะซ่อมแซมซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรอนุโมทนายิ่งครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นข่าวดีที่เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนร่วมสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่บนแผ่นดินแห่งการปรินิพพาน มายังพุทธศาสนิกชนทุกท่านให้ได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมทำนุบำรุงพระมหาธาตุเจดีย์นี้
โดยสอบถามข้อมูลไปได้ที่ พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ (สมพงศ์) โทรศัพท์ประเทศอินเดีย (91) 900 500 7063/(91) 900 500 7064/(91) 900 500 7032 LINE ID พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ (สมพงศ์) : phutawan980 กองงานเลขาฯ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ : kusinara980
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.
เด่นชัย เด่นชัยประดิษฐ์ รายงาน