พระคัมภีร์ไบเบิลบทปฐมกาล 11 (Genesis 11) ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เหตุใดโลกของเราจึงได้มีภาษามากมายหลายหลากจนทำ ให้ยากในการติดต่อสื่อสารถึงเพียงนี้ และคำตอบนั้นก็คือ แรกเริ่มเดิมทีมนุษย์เราพูดจาภาษาเดียวกันทั้งหมด และได้พยายามที่จะสร้างสิ่งปลูกสร้างที่สูงเทียมฟ้าขึ้นมาในนครแห่งหนึ่ง เมื่อมนุษย์สื่อสารด้วยภาษาเดียวกันจึงทำให้พวกเขาเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี มนุษย์จึงสามารถทำได้ทุกสิ่งที่ต้องการ เมื่อพระเจ้าเห็นดังนั้นจึงเข้ามาแทรกแซงด้วยการทำให้มนุษย์พูดกันคนละภาษาเสียเลย ในที่สุดมนุษย์ทั้งหลายก็กระจัดกระจายออกไปทั่วแผ่นดินและเลิกล้มความตั้งใจที่จะสร้างเมืองและสิ่งปลูกสร้างสูงเทียมฟ้าไปสิ้น

นั่นจึงทำให้เมืองที่เป็นต้นกำเนิดของเรื่องนี้ได้รับการเรียกขานว่า บาเบล (Babel) เนื่องจากคำนี้เป็นคำในภาษาฮีบรูที่มีความหมายว่า ความสับสน (Confusion) และนี่ก็คือปฐมบทของตำนานแห่งหอคอยบาเบล (Tower of Babel) ที่คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน นำมาคุยกันในครั้งนี้ครับ

คำถามสำคัญของนักโบราณคดีก็คือ หอคอยบาเบลที่ปรากฏในบทปฐมกาล 11 นั้นจะเคยมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีมันจะเคยตั้งอยู่ที่ใดในอดีต และหอคอยนี้จะสร้างไม่เสร็จเพราะมนุษย์ถูกสาปให้พูดกันหลากหลายภาษานั้นจริงแท้แค่ไหนกัน

พระคัมภีร์บทปฐมกาล 11 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเอาไว้ว่า เมืองที่ชื่อว่าบาเบลนี้อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า ชินาร์ (Shinar) ซึ่งเป็นคำเรียกโดยทั่วไปของดินแดนเมโสโปเตเมีย หรืออารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส แต่ถ้าลองพิจารณาพระคัมภีร์ไบเบิลดูอย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะพบว่า คำว่า “ชินาร์” ปรากฏในพระคัมภีร์บทอื่นๆอีกหลายครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่ชี้ไปหาเมืองที่รู้จักกันในชื่อว่า บาบิโลน (Babylon) ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำยูเฟรติสทางตอนกลางของประเทศอิรักในปัจจุบันทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถตีวงของบริเวณที่หอคอยบาเบลเคยถูกสร้างเอาไว้จนแคบเข้ามาอยู่ที่เมืองบาบิโลนได้แล้ว

...

ภาพจำลองของวิหารอีเตเมนอันกิ.
ภาพจำลองของวิหารอีเตเมนอันกิ.

คำถามต่อไปก็คือ หอคอยที่ว่านี้มันอยู่ตรงไหนกันล่ะ?

ถ้าโฟกัสที่เมืองบาบิโลนซึ่งรุ่งเรืองตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าฮัมมูราบี (Hammurabi) เมื่อประมาณ 1,800 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว นักโบราณคดีพบว่ามีอาคารอยู่แห่งหนึ่งที่เข้าเค้าว่าอาจจะเป็นหอคอยบาเบลในตำนาน ถึงแม้ว่าหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันจะมีเพียงแค่ฐานรากของอาคาร แต่เมื่อได้วัดขนาดแล้วพบว่ามีความใกล้เคียงกับข้อมูลที่บันทึกไว้โดยชาวเมโสโปเตเมียเองเป็นอย่างมาก และอาคารที่ว่านั้นก็คือ ซิกกูแรต (Ziggurat) ที่ได้รับชื่อเรียกว่า อี-เตเมน-อันกิ (Etemenanki) ซึ่งหมายความว่า “บ้านแห่งรากฐานของสวรรค์บนพื้นโลก” นั่นเองครับ

ถ้าพีระมิดคือสัญลักษณ์ของชาวอียิปต์โบราณ ซิกกูแรตก็คือสัญลักษณ์ของชาวเมโสโปเตเมีย รูปลักษณ์ของซิกกูแรตก็มีความคล้ายคลึงกับพีระมิดขั้นบันได ด้วยว่ามีฐานเป็นสี่เหลี่ยม แบ่งออกเป็นหลายชั้นซ้อนกัน บ้างก็สูงขึ้นไปถึง 7 ชั้น บ้างก็เสนอว่าแต่ละชั้นลงสีเอาไว้แตกต่างกันด้วย ส่วนชั้นบนสุดเป็นวิหารสำหรับบูชาเทพเจ้า ดังนั้น หน้าที่ของซิกกูแรตจึงแตกต่างจากพีระมิดของอียิปต์โดยสิ้นเชิง ด้วยว่าพีระมิดนั้นคือสุสาน แต่ซิกกูแรตทำหน้าที่เป็นวิหารนั่นเอง

ซิกกูแรตแห่งเมโสโปเตเมียที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และยังคงหลงเหลือหลักฐานมาให้เห็นถึงปัจจุบันก็คือ มหาซิกกูแรตแห่งอูร์ (Great Ziggurat of Ur) ที่เมืองอูร์ในประเทศอิรัก ซึ่งสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพเจ้านันนา (Nanna) ในรัชสมัยของกษัตริย์อูร์-นัมมู (Ur-Nammu) เมื่อประมาณ 2,100 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนซิกกูแรตอีเตเมนอันกิในเมืองบาบิโลนนั้นก็สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ก็คือต้องการให้เป็นวิหารที่อุทิศแด่เทพเจ้ามาร์ดุค (Marduk) ซึ่งเป็นเทพอุปถัมภ์หลักของนครบาบิโลน

ภาพจำลองของหอคอยบาเบลในพระคัมภีร์ไบเบิล.
ภาพจำลองของหอคอยบาเบลในพระคัมภีร์ไบเบิล.

และถ้าว่ากันตามตำนานแล้ว ชาวบาบิโลนต้องการสร้างให้อีเตเมนอันกิเป็นเสมือน “บันได” ที่พวกเขาจะใช้ “ปีน” ขึ้นไปหาเทพเจ้า ดังนั้น ตำแหน่งในการสร้างจึงอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของจักรวาลตามความเชื่อของชาวบาบิโลเนีย ซึ่งเป็นจุดที่พวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้ามาร์ดุคสร้างโลกขึ้นมา พื้นที่บริเวณนี้จึงเปรียบเสมือนตำแหน่งอันศักดิ์สิทธิ์ที่ซึ่งสวรรค์และโลกเชื่อมต่อถึงกัน และอีเตเมนอันกิก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้ครับ คือทำหน้าที่เป็นบันไดที่สูงพอให้ชาวบาบิโลเนียสามารถขึ้นไปติดต่อกับเทพเจ้าได้นั่นเอง

...

นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานของซิกกูแรตในเมโสโปเตเมียจำนวน 19 แห่งจาก 16 เมือง และอีเตเมนอันกิก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในซิกกูแรตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาในดินแดนเมโสโปเตเมีย ถ้าว่ากันตามตำนานการสร้างโลกที่ชื่อ อีนูมา อีลิช (Enûma Eliš) ของชาวบาบิโลเนียแล้ว พวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้ามาร์ดุคได้ปกป้องเทพเจ้าองค์อื่นๆจากความโหดร้ายของสัตว์ประหลาดในตำนานของเมโสโปเตเมียที่มีชื่อว่า ทีอามัต (Tiamat) หลังจากที่มาร์ดุคสังหารทีอามัตลงไปได้แล้ว พระองค์ได้นำพาความสงบสุขและระเบียบกลับคืนมาสู่จักรวาลอีกครั้ง

ตำนานเล่าว่า เทพเจ้ามาร์ดุคได้สร้างวิหาร อีซากิลา (Esagila) ขึ้นมา ณ ตำแหน่งอันเป็นศูนย์กลางของโลก และสร้างมนุษยชาติตามมาในภายหลัง แต่ในตอนนี้อย่าเพิ่งสับสนกันนะครับระหว่าง “อีซากิลา” กับ “อีเตเมนอันกิ” สองชื่อนี้เป็นอาคารคนละแห่งที่สร้างขึ้นติดกัน จากแผนผังของนครแสดงให้เห็นว่า อีเตเมนอันกิสร้างอยู่ทางด้านทิศเหนือของอีซากิลา ห่างออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น อีเตเมนอันกิจึงยังถือว่าสร้างอยู่ ณ ตำแหน่งแกนกลางของจักรวาลที่เทพเจ้ามาร์ดุครังสรรค์มนุษยชาติขึ้นมาเช่นกัน เป็นไปได้ว่าตำนานนี้แสดงให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงระหว่างเรื่องเล่าของชาวเมโสโปเตเมียกับเนื้อหาที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล และความสอดคล้องที่ว่านั้นก็คือ ทั้งหอคอยบาเบลและอีเต-เมนอันกิล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นหอคอยที่จะสูงขึ้นไปถึงสวรรค์นั่นเองครับ

หนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญที่กล่าวถึงอีเตเมน–อันกิก็คือ แผ่นจารึกอักขระคูนิฟอร์ม หรืออักษรลิ่มที่ค้นพบจากเมืองอูรุค (Uruk) ในประเทศอิรัก ซึ่งน่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงประมาณ 229 ปีก่อนคริสตกาล ข้อมูลบนแผ่นจารึกบอกเราว่า อีเตเมนอันกิคือหอคอยสูง 7 ชั้น มีความสูง 91 เมตร และมีขนาดฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 91 เมตรเช่นกัน และเมื่อนักโบราณคดีลองวัดขนาดของอาคารในเมืองบาบิโลนที่เสนอกันว่าอาจจะเป็นซิกกูแรตอีเตเมนอันกิก็พบว่ามันมีขนาดใกล้เคียงกับข้อมูลในแผ่นจารึกเสียด้วย เพราะตัวเลขที่วัดได้อยู่ที่ 91.48×91.66 ตารางเมตร แถมยังค้นพบฐานของบันไดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของอาคาร ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอีเตเมนอันกิกับวิหารอีซากิลาของเทพเจ้ามาร์ดุคอีกด้วย

...

ภาพจากจินตนาการถึงหอคอยบาเบล.
ภาพจากจินตนาการถึงหอคอยบาเบล.

แต่จารึกคูนิฟอร์มชิ้นนี้ก็ไม่ใช่หลักฐานแรกสุดที่กล่าวถึงอีเตเมนอันกิหรอกครับ นักโบราณคดีทราบว่าอีเต–เมนอันกิปรากฏเป็นครั้งแรกในจารึกของกษัตริย์ชาวอัสซีเรีย (Assyria) พระนามว่า เซนนาเชริบ (Sennacherib) ซึ่งพระองค์ได้บันทึกเอาไว้ว่า ได้บุกเข้ามาทำลายวิหารของชาวบาบิโลเนียเมื่อประมาณ 689 ปีก่อนคริสตกาล

จากบันทึกนี้ทำให้ทราบว่า ซิกกูแรตซึ่งเข้าเค้าว่าจะเป็นหอคอยบาเบลมากที่สุดน่าจะสร้างขึ้นมาก่อนหน้าสมัยของเซนนาเชริบระยะหนึ่งแล้ว เพียงแค่ว่ายังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามันถูกรังสรรค์ขึ้นมาเมื่อไรกันแน่ หลังจากนั้นเป็นต้นมา อีเตเมน–อันกิก็ถูกบูรณะอีกครั้งขนานใหญ่ โดยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II) ผู้สร้างสวนลอยแห่งบาบิโลนอันโด่งดัง พระองค์ครองราชย์อยู่ในช่วงประมาณ 605 ปีก่อนคริสตกาล และศิลาจารึกที่สลักขึ้นในสมัยของพระองค์ก็ได้ให้ข้อมูลที่น่าทึ่งเกี่ยวกับซิกกูแรตอีเต–เมนอันกิเอาไว้ด้วยครับ

...

ศิลาแผ่นนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ศิลาแห่งหอคอยบาเบล (Tower of Babel Stele) มันเป็นศิลาสลักจากหินสีดำ ค้นพบจากนครบาบิโลน อายุประมาณ 604 ถึง 562 ปีก่อนคริสตกาล ภาพสลักบนศิลาแสดง พระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 ถือไม้เท้าด้วยมือซ้ายและถือแบบแปลนซึ่งอยู่ในม้วนคัมภีร์ด้วยมือขวา ภาพสลักบนศิลาของจริงค่อนข้างเลือนรางไปมากแล้ว แต่นักโบราณคดีก็ยังสามารถจำลองภาพออกมาได้ว่า เดิมทีมันเคยปรากฏภาพของ “ซิกกูแรต 7 ชั้น” พร้อมด้วย “แผนผัง” ของห้องบูชาชั้นบนสุด แถมยังมีอักษรลิ่มสลักเอาไว้ ถอดความบางส่วนออกมาได้ว่า

ศิลาแห่งหอคอยบาเบล ในปัจจุบันแทบมองไม่เห็นภาพที่สลักเอาไว้.
ศิลาแห่งหอคอยบาเบล ในปัจจุบันแทบมองไม่เห็นภาพที่สลักเอาไว้.


“เนบูคัดเนซซาร์ กษัตริย์แห่งบาบิโลน ข้าได้บูรณะวิหารอีเตเมนอันกิและวิหารอีอูร์เมอีมินอันกิ (E-ur-me-imin-anki) จนสมบูรณ์ ข้าได้ระดมแรงงานมาจากทั่วทุกสารทิศ จากเมดิเตอร์เรเนียนจดอ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งกษัตริย์จากชนชาติที่มาจากเทือกเขาและหมู่เกาะอันไกลโพ้น ข้าก่อสร้างรากฐานของอาคารด้วยระเบียงทรงสูง ข้ารังสรรค์โครงสร้างอาคารด้วยก้อนอิฐและน้ำมันดินจนถ้วนทั่ว ข้าสร้างมันจนสมบูรณ์ ยอดของมันสูงเทียมฟ้าและส่องแสงสว่างวาบดุจดวงสุริยา”

ถ้าข้อความที่ปรากฏบนศิลานี้เคยเกิดขึ้นจริงในรัชสมัยของพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 ก็หมายความว่า ผู้ที่ร่วมบูรณะซิกกูแรตทั้งสองแห่งนั้นมาจากหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายชนเผ่า บอกเป็นนัยว่า “ภาษา” ของพวกเขาต้องแตกต่างกัน ด้วยว่าพระองค์เล่นเกณฑ์คนมาจากทั่วทุกสารทิศ จึงมีความเป็นไปได้สูงเลยครับที่แรงงานกว่าหนึ่งหมื่นคนที่เข้ามาทำงานนี้จะคุยกันไม่รู้เรื่อง กลายเป็นความสับสนงุนงงตลอดระยะเวลาร่วม 43 ปี ของการบูรณะวิหารให้เสร็จสมบูรณ์

นอกจากนี้ ในช่วงรัชสมัยการปกครองของพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 นั้น พระองค์ได้บุกเข้าโจมตีกรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) เมื่อ 586 ปีก่อนคริสตกาล และได้จับเชลยศึกชาวยิวจำนวนมากกลับมายังบาบิโลนด้วย ลองคิดตามสิครับว่า ถ้าชาวยิวกลุ่มนั้นได้พบเห็นความสับสนวุ่นวายตลอดหลายปีของการบูรณะอีเตเมนอันกิจากกลุ่มชนหลากภาษา และเมื่อพวกเขาถูกปล่อยตัวกลับไปยังบ้านเกิดในช่วงการปกครองของพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) เมื่อประมาณ 539 ปีก่อนคริสตกาล แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

ภาพที่จำลองออกมาจากส่วนบนของศิลาแห่งหอคอยบาเบล.
ภาพที่จำลองออกมาจากส่วนบนของศิลาแห่งหอคอยบาเบล.

ใช่ครับ นักวิชาการเสนอว่ามันมีความเป็น ไปได้ที่ชาวยิวกลุ่มนี้จะนำเอาประสบการณ์ที่พวกเขาได้พบเห็นไปดัดแปลงเป็นตำนานการสร้างหอคอยบาเบลที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลบทปฐมกาล 11 ยังไงล่ะครับ

สมมติฐานนี้ถือว่ามีความเป็นไปได้สูงทีเดียว เพียงแค่ว่าข้อเท็จจริงก็คือพระเจ้าไม่ได้เป็นผู้สาปให้ภาษาของมนุษย์มีมากมายหลายหลากจนคุยกันไม่รู้เรื่องหรอกครับ แต่เป็นเพราะว่ามนุษย์เหล่านั้นถูกเกณฑ์มาจากดินแดนต่างๆทั่วเมโสโปเตเมียที่พูดคุยกันด้วยภาษาที่แตกต่างกันอยู่แล้วก็เท่านั้นเอง

หอคอยบาเบลจะมีจริงหรือไม่นั้นก็ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้อย่างแน่ชัด แต่จากหลักฐานที่ค้นพบในตอนนี้และสมมติฐานที่นักวิชาการเสนอกัน ก็ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้สูงเลยทีเดียวล่ะครับว่า หอคอยบาเบลในพระคัมภีร์ไบเบิลนั้นก็คงจะเป็นซิกกูแรต “อีเตเมนอันกิ” ของเทพเจ้ามาร์ดุคในนครบาบิโลนนี่เอง.

โดย :ณัฐพล เดชขจร
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน