มีกระแสหนาหูว่า เดี๋ยวนี้ใครที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ และช็อปปิ้งซื้อของต่างๆ หิ้วกลับมาเมืองไทย จะต้องผ่านการตรวจสินค้าเข้มงวดขึ้น และเสียภาษีอย่างถูกต้อง ก่อนออกนอกประเทศต้องแสดงของมีค่าด้วย
ล่าสุดในโลกโซเชียลก็มีการแชร์ข้อความรัวๆ ว่า “ศุลกากรตรวจเข้ม แบกกล้อง-โน้ตบุ๊กต้องแจ้ง ของดิวตี้ฟรีกลับไทยต้องจ่ายอากร” แบบนี้ขาเที่ยวขาช็อปทั้งหลายมีร้อนๆ หนาวๆ แน่นอน แล้วต้องทำยังไงล่ะ ถึงจะซื้อของฝากหิ้วกลับไทยได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวภาษี
ไทยรัฐออนไลน์ มีคู่มือ ข้อควรรู้ ข้อปฏิบัติ สำหรับการช็อปปิ้งซื้อของใช้ส่วนตัว และการซื้อของฝากแล้วหิ้วกลับไทย มาฝากกัน
1. กรมศุลฯ ออกประกาศใหม่ 2 ฉบับ
จากประเด็นที่ระบุว่า อธิบดีกรมศุลฯ ออกประกาศใหม่ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 59/2561 และ 60/2561 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจคน-สัมภาระ สำหรับเที่ยวบินต่อเครื่องไปต่างประเทศ, อีกฉบับให้เข้าตรวจสอบเข้มงวด ของติดตัวผู้โดยสารไปเมืองนอก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “โน้ตบุ๊ก-กล้อง ต้องแจ้งทุกครั้ง” ดังนั้น ขาเที่ยวทั้งหลาย จากนี้ไปต้องปฏิบัติตัว ดังนี้
กรณีที่คุณจะเดินทางออกนอกประเทศ หากจะนำของมีค่าติดตัวออกไปด้วย เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ซึ่งมีเครื่องหมาย เลขหมายที่สามารถตรวจสอบได้ คุณจะต้องนำของนั้น ไปแจ้งต่อพนักงานศุลกากร ณ ห้องที่ทำการศุลกากรบริเวณห้องผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ
...
2. สินค้าดิวตี้ฟรี ถ้านำกลับมาต้องจ่ายภาษี
มีข้อมูลสำคัญอีกอย่าง จากประกาศฉบับใหม่ ที่ระบุว่า “ของดิวตี้ฟรี ซื้อแล้วต้องใช้เมืองนอก ถ้านำกลับเข้าประเทศต้องจ่ายอากร ดังนั้น ขาช็อปทั้งหลาย จากนี้ไปต้องปฏิบัติตัว ดังนี้
กรณีที่คุณซื้อเครื่องสำอาง น้ำหอม ครีมต่างๆ จากดิวตี้ฟรีในสนามบินเมืองไทย ก่อนบินไปเมืองนอก พอถึงต่างประเทศแล้วจะต้องแกะออกมาใช้นะจ๊ะ (เอาไปใช้ต่างประเทศเท่านั้น) ไม่นำกลับเข้ามาในไทยอีก ถ้าเอากลับไทยจะต้อง Declare ช่องแดง พร้อมกับชำระอากร VAT สรรพสามิต (ถ้ามี)
พูดง่ายๆ ว่า ถ้าคุณนำกลับมาในสภาพเดิมที่ยังไม่แกะใช้ พอขากลับ ขาเข้าประเทศไทย แล้วไม่เอาของใช้ชิ้นนั้นๆ ไปชำระภาษี แล้วหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเจอ คุณจะถูกปรับและอาจถูกริบของได้
3. ของใช้ส่วนตัว ห้ามเกิน 20,000 บาท
สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย เวลาไปเที่ยวเมืองนอกแล้วอยากซื้อของ ซื้อสินค้า เพื่อมาใช้เอง มีข้อควรระวังว่า สินค้าหรือของใช้ต่างๆ ที่จะติดตัวขาเข้าประเทศไทย รวมกันแล้วห้ามมีมูลค่าเกิน 20,000 บาท ถ้าไม่เกินสองหมื่นก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกินสองหมื่นก็จะต้องจ่ายค่าภาษีอากร ตอนขากลับเข้าเมืองไทย
4. การซื้อของฝาก ทำยังไง?
มีข้อมูลระบุว่า สิ่งของที่ไม่ต้องเสียภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้า ต้องเป็นสินค้าที่นำมาใช้เองและไม่มากกว่า 1 ชิ้น ส่วนของฝาก ถือว่าเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษี ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น จะซื้อของฝากใครก็ต้องคิดให้ดี ถ้าเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจเจอ ก็จะต้องโดนเรียกเก็บภาษี
ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่น่าสนใจ มีนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวเมืองจีน แล้วซื้อกาน้ำชากลับไปฝากญาติผู้ใหญ่ จำนวน 8 ใบ และราคารวมกันแล้วไม่ถึง 10,000 บาท ด้วยซ้ำ
พอเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจ แล้วเจอของฝากจำนวนนั้น เจ้าหน้าที่จะมองว่ามันคล้ายกับการซื้อเพื่อจำหน่าย แม้ว่านักท่องเที่ยวจะชี้แจงว่าซื้อมาฝากที่บ้านก็ตาม เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงต้องมีการเปรียบเทียบปรับไปตามระเบียบ
5. ซื้อของฝากเป็นขนม ปลอดภัยที่สุด
ข้อแนะนำสำหรับการซื้อของฝาก เวลาขาเที่ยวชาวไทยไปเที่ยวเมืองนอกแล้วอยากช็อปปิ้งซื้อของกลับมาฝากเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้อง จะบอกว่า การซื้อของฝากเป็นพวกขนมเล็กๆ น้อยๆ จะปลอดภัยที่สุด
...
ส่วนใครที่เวลาไปเมืองนอก แล้วเพื่อนชอบฝากซื้อเครื่องสำอางทีเดียวหลายคน รวมกันมันก็เยอะ แบบนี้ถ้าหิ้วกลับมาเมืองไทย ถ้าเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจเจอ ก็โดนภาษีอ่วมเหมือนกัน ดังนั้นจะรับฝากซื้อให้เพื่อนก็ต้องคิดดีๆ ก่อนรับฝากนะจ๊ะ
6. ข้อควรทราบ และข้อปฏิบัติตัวอื่นๆ
ที่ผ่านมา กรมศุลกากรแจ้งให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ได้ทราบถึงข้อปฏิบัติด้านพิธีการทางศุลกากร เพื่อจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องก่อนนำของเข้าประเทศ และเตือนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านช่องตรวจเขียว–แดงให้ถูกต้อง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ
โดยแบ่งช่องตรวจศุลกากรออกเป็น 2 ช่อง คือ
1) ช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (Nothing to Declare) หรือ ช่องตรวจเขียว สำหรับผู้โดยสารที่ไม่มีของต้องเสียภาษีอากร หมายถึงของที่ละเว้นการเสียภาษีอากร ได้แก่
- ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมิใช่ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือ เสบียงอาหาร และต้องเป็นของที่ไม่มีลักษณะเป็นสินค้าในเชิงการค้า
- ของใช้ส่วนตัวหรือใช้ในวิชาชีพที่ซื้อจากร้านปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท
- ของใช้ในบ้านเรือนที่ผู้เดินทางเข้ามาในประเทศเนื่องจากย้ายภูมิลำเนา โดยซื้อจากร้านค้าปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มูลค่ารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท
- บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือยาสูบ ไม่เกิน 250 กรัม หรือรวมกันไม่เกิน 250 กรัม
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตรไม่เกิน 1 ลิตร เป็นต้น
...
2) ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง (Goods to Declare) หรือ ช่องตรวจแดง สำหรับผู้โดยสารที่มีของต้องเสียภาษีอากร
- ของต้องห้าม ได้แก่ สารเสพติด วัตถุ หรือ สื่อลามก ของเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ของละเมิดลิขสิทธ์และทรัพย์สินทางปัญญา ธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์ปลอม และสัตว์ ป่าสงวน
- ของต้องกำกัด ของที่ต้องควบคุมการนำเข้าและส่งออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อน หรือไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้นต้องเสียภาษีอากรหรือไม่
- ของที่ต้องชำระภาษีอากร คือ ของที่ผู้โดยสารนำเข้ามามีปริมาณเกินกว่าที่จะใช้สำหรับส่วนตน และ/หรือ มีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท สิ่งของที่นำมาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์ หรือทางการค้า หรือมีลักษณะทางการค้า
7. การสุ่มตรวจ/บทลงโทษของผู้ที่ฝ่าฝืน
กรมศุลกากรจะเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศ โดยมิได้ทำการตรวจสัมภาระของผู้โดยสารทุกคน แต่จะสุ่มตรวจด้วยเครื่อง X-Ray ตามหลักมาตรฐานสากล
ฉะนั้นการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพิธีการทางศุลกากร จึงถือเป็นหน้าที่ที่ผู้โดยสารทุกคนควรตระหนัก และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
การมีของที่ต้องสำแดง แต่หลีกเลี่ยงไม่สำแดงขณะผ่านจุดตรวจ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบจะถือเป็นความผิดโดยการปรับ 4 เท่าของมูลค่าของบวกค่าภาษีและอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรจะถูกริบเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากรทันที
ที่มา : DekaPasi, dplusguide, เด็กน้อยบินเดี่ยว
...
แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยงลองหาคูปองเจ๋ง ๆ ตามร้านค้าออนไลน์ดัง ๆ แล้วนั่งช้อปที่ไทยก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน