พื้นที่ในร่มขนาดมหึมาได้รับการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมที่สุดสำหรับปลูกผักกาดหอมและผักใบเขียวอื่นๆ โรงเรือนกระจก 9 โรงของฟาร์มไซบีเรีย บี.วี. แต่ละโรงมีขนาด 6.25 ไร่ ให้ผลผลิตผักกาดหอมเทียบเท่ากับไร่กลางแจ้งขนาด 62 ไร่ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความจำเป็นในการใช้สารเคมีลงได้ถึงร้อยละ 97
ในไร่มันฝรั่งแห่งหนึ่งใกล้ชายแดนระหว่างเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียม ชาวไร่สัญชาติดัตช์ ยาคอบ ฟาน เดน บอร์น นั่งอยู่ใน “ห้องขับ” ของรถเก็บเกี่ยวคันมหึมา ตรงหน้ามีแผงควบคุมอุปกรณ์ที่ดูราวกับถอดแบบออกมาจากยานอวกาศ
จากที่นั่งของเขาเหนือพื้นดิน 3 เมตร ฟาน เดน บอร์นกำลังติดตามการทำงานของโดรนสองเครื่อง ซึ่งจะให้ข้อมูล การอ่านค่าเคมีของดิน ปริมาณน้ำ สารอาหาร และการเจริญเติบโตของพืชอย่างละเอียด โดยวัดพัฒนาการของพืชเป็นรายต้น ลงไปจนถึงมันฝรั่งแต่ละหัว ปริมาณผลิตผลของฟาน เดน บอร์นคือประจักษ์พยานถึงพลังของ “ระบบการเกษตรความแม่นยำสูง” (precision farming) ผลผลิตโดยเฉลี่ยของมันฝรั่งรวมทั่วโลกอยู่ที่ราว 20 ตันต่อไร่ ทว่าไร่ของฟาน เดน บอร์นผลิตได้มากกว่า 47 ตันต่อไร่
...
ปริมาณผลผลิตมหาศาลดังกล่าวยิ่งดูน่าทึ่งมากขึ้น นั่นคือ ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิต (input) ที่ใส่เข้าไป ย้อนหลังไปเกือบ 20 ปีก่อน ชาวดัตช์ทั่วประเทศเห็นพ้องต้องกันที่จะยึดวิถีเกษตรยั่งยืน ภายใต้คำขวัญรณรงค์ว่า “ผลิตอาหารให้ได้เพิ่มขึ้นสองเท่า โดยใช้ทรัพยากรเพียงครึ่งเดียว” นับจากปี 2000 เป็นต้นมา ฟาน เดน บอร์น กับเกษตรกรร่วมอาชีพอีกจำนวนมาก ลดการพึ่งพาน้ำในการปลูกพืชไร่สำคัญหลายชนิดลงได้มากถึงร้อยละ 90 พวกเขาสามารถกำจัดการใช้ยาฆ่าแมลงกับพืช ในโรงเพาะปลูกออกไปได้แทบทั้งหมด และนับจากปี 2009 เป็นต้นมา ผู้ผลิตสัตว์ปีกและปศุสัตว์ก็สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้มากถึงร้อยละ 60
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องทึ่งคือ เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรหนาแน่น โดยมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 500 คนต่อตารางกิโลเมตร และแทบไม่มีทรัพยากรทุกอย่างที่เชื่อกันมานานว่าจำเป็นต่อระบบเกษตรกรรมขนาดใหญ่ กระนั้น เนเธอร์แลนด์กลับเป็นผู้ส่งออกอาหารมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกเมื่อวัดจากมูลค่า โดยเป็นรองแต่เพียงสหรัฐฯ ซึ่งมีผืนดินมากกว่าถึง 270 เท่า ชาวดัตช์ทำเช่นนั้นได้อย่างไร
ถ้ามองจากเบื้องบน เนเธอร์แลนด์ดูไม่เหมือนประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่อื่นๆ เพราะประกอบไปด้วยพื้นที่เพาะปลูกหนาแน่นกระจัดกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นแปลงขนาดเล็กตามมาตรฐานธุรกิจการเกษตร สลับด้วยพื้นที่เขตเมืองอันคลาคล่ำและย่านชานเมือง ผืนดินมากกว่าครึ่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ใช้เพื่อกิจกรรมการเกษตรและการปลูกพืชสวน ทิวแถวของสิ่งที่ดูเหมือนแผงกระจกเงาขนาดใหญ่ยักษ์ทอดยาวไปตามเขตชนบท บานกระจกเหล่านี้คือหมู่อาคารเรือนกระจก (greenhouse) ไม่ธรรมดาของเนเธอร์แลนด์ บางแห่งกินพื้นที่ถึงกว่า 400 ไร่ นอกจากนี้ ชาวดัตช์เป็นผู้ส่งออกมันฝรั่งและหอมใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นผู้ส่งออกพืชผักโดยรวมเป็นอันดับสองในเชิงมูลค่า กว่าหนึ่งในสามของปริมาณการค้าเมล็ดพันธุ์ผักทั่วโลกมีแหล่งที่มาจากเนเธอร์แลนด์
คลังสมองที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขอันน่าทึ่งเหล่านี้รวมศูนย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยวาเคนิงเงิน หรือดับเบิลยูยูอาร์ (Wageningen University & Research: WUR) ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไป 80 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงอัมสเตอร์ดัม ดับเบิลยูยูอาร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะสถาบันวิจัยทางการเกษตรอันดับหนึ่งของโลก คือจุดศูนย์กลางของ ฟู้ดแวลลีย์หรือหุบเขาอาหาร (Food Valley) ภูมิภาคอันเป็นที่รวมของบริษัทสตาร์ตอัพทางเทคโนโลยีการเกษตรและฟาร์มทดลองต่างๆ
...
แอร์นสต์ ฟาน เดน เอนเดอ กรรมการผู้จัดการแผนกวิทยาศาสตร์พฤกษศาสตร์ของดับเบิลยูยูอาร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านโรคพืช แต่บอกว่า “ผมไม่ได้เป็นแค่คณบดีมหาวิทยาลัยนะครับ ครึ่งหนึ่งของตัวผมบริหารจัดการแผนกพฤกษศาสตร์ แต่อีกครึ่งหนึ่งกำกับดูแลหน่วยธุรกิจแตกต่างกันอีกเก้าหน่วยซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับจ้างทำวิจัยเชิงพาณิชย์” เขายืนยันว่า มีแต่ส่วนผสมนี้เท่านั้น ซึ่งได้แก่ “การขับเคลื่อนโดยวิทยาศาสตร์ที่ทำงานไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนทางการตลาดที่จะเอาชนะความท้าทายที่รออยู่ได้”
ความท้าทายที่ว่านั่นก็คือ โลกจะต้อง “ผลิตอาหารภายใน 40 ปีข้างหน้าให้ได้มากกว่าปริมาณที่ชาวไร่ชาวนาทุกคนในประวัติศาสตร์เก็บเกี่ยวได้ตลอด 8,000 ปีที่ผ่านมา”
เมื่อถึงปี 2050 โลกจะเป็นบ้านของผู้คนมากถึง 10,000 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 7,500 ล้านคนในปัจจุบัน หากการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในระดับมหาศาลไม่สัมฤทธิ์ผล เช่นเดียวกับการลดการใช้น้ำและเชื้อเพลิงฟอสซิลลงอย่างมาก ก็อาจมีผู้คนถึงหนึ่งพันล้านคนหรือมากกว่านั้นต้องเผชิญความอดอยาก ความหิวโหยอาจเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด และเหล่าผู้มีวิสัยทัศน์แห่งฟู้ดแวลลีย์ก็เชื่อว่า พวกเขาพบนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาแล้ว ฟาน เดน เอนเดอยืนยันว่า หนทางป้องกันมหันตภัยความอดอยากนั้นอยู่แค่เอื้อม การมองโลกในแง่ดีของเขาตั้งอยู่บนผลตอบรับจากโครงการดับเบิลยูยูอาร์มากกว่าหนึ่งพันโครงการในกว่า 140 ประเทศ และข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับรัฐบาล ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในหกทวีป ว่าด้วยการแบ่งปันความก้าวหน้าและการนำความก้าวหน้าเหล่านั้นไปใช้ร่วมกัน
...
การสนทนากับฟาน เดน เอนเดอ เต็มไปด้วยเรื่องของการระดมสมอง ตัวเลขสถิติ และการพยากรณ์ต่างๆ ปัญหาภัยแล้งในแอฟริกานะหรือ “น้ำไม่ใช่ปัญหาพื้นฐานครับ แต่เป็นดินไร้คุณภาพต่างหากครับ” เขาบอก “การขาดแคลนสารอาหารในดินสามารถนำไปหักลบได้ด้วยการปลูกพืชที่เติบโตแบบพึ่งพาอาศัยกันกับแบคทีเรียบางชนิดเพื่อผลิตปุ๋ยได้ด้วยตัวเอง” ราคาธัญพืชเลี้ยงสัตว์ที่พุ่งสูงขึ้นนะหรือ “เลี้ยงด้วยตั๊กแตนแทนเลยครับ” เขาบอก
การสนทนาดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนถึงหัวข้อการใช้แสงไฟแอลอีดีในการปลูกพืชได้ 24 ชั่วโมงในเรือนกระจกควบคุมภูมิอากาศ จากนั้นก็วกกลับมาเรื่องที่ผู้คนมักเข้าใจผิดว่า เกษตรกรรมแบบยั่งยืนหมายถึงระบบที่มนุษย์เข้าไปแทรกแซงธรรมชาติน้อยที่สุด
“ดูเกาะบาหลีเป็นตัวอย่างสิครับ!” เขาอุทาน เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งพันปีมาแล้วที่ชาวไร่ชาวนาบนเกาะบาหลี เลี้ยงเป็ดกับปลาภายในนาน้ำท่วมขังแปลงเดียวกันกับที่ใช้ปลูกข้าว ซึ่งเป็นระบบการผลิตอาหารแบบพึ่งพาตนเองโดยสมบูรณ์ ภายใต้การจัดสรรน้ำด้วยระบบคูคลองอันซับซ้อนตลอดแนวขั้นบันไดตามลาดเขาที่สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์
“นั่นละครับต้นแบบของความยั่งยืน” ฟาน เดน เอนเดอ บอก
เรื่อง : แฟรงก์ วิเวียโน
ภาพถ่าย : ลูกา โลกาเตลลี