งวงน้ำเค็มที่ห่อหุ้มด้วยน้ำแข็งเรียกว่า น้ำแข็งย้อยหรือนิ้วน้ำแข็ง (brinicle) รั่วออกมาจากน้ำแข็งทะเลบริเวณใกล้กับสถานีวิจัยดูมงดูร์วีล งวงน้ำแข็งย้อยซึ่งพบเห็นได้ยากและปรากฏขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ นี้ ก่อตัวขึ้นเมื่อน้ำเค็มเย็นจัดที่ถูกกักไว้เล็ดลอดจากแผ่นน้ำแข็ง แล้วทำให้น้ำทะเลที่เค็มน้อยกว่าแข็งตัว
ในตอนเช้า เมื่อเราเดินเท้าจากดูมงดูร์วีล ซึ่งเป็นสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศส บนชายฝั่งอะเดลีในแอนตาร์กติกาตะวันออกมาถึงจุดหมาย เราต้องกะเทาะชั้นน้ำแข็งบางๆ ที่ก่อตัวขึ้นปิดปากหลุมที่เราเจาะไว้เมื่อวันก่อน หลุมดังกล่าวเจาะลงไปจนทะลุชั้นแพน้ำแข็งหนาสามเมตร กว้างพอให้คนคนหนึ่งสอดตัวลงไปได้เท่านั้น และเบื้องล่างหลุมคือผืนทะเล เราไม่เคยลองดำน้ำลงทางปากหลุมแคบขนาดนี้มาก่อน และผมลงไปเป็นคนแรก
ผมแทรกตัวลงไปตามหลุมอย่างทุลักทุเล และเมื่อลงไปสู่ท้องน้ำเย็นเยียบเบื้องล่างได้ในที่สุด ผมก็หันกลับไปเห็นภาพที่ชวนให้ขนหัวลุก เมื่อปากหลุมเริ่มปิดตัวลงด้านหลังผม
...
พื้นผิวที่อยู่ใต้น้ำของน้ำแข็งทะเลมีลักษณะเป็นน้ำผสมเกล็ดน้ำแข็งข้นหนา และการทิ้งตัวลงไปของผมก็ทำให้มันเคลื่อนตัวและไหลไปรวมกันที่ปากหลุม กว่าผมจะสอดแขนข้างหนึ่งเข้าไปในน้ำแข็งเหลวข้นนี้ได้ มันก็ไหลมารวมกันจนหนาเกือบหนึ่งเมตรแล้ว ผมคว้าเชือกนิรภัยและดึงตัวเองขึ้นไปทีละเซนติเมตร แต่ไหล่ผมติดคาอยู่ แล้วจู่ๆ ผมก็ตกใจเมื่อหัวโดนกระแทกอย่างจัง เซดริก ชองตีล คู่หูดำน้ำคนหนึ่งของผม พยายามขุดผมออกจากหลุม พลั่วของเขาจึงกระแทกโดนกะโหลกผม ในที่สุด มือของใครคนหนึ่งก็คว้ามือผมไว้ แล้วดึงผมขึ้นไปจนพ้นปากหลุม การดำน้ำวันนี้สิ้นสุดลงแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในการดำ 32 เที่ยวเท่านั้น
ผมมาที่นี่พร้อมแวงซอง มูนีเยร์ ช่างภาพอีกคนหนึ่ง ตามคำเชื้อเชิญของลุก ชักเก นักสร้างภาพยนตร์ซึ่งกำลังถ่ายทำภาคต่อของภาพยนตร์สารคดีที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเมื่อปี 2005 เรื่อง เพนกวิน หัวใจจักรพรรดิ (March of the Penguins) ระหว่างที่ชักเกบันทึกเรื่องราวของเหล่าเพนกวินจักรพรรดิลงบนแผ่นฟิล์ม และมูนีเยร์ถ่ายภาพนิ่งของพวกมัน ทีมของผมจะบันทึกภาพชีวิตใต้น้ำแข็งทะเลเอาไว้
เราใช้เวลาเตรียมการในฝรั่งเศสนานถึงสองปี บนแผนที่ชายฝั่งอะเดลีที่ปักหมุดตรึงไว้บนผนังห้อง ผมเลือกจุดดำน้ำที่มีความลึกของพื้นท้องน้ำในระดับแตกต่างกันไว้หลายจุด และอยู่ภายในรัศมี 10 กิโลเมตรจากสถานีดูมงดูร์วีล อุณหภูมิของน้ำในบริเวณนั้นน่าจะอยู่ที่ลบ 1.8 องศาเซลเซียส (น้ำเค็มจะยังคงสภาพเป็นของเหลวที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำจืด) ถ้าไม่สวมชุดดรายสูท เราจะเสียชีวิตภายในเวลาแค่ 10 นาที แต่เมื่อมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ก้าวหน้าขึ้น เราอาจอยู่ใต้น้ำได้นานสุดถึงห้าชั่วโมง
การเตรียมการสำหรับลงดำน้ำในแต่ละวัน ใช้เวลานานพอๆ กัน จุดไหนที่เราไม่สามารถสอดตัวลงไปได้ทางหลุมที่พวกแมวน้ำเวดเดลล์ใช้ฟันอันขยันขันแข็งขุดเอาไว้ เราก็จะขุดของเราเองโดยใช้เครื่องเจาะน้ำแข็ง เมื่อใดที่แมวน้ำต้องการอากาศหายใจ พวกมันจะหาทางย้อนกลับมายังหลุมที่เจาะไว้ได้เสมอ เรื่องที่พวกเรากลัวกันที่สุดคือ การพลัดหลงและติดอยู่ใต้ผืนน้ำแข็ง เราจึงหย่อนเชือกสีเหลืองสะท้อนแสงลงไปในหลุมด้วยเส้นหนึ่ง แล้วลากติดตัวไปด้วยระหว่างดำน้ำ พอดำเสร็จก็สาวเชือกเส้นนั้นกลับขึ้นไป
ชุดดำน้ำของเรามีอยู่ด้วยกันสี่ชั้น ด้านในสุดเป็นชุดชั้นในนำความร้อน (thermal underwear) ถัดมาเป็นชุดเข้ารูปเต็มตัวที่ให้ความร้อนด้วยกระแสไฟฟ้า ตามด้วยชั้นขนแกะหนาๆ และปิดท้ายด้วยชุดยางนีโอพรีน (neoprene) กันน้ำที่หนากว่าหนึ่งเซนติเมตร นอกจากนี้เรายังต้องสวมหมวกคลุมศีรษะทับบนหมวกชั้นในอีกที รวมทั้งถุงมือกันน้ำบุซับในให้ความร้อน ตีนกบ และตะกั่วถ่วงน้ำหนัก 16 กิโลกรัม เราต้องพกแบตเตอรี่สองก้อนสำหรับใช้กับชุดเข้ารูปเต็มตัวที่ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า เครื่องฟอกหมุนเวียนอากาศ (rebreather) เพื่อใช้ฟอกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากลมหายใจออกของพวกเรา (ช่วยให้เราดำน้ำได้นานขึ้น) ถังอากาศสำรอง และสุดท้ายคืออุปกรณ์ถ่ายภาพของผม แค่ขั้นตอนสวมชุดดำน้ำก็กินเวลาหนึ่งชั่วโมงเข้าไปแล้ว และเราต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเอมมานูแอล บลองช์ แพทย์ฉุกเฉินของทีมอีกด้วย
...
ตอนที่พร้อมจะกลิ้งลงไปในน้ำเย็นยะเยือก พวกเราก็อยู่ในสภาพทั้งสวมใส่และแบกข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ ไว้คนละ 90 กิโลกรัม การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างยากลำบาก การว่ายน้ำยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ ความเย็นทำให้พื้นผิวกายไม่กี่ตารางเซนติเมตรตรงแก้มซึ่งไม่มีอะไรปกปิด เจ็บชาจนหมดความรู้สึกแทบจะในทันที และระหว่างที่เวลาดำน้ำจวนจะหมดลง ความเย็นก็ทะลุผ่านชุดดำน้ำกับถุงมือของเรา และกัดทำร้ายเรารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นความเจ็บปวดสุดจะทนทาน แต่เราก็กัดฟันทน ในช่วงท้ายของการดำน้ำ ขณะหยุดพักเพื่อปรับความดันระหว่างขาขึ้น เราต้องมองหาอะไรก็ตามที่จะมาช่วยดึงความสนใจไปจากความเจ็บปวดนั้น
ว่าแต่มีอะไรหรือที่คุ้มค่าพอจะแลกมาด้วยสิ่งนี้ อันดับแรกคือ แสง ภาพที่เห็นจะทำให้ช่างภาพไม่ว่าคนไหนก็ตาม รู้สึกลิงโลดใจ ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ หลังจากรัตติกาลอันยาวนานของขั้วโลกผ่านพ้นไป เมื่อเหล่าแพลงก์ตอนเล็กจิ๋วยังไม่เริ่มสะพรั่ง และยังไม่ทำให้น้ำขุ่น ผืนน้ำใต้แพน้ำแข็งจะใสกระจ่างมากเป็นพิเศษ เพราะมีอนุภาคต่างๆ ลอยอยู่น้อยมาก จนไม่ทำให้แสงฟุ้งกระจาย แสงน้อยนิดอันใดที่ปรากฏอยู่จะลอดผ่านลงมาทางรอยแยกหรือหลุมของแมวน้ำ เหมือนแสงจากไฟถนนทอดแสงเรื่อเรืองลงมากระทบภูมิทัศน์ใต้น้ำ
ช่างเป็นภูมิทัศน์อันน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก แถบนี้ของแอนตาร์กติกาตะวันออกมีแมวน้ำ เพนกวิน และนกอื่นๆ เพียงไม่กี่ชนิดอาศัยอยู่ และไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกอยู่เลยแม้แต่ชนิดเดียว คุณอาจคิดว่าก้นสมุทรคงมีสภาพเป็นทะเลทรายเช่นกัน แต่อันที่จริงกลับเป็นอุทยานงามสะพรั่งที่หยั่งรากอยู่ในห้วงลึกของกาลเวลา.
เรื่องและภาพถ่าย โลรอง บาเลสตา